ผู้เขียน หัวข้อ: ปักป้ายเตือน ทัวริสต์ เล่นนํ้าให้ระวัง  (อ่าน 225 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


แมงกะพรุน แฉปมระบาด เพราะนํ้าเสีย

เผยแมงกะพรุนกล่องมหาภัยใต้ทะเลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนตกเป็นเหยื่อมากขึ้นตามลำดับ สาเหตุน้ำเสียทำให้เกิดธาตุอาหารของแมงกะพรุนมากขึ้นกับเต่าทะเลที่เป็นตัวล่าแมงกะพรุนได้ล้มหายตายจากมากขึ้น ส่วนศพสาวเมืองเบียร์ เหยื่อแมงกะพรุนมรณะ ทางสถานทูตเตรียมส่งกลับประเทศตามความประสงค์ของญาติ

จากเหตุแมงกะพรุนกล่องมรณะคร่าชีวิต น.ส.เธียร์ส ซาสเกีย อายุ 20 ปี นักท่องเที่ยวสาวชาวเยอรมัน ขณะลงเล่นน้ำทะเลบริเวณชายหาดละไม หมู่ 3 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ น.ส.จิโอวาน์น่า ราสซี่ อายุ 20 เพื่อนสาวที่ลงไปช่วยได้รับบาดเจ็บ จากการตรวจสอบพบถูกพิษของแมงกะพรุนกล่องตามแขนขานั้น

ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 ต.ค. หลังเกิดเหตุแมงกะพรุนคร่าชีวิตนักท่องเที่ยว ทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมบริเวณชายหาดละไม ได้นำสติกเกอร์ที่มีรูปภาพของแมงกะพรุนกล่องและคำเตือนที่เขียนเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษติดไว้ตามบริเวณชายหาดละไมเพื่อเตือนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะลงเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้ให้ระมัดระวัง ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศยังคงลงเล่นน้ำทะเลตามชายหาดละไมกันตามปกติ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเรือเจ็ตสกีที่ให้บริการกับนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดละไมได้นำเรือเจ็ตสกีแล่นตระเวนดูในทะเลบริเวณชายหาดละไม ตรวจหาแมงกะพรุนกล่อง โดยผู้ประกอบการเรือเจ็ตสกีรายหนึ่งเปิดเผยว่า จากการออกตรวจหาแมงกะพรุนกล่องเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดทั้งวันตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.จนถึงขณะนี้ยังไม่พบแมงกะพรุนแม้แต่ตัวเดียว ต่างกับเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันเกิดเหตุกับนักท่องเที่ยวสาวชาวเยอรมันมีแมงกะพรุนชนิดต่างๆ ลอยในทะเลกว่า 20 ตัวจึงตักขึ้นมาจากทะเลเพราะเกรงนักท่องเที่ยวจะได้รับอันตรายและได้มีการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังแต่ยังเกิดเหตุร้ายกับนักท่องเที่ยวขึ้นจนได้

ส่วน พ.ต.อ.เทเวศน์ ปลิ้มสุทธิ์ ผกก.สภ.บ่อผุด เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้ประสานไปยังสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยเพื่อให้ติดต่อญาติผู้เสียชีวิตทราบ ล่าสุดทางสถานทูตเยอรมนี ได้แจ้งกลับมาว่าญาติของผู้เสียชีวิต ไม่ติดใจถึงสาเหตุการเสียชีวิต และมอบหมายให้สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยให้มารับศพผู้เสียชีวิตส่งกลับประเทศเยอรมนีเพื่อนำศพไปทำพิธีทางศาสนาต่อไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุม โรค กล่าวว่าถึงกรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวเยอรมันถูกพิษแมงกะพรุนตายว่า ผู้ตายลงเล่นน้ำในช่วงกลางคืนเหมือนกับนักท่องเที่ยวสาวชาวไทยที่เพิ่งเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องที่เกาะพะงันเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และจากข้อมูล 16 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2542-2558 พบมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษกว่า 900 คน ซึ่งมีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่วนที่มีอาการหนักจนถึงหมดสติมี 17 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 7 ราย

สำหรับการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องคือ 1.การสวมเสื้อผ้ามิดชิด เช่น แขนยาว ขายาวแนบตัวขณะลงทะเลในพื้นที่และฤดูกาลที่พบแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งวิธีการนี้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยให้ความนิยม 2.การติดตั้งตาข่ายในทะเลเพื่อกันแมงกะพรุนจะทำบริเวณน้ำตื้นริมหาดและให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำในบริเวณที่กั้นตาข่ายนั้น และ 3.การให้มีจุดวางน้ำส้มสายชูและติดป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยเฉพาะชายหาดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

ขณะที่นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัเกษตรศาสตร์กล่าวถึงสถานการณ์แมงกะพรุนกล่องในทะเลไทยว่าแมงกะพรุนชนิดนี้พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เดิมมีไม่มาก จากสถิติมีผู้ประสบเหตุถึงเสียชีวิต 2-3 ปี ต่อ 1 ราย แต่มาในระยะ 2 ปีหลังจำนวนเหยื่อมีเพิ่มขึ้นสาเหตุเพราะแมงกะพรุนมีมากขึ้น เนื่องจากน้ำเสียทำให้ในน้ำมีธาตุอาหารสูงทำให้แพลงก์ตอนในทะเลมีมาก ลูกแมงกะพรุนรอดชีวิตมากขึ้นกับขยะทะเลโดยเฉพาะพลาสติกทำให้เต่าทะเลบาดเจ็บและตายมากถึงปีละประมาณ 100 ตัวโดยเต่าทะเลเป็นผู้ล่าแมงกะพรุนโดยตรง เมื่อเต่าเหลือน้อย แมงกะพรุนย่อมมีมากขึ้น

“ในเวลานี้เกือบทุกหาดในประเทศไทยมีแมงกะพรุนกล่องโดยเฉพาะเกาะสมุยกับเกาะพะงันค่อนข้างเยอะแม้กระทั่งเกาะโลซิน จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างไกลมากและเป็นเกาะที่เล็กที่สุดในประเทศไทยยังเจอเลย แต่พื้นที่เสี่ยงสำคัญคือ เกาะสมุยกับเกาะพะงัน ถ้าถามว่านำตาข่ายไปช้อนแมงกะพรุนกล่องขึ้นมาทำลายทิ้งได้ไหม ตอบเลยว่ายาก เพราะแมงกะพรุนกล่องไม่ค่อยลอยผิวน้ำแต่จะจมอยู่ใต้น้ำมากกว่า การเอาตาข่ายไปช้อนจะติดแมงกะพรุนธรรมดาไม่ใช่กะพรุนกล่อง” นายธรณ์กล่าว

ขณะที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า หลังทราบข่าวแมงกะพรุนคร่าชีวิตนักท่องเที่ยว ไม่ได้นิ่งนอนใจพร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการทั้งการป้องกันและการช่วยเหลือกรณีมีผู้ประสบเหตุจากแมงกะพรุนในลักษณะเช่นนี้อีก และทางสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด (สทกจ.) สุราษฎร์ธานี ได้หารือกับ นอภ.เกาะสมุยเพื่อวางแผนจัดการสัมมนาให้ความรู้เรื่องแมงกะพรุนแก่บุคคลในพื้นที่และผู้สนใจพร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรมต่างๆ ในการติดป้ายแจ้งเตือนเกี่ยวกับแมงกะพรุนให้นักท่องเที่ยวได้ทราบเพื่อให้เพิ่มความระมัดระวัง

นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้หน่วยงานในพื้นที่มีการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Life Guard) เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยจัดอบรมไปแล้วจำนวน 1 รุ่น ณ บริเวณชายหาดขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยจะมีโครงการอบรมอาสาสมