ผู้เขียน หัวข้อ: สุรา...มาเป็น...ระยะ ก็ได้นะ?  (อ่าน 1440 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
สุรา...มาเป็น...ระยะ ก็ได้นะ?
« เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2015, 12:57:26 pm »


ความที่สุราเป็นเรื่องต้องห้าม ต้องเรียนว่า “หมอดื้อ” ไม่ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ของบริษัทเบียร์ เหล้า หรือรับเงินใต้โต๊ะมา ไม่ได้มีเอี่ยวใดๆทั้งสิ้น

สุราเปรียบเสมือนดาบ 2 คม ด้านเลวร้าย ก่อให้เกิดโรคทางสมองและระบบอื่นๆมากมาย ขาดสุราแล้วชัก ขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำร้ายคนในครอบครัว ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนเป็นที่มาของคำขวัญที่ว่า “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง”

แต่ด้านดีก็มี ถ้าดื่มอย่างพอเหมาะพอสม เดินสายกลาง ขาดก็ไม่ดี เกินไปก็พินาศ

บทความสุราเริ่มตั้งแต่ใน Scientific American (2003) เกี่ยวกับ พีระมิดทางอาหาร (Food pyramid) โดยที่ฐานของพีระมิด คือ อาหารที่ต้องยึดเป็นพื้น ต้องประกอบด้วยผัก ผลไม้ ธัญพืช มหาศาล โดยร่วมกับแป้ง คาร์โบไฮเดรต ซึ่งต้องเป็นข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ไม่ใช่ข้าวขาว ขนมปังขาว และใช้น้ำมันพืชทั้งสิ้น เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด ดอกทานตะวัน canola soy เป็นต้น
โดยทานร่วมกับถั่วชนิดต่างๆ (รวมทั้งลูกนัท และถั่วที่เป็นฝัก) จากนั้นค่อยเป็นปลา ไก่ ไข่แดงไม่มากในผู้ใหญ่ ที่ควรหลีกเลี่ยง คือ เนื้อสัตว์ เนื้อแดง เนย ข้าวขนมปังขาว รวมทั้งมันต่างๆ (มันเทศ มันสำปะหลัง มันฝรั่ง) แป้งพาสต้า ขนมหวานและอาหารไขมันสูงต่างๆ ร่วมกับปลา



อย่างไรก็ตาม ที่หมอสนใจ คือ การส่งเสริมให้ดื่มขนาดพอสมควรทุกวันถ้าไม่มีข้อห้าม

การศึกษาในวารสารนิวอิงแลนด์ (2003) ในผู้ชาย 38,077 ราย ติดตามอยู่ 12 ปี พบว่า การดื่มอย่างน้อย 3-4 วันต่ออาทิตย์ โดยที่แต่ละวันดื่ม 50 กรัมของแอลกอฮอล์ (ต้องคำนวณเอาเองนะครับ เช่น เบียร์มีแอลกอฮอล์ 5% ไวน์ 12% วิสกี้ 40%) นั่นคือ เบียร์ได้ 1 ขวดใหญ่ พบว่ามีอัตราของการเกิดโรคหัวใจลดลงอย่างน่าดีใจหาย เมื่อเทียบกับผู้ไม่ดื่มเลยหรือดื่มเบียร์เพียงแค่อาทิตย์ละวัน โดยไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน สำหรับผู้หญิงก็ไม่น้อยหน้า โดย Reitenberg และคณะรายงานจาก Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในวารสาร Lancet (2002) ว่าผู้หญิงอายุ 55 ปี หรือมากกว่า ถ้าดื่มขนาดน้อยถึงปานกลาง (วันละ 1-2 แก้ว) มีโอกาสสมองเสื่อมน้อยลง

ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไวน์แดงอย่างเดียว แอลกอฮอล์ที่ช่วยไม่ให้เกิดสมองเสื่อมเร็วในผู้หญิง หรือเมื่อเสื่อมแล้วก็ชะลอให้ช้าลงยังมีผลยืนยันในวารสาร J Am Geriatr Soc (2008) โดยที่ผู้หญิงอายุระหว่าง 70-82 ปี จะได้รับอานิสงส์นี้ สำหรับความหวาดกลัวที่เมื่อดื่มเหล้าแล้วจะเกิดหัวใจวาย หรือถ้ามีความดันสูงอยู่แล้วน่าจะมีอันตรายสูงขึ้น มีรายงานจากการศึกษา Framingham Heart Study ในวารสาร Ann Intern med (2002) พบว่าการดื่มขั้นมากมายถึง 13 ครั้งหรือมากกว่าต่ออาทิตย์ในผู้ชาย และ 8 ครั้ง

