ผู้เขียน หัวข้อ: ยาลดไขมันในเลือดมีประโยชน์ แต่โทษก็มีมหันต์  (อ่าน 1662 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


อันตรายของการเอารายงานในวารสารทางการแพทย์ที่แม้เป็นการศึกษาที่ดี รัดกุม (randomized, controlled trial) มาเป็นบรรทัดฐานในการใช้ในคนไข้ทุกคนน่าจะต้องเปลี่ยนความคิด คนไข้แต่ละคนมีร่างกาย มีการตอบสนอง และมีโรคประจำตัวต่างกัน

ที่เห็นชัดเจนเช่น ยาลดไขมันตัวเลว ที่ชื่อว่า LDL (low density lipoprotein) ที่ฝรั่งรายงานแล้วรายงานอีกว่าใช้ขนาดปริมาณสูงก็ไม่เกิดผลข้างเคียง โดยหวังผลทางป้องกันโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ในคนไทยใช้แล้วหลายๆราย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ตับอักเสบ แต่ก็ยังคะยั้นคะยอให้ทานต่อ คนไข้ก็กลัวไขมันสูง ยอมตายจากกินยา จนอาจได้ตายจริงๆ เพราะกล้ามเนื้ออักเสบตามด้วยไตวาย

ยากลุ่มนี้ชื่อ statin มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 คือ Simvastatin (Zocor ชื่อการค้า) จนมีลูกหลานตามมา อาทิ Atorvastatin (Lipitor), Rosuvastatin (Crestor) และอื่นๆอีกมากมาย



คุณมงคล (นามสมมติ) อายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว คือโรคอ้วนลงพุงและความดันเลือดสูง หลายปีก่อนเกิดอัมพฤกษ์ของก้านสมองทำให้มีเดินโซเซเห็นภาพซ้อน และกลืนสำลัก หลังรักษาอาการดีขึ้นรวมทั้งความดันโลหิต และแม้อาการกลืนสำลักยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้ง การบริโภคอาหารนานาชนิดได้

คุณมงคลมีอาการเหนื่อยมากและแน่นหน้าอก 2 เดือนที่แล้ว ได้รับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ หลังจากนั้นได้รับยา Simvastatin เพิ่มเป็น 40 มิลลิกรัมต่อวัน จากเดิมที่ใช้ขนาด 10 มิลลิกรัม คุณมงคลมีอาการดีขึ้นมาเรื่อยๆ ทำการเลี้ยงฉลองที่รอดชีวิตหลายครั้ง จน 6 อาทิตย์ถัดมาเกิดข้อหัวแม่เท้าอักเสบ ซึ่งเกิดจากโรคเกาต์ (Gout)

และได้รับยาแก้ปวดเกาต์ชื่อ Colchicine และได้กินอยู่ตลอดในขนาดวันละ 2 เม็ด เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

1 อาทิตย์ก่อนหน้าที่เข้าโรงพยาบาล (อีกครั้ง) คุณมงคลปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามต้นแขน บ่า ไหล่ ต้นขา น่อง อาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง ซึ่งลามมาที่แขนและเป็นมากจนขึ้นบันไดต้องใช้คนพยุง จนต้องเข้าโรงพยาบาล...

พบว่ามีการสลายของเซลล์กล้ามเนื้อ และมีผลทำให้ตกตะกอนในไต ทำให้ไตเริ่มทำงานบกพร่องไปจากเดิมซึ่งเป็นไม่มาก จากการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากยาลดไขมัน ทั้งๆที่คุณมงคลกินอยู่แล้วเป็นเวลาหลายปี แต่ในระยะหลังได้ปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม รวมทั้งยังได้ยาไขมันร่วมกับยาโรคเกาต์ Colchicine ซึ่งในบางรายทำให้เกิดโรคของกล้ามเนื้อและเส้น ประสาท (neuromyopathy) อยู่แล้ว ประกอบกับการทำงานของไตไม่ปกติ

