ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์แนะก้าวอย่างมั่นใจ สู้ภัยโรคกระดูกพรุน  (อ่าน 1420 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
แพทย์แนะก้าวอย่างมั่นใจ สู้ภัยโรคกระดูกพรุน





อธิบดีกรมการแพทย์ เผย ภัยเงียบโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุทั้งชายหญิง ผู้หญิงที่ผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง และผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค แนะรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงและ ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะสามารถป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวได้

            นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระดูกเป็นเนื้อเยื่อพิเศษ มีหน้าที่เป็นโครงสร้างสำหรับเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อและเอ็นยึดต่างๆ เป็นเกราะป้องกันการกระทบกระแทก เป็นแกนสำหรับการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการดึงหรือหดตัวของกล้ามเนื้อ เป็นแหล่งสังเคราะห์เซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ รวมทั้งเป็นคลังของเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกายคือแคลเซียม โรคกระดูกพรุน คือภาวะที่เนื้อเยื่อกระดูกผุกร่อนไปจากปกติโครงกระดูกซึ่งเคยแข็งแกร่งจะเปลี่ยนเป็นโครงที่ผุกร่อนพร้อมจะแตกหักได้ทุกเมื่อ โดยมีสาเหตุมาจากกระบวนการเสริมสร้างกระดูกลดลงและเนื้อเยื่อเสื่อมสลายในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป ตามปกติเพศหญิง จะมีมวลกระดูกน้อยกว่าเพศชาย เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงจึงมีอัตราการสูญเสียมากกว่าการสร้างกระดูก จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน สำหรับอาการของโรคกระดูกพรุนมักจะไม่แสดงอาการเตือนภัยใดๆ อาจมีแค่ปวดเมื่อย คนทั่วไปมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนกว่าเข้าจะรับการรักษากระดูกจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยหรือมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อมหรือโค้งงอ ตัวเตี้ยจากการยุบตัวลงของกระดูกสันหลัง

        อธิบดีกรมการแพทย์ แนะว่า แนวทางการป้องกันโรคกระดูกพรุน คือ การสะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุดในช่วงวัยรุ่น พยายามรักษาปริมาณเนื้อกระดูกให้คงเดิมมากที่สุดในวัยก่อนหมดประจำเดือน และชะลอการถดถอยของเนื้อกระดูกเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักในวัยหลังหมดประจำเดือน โดยเฉพาะตำแหน่งที่อาจเกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ กระดูกข้อตะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ นอกจากนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ คือ 800 - 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และควรกินแคลเซียมหลังอาหารเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน เช่น นม เนยแข็ง ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อยพร้อมกระดูก กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ถั่วแดง งาดำ อาหารทะเล ผักใบเขียวทุกชนิด ดื่มน้ำที่มีสารฟลูออไรด์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรเพิ่มการดูดซึมสารแคลเซียมโดยการเพิ่มวิตามินดีในรูปของอาหารหรือยา อาหารวิตามินดีสูง ได้แก่ นม น้ำมันตับปลา เนยแข็ง เนย ไข่ และตับ เป็นต้น นอกจากนี้การได้รับแสงแดดจะสามารถช่วยเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดีทางผิวหนังได้อีกด้วย





******************************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/