หรือมากกว่าในผู้หญิง ไม่ได้ทำให้หัวใจวายมากขึ้น แต่กลับป้องกันเสียด้วยซ้ำ วารสาร Ann Intern Med (2007) พบว่า ผู้ชายที่มีความดันโลหิตสูง (โดยได้รับการรักษาอยู่แล้ว) และดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้ความดันรักษายากขึ้น และการดื่มสุราอยู่แล้วกลับพบว่า มีโรคหัวใจขาดเลือดลดลง เมื่อดื่มปริมาณตั้งแต่ 5-50 กรัมของแอลกอฮอล์ต่อวัน ดังนั้นผู้ที่ดื่มอยู่แล้วและมีความดันก็อาจไม่จำเป็นต้องเลิกดื่ม แต่ความดันโลหิตต้องควบคุม



ในส่วนที่เกี่ยวกับเบาหวาน Howard และคณะรายงานในวารสาร Ann Intern Med (2004) พบว่า การดื่มอย่างพอประมาณ วันละ 1-3 แก้ว (มาตรฐาน) จะทำให้เป็นเบาหวานช้าลง และผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว การดื่มปริมาณที่ว่าจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ นอกจากนั้น ผู้ที่เป็นเบาหวานการดื่มปริมาณดังกล่าวยังทำให้คุมเบาหวานได้ง่ายขึ้น (โดยดูจากค่าน้ำตาลสะสม HbA1c) วารสาร J Gen Intern Med (2008) และรายงานในวารสารสมาคมเบาหวานสหรัฐฯ (2015)

รายงานจากฝรั่งเศส ซึ่งดื่มไวน์เป็นหลักก็พบประโยชน์ของแอลกอฮอล์คล้ายกันคือ การดื่ม 1-3 แก้วต่อวันจะลดความเสี่ยงของการเกิดสมองเสื่อม และโรคหลอดเลือดสมอง (วารสาร Biol Res 2004)

การศึกษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจใน 52 ประเทศ (Interheart study) ก็พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์สม่ำเสมอมีส่วนช่วยลดการเกิดโรค (วารสาร Lancet 2004) โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ

ถึงแม้ว่าแอลกอฮอล์จะได้ผลคล้ายคลึงกันหมดโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ แต่ผู้ที่มียีนควบคุม alcohol dehydrogenase 3 (ADH3) แบบ γ2 γ2 จะได้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อเทียบกับ γ1 γ1 ทั้งนี้ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เพียงตั้งแต่ 1 แก้วต่อวันขึ้นไป ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว และพบว่ามีระดับไขมันดี (HDL) สูงขึ้นด้วย (วารสาร N Engl J Med 2001) แต่การที่มีไขมันดีสูงขึ้นอาจไม่เป็นกลไกเดียวที่อธิบายการที่มีโรคหัวใจลดลงในกลุ่มที่ดื่มสุรา (วารสาร Atherosclerosis 2005)

สรุปรายงานของสุรากับสุขภาพ Medscape Medical News (2014) รวบรวมหลักฐาน ในวารสาร Age Ageing (2008, 2011), Arq Bras Cardiol (2012), J Cardiovasc Pharmacol (2009), Neurology (2014) สุราช่วยปรับระดับไขมัน ปรับร่างกายให้ตอบสนองกับอินซูลินได้ไวขึ้น ช่วยเส้นเลือด ดังนั้นอธิบายการช่วยสมองเสื่อม โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ แต่ทั้งนี้ ชาย 2–3 หญิง 1–2 ดื่ม ต่อวัน



ถึงบรรทัดนี้ อย่าเพิ่งโวยวายว่าหมอเป็นผู้ส่งเสริมให้ผิดศีลธรรม จริยธรรมที่ดี เรากำลังพูดถึงหลักฐานข้อมูลทางการแพทย์ โดยที่ต้องเข้าใจว่าแอลกอฮอล์ไม่ว่าอยู่ในรูปใดก็ตาม เป็นสิ่งยั่วยวนให้ดื่ม ให้เสพ และมีโอกาสทำให้ดื่มมากขึ้นไปเรื่อยๆจนเสียหาย เสียสุขภาพ เสียใจ ผู้ที่ไม่เคยดื่มก็ไม่ต้องเริ่มหัดครับ

สำหรับผู้ดื่มอยู่แล้วกรุณาปรับให้อยู่ในทางสายกลาง (เอียงซ้ายได้เล็กน้อยเวลามีเทศกาล) แบบที่หมอได้ยินไปเองเวลาพระท่านเทศน์อยู่เสมอว่า.....สุรา....มาเป็นระยะๆ....ก็ได้นะโยม.





ที่มา http://www.thairath.co.th/