ผู้เขียน หัวข้อ: มูลนิธิขาเทียมฯ ปั้น “คนพิการขาด เป็น ช่างทำขาเทียม” ที่โรงพยาบาลชุมชน  (อ่าน 421 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
มูลนิธิขาเทียมฯ ปั้น “คนพิการขาด เป็น ช่างทำขาเทียม” ที่โรงพยาบาลชุมชน ผู้พิการเข้าถึงบริการง่าย



              มูลนิธิขาเทียมฯ ตั้งโรงงานทำขาเทียมร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน และคัดเลือกคนพิการขาขาดจากชุมชนเข้าอบรมเป็นช่างทำขาเทียม ส่งไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนปัจจุบันมี 37 แห่ง ตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุม จังหวัดละ 1 แห่ง รองรับคนพิการขาดที่พบมากกว่า 3,500 ขาต่อปี เพื่อให้คนพิการที่อยู่ตามชนบทได้รับขาเทียมอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทดแทนขาเทียมที่ชำรุด สามารถช่วยเหลือตนเองและประกอบอาชีพได้
 
              วันนี้(20 กรกฎาคม 2558) ที่ สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี ฯพณฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พล.ท.นพ.ธำรงรัตน์   แก้วกาญจน์ รองประธานกรรมการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ กรรมการและเลขาธิการ นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รักษาราชการปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจงนโยบายและการดำเนินงานของมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำปี 2558 แก่ผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายจำนวน 130 คน เพื่อพัฒนาระบบบริการการจัดทำขาเทียมแก่คนพิการขาขาด ได้ทั่วถึง รวดเร็ว   
 
             ข้อมูลจากสํานักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขแต่ละปีมีผู้ป่วยถูกตัดขาตั้งแต่ ระดับนิ้วเท้าจนถึงสะโพกรายใหม่มากกว่า 12,000 ราย ในจํานวนนี้ต้องใส่ขาเทียม 3,500 ราย มากสุดคือผู้ป่วยเบาหวาน ที่ตัดขา ขาขาดจากอุบัติเหตุ โรคเส้นเลือดตีบ รวมทั้งขาเทียมที่ชำรุด ต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 2 ปี คนพิการขาขาดส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในชนบท ห่างไกลในขณะที่โรงงานทำขาเทียมส่วนใหญ่อยู่ในตัวจังหวัด ในปี 2551 มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ตั้งโรงงานทำขาเทียมในโรงพยาบาลชุมชน โดยคัดเลือกคนพิการขาขาดที่ร่างกายแข็งแรงจากชุมชน แห่งละ 2-3 คน เข้าฝึกอบรมที่มูลนิธิฯ เพื่อให้เป็นช่างทำขาเทียม และกลับไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ปัจจุบันมี 37 แห่ง โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนเครื่องมือ และอุปกรณ์ให้โดยไม่คิดมูลค่าผลดำเนินการที่ผ่านมาได้ผลดี ในปีนี้จึงตั้งเป้าขยายดำเนินการในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้นครอบคลุมจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้คนพิการที่อยู่ตามชนบท ได้รับขาเทียมอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงช่วยเหลือตนเองและประกอบอาชีพได้   
 
             มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดตั้งขึ้นเพื่อทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดยากจน  ทุกเชื้อชาติศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า ผลิตชิ้นส่วนขาเทียม จัดทำอุปกรณ์เพิ่มเพื่อให้ผู้ใส่ขาเทียมแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถประกอบอาชีพได้ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2535 โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นประธาน ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์นายกกิตติมศักดิ์ 
 
             ผลการดำเนินงานรอบ 22 ปี ให้บริการร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครอง  ส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทำขาเทียมให้คนพิการชาวไทยและต่างชาติที่ยากจนมากกว่า 27,000 คน รวม 36,000 ขา ศึกษาวิจัยและพัฒนาคุณภาพของขาเทียมอย่างต่อเนื่อง ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ช่างทำขาเทียม นักกายภาพบำบัด เพื่อไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่นๆ กว่า 53 แห่งทั่วประเทศ อบรมแพทย์และช่างทำ ขาเทียมชาวต่างประเทศ ที่มูลนิธิฯไปตั้งโรงงานอยู่ เช่น เมียนมาร์ มาเลเชีย และบังคลาเทศ ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพัฒนาหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ  และร่วมผลิตช่างเทคนิคกายอุปกรณ์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่













***************************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/index.php