เหล่านี้ทั้งหมดเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดปวดกล้ามเนื้อจนถึงแหลกสลาย (rhabdomyolysis) ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะไปตกตะกอนในไตและไตวายต่อไปได้ หลังจากคุณมงคลหยุดยา Simvastatin และ Colchicine อาการก็เริ่มทุเลา และเริ่มลุกขึ้นยืนเดินโดยช่วยพยุงภายใน 2 อาทิตย์ และกลับเป็นปกติใน 6 อาทิตย์



ภาวะส่งเสริมให้เกิดกล้ามเนื้อผิดปกติ ยังเกี่ยวกับอายุ คือ มากกว่า 65 ปี มีโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย การได้รับยาลดไขมัน triglyceride ร่วม เช่นยา Gemfibrozil (Lopid) และกลุ่ม Fibrate อื่นๆทั้งหมด

ในกรณีนี้ไม่ควรใช้ Simvastatin ในขนาดเกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน ยาอื่นๆที่ทำให้ระดับ Simvastatin สูงขึ้นมาก ไม่ควรใช้ร่วมกับ Simvastatin เลย เช่น ยาป้องกันการเต้นผิดปกติของหัวใจ Amiodarone (เช่น Cordarone) Verapamil (เช่น Isoptin) ยาฆ่าเชื้อรา Itraconazole Ketoconazole ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Erythromycin Clarithromycin (เช่น Klacid) และยาโรคเอดส์ HIV protease inhibitors และยาต้านซึมเศร้า Nefazodone และห้ามดื่มน้ำผลไม้ชื่อ Grapefruit เกินวันละ 1 ลิตร

นอกจากนั้น Simvastatin ยังมีปฏิกิริยาเสริมหรือต้านฤทธิ์กับยาอื่นๆอีกหลายชนิด อย่างนี้เรียกว่ายาตีกัน ห้ามให้เด็ดขาดในสตรีมีครรภ์และควรแน่ใจว่าไม่มีแผนที่จะมีบุตรในขณะที่ใช้ยา เนื่องจากเด็กอาจพิการและไม่ควรให้ในสตรีที่ให้นมลูก

“ดวง” หรือ ยีน (gene) ก็มีบทบาทในการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์โดยอยู่ในโครโมโซม 12 ในตำแหน่งของ SLCOIBI (คณะทำงาน SEARCH วารสารนิวอิงแลนด์ เดือนสิงหาคม 2008, วารสาร Clin Pharmacol Ther 2013) และยังอาจเป็นข้ออธิบายได้ว่าทำไมคนไทยมักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีหลายรายที่รุนแรงจนกล้ามเนื้อแหลกสลายมากกว่า แม้ว่าจะไม่มีตัวเสริม เช่นสภาพไตบกพร่อง และไม่มีการใช้ยาอื่นร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม การเกิดผลร้ายรุนแรงอาจเพราะเมื่อมีสัญญาณเตือนด้วยอาการเมื่อยกล้ามเนื้อ ตับอักเสบก็ยังคงใช้ยาต่อไปอีก ยาลดไขมันในเลือดอื่นๆนอกจากกลุ่ม Statin จะไม่เก่งเท่า และผลข้างเคียงมากกว่า ได้แก่ Nicotinic acid ยากลุ่ม Fibrates ยาจับน้ำดี bile acid sequestrant เช่น Cholestyramine และ ยา Ezetimibe

ในประเทศเราหาซื้อยาเองได้แทบทุกชนิด ซื้อยาอื่นๆที่ไม่ควรใช้ร่วมกันมากินเอง กินจากคำบอกเล่าของเพื่อน หรือจากโฆษณาว่าดีอย่างเดียว โดยไม่ได้ระมัดระวังในข้อควรระวังอื่นๆอีก ต้องไม่ลืมว่าการควบคุมไขมันในเลือดไม่ได้เริ่มจากยา การรักษาสุขภาพต้องมาก่อน ได้แก่ การออกกำลังกายเพิ่มขึ้น การเลือกกินอาหารที่เหมาะสม การดื่มพอดีๆ พอเหมาะรักษาเส้นเลือด

บังเอิญที่ว่าพูดง่ายทำยาก คนเลยเลือกกินยา และเป็นที่มาของผลร้ายที่ยอมรับไม่ได้.




ที่มา http://www.thairath.co.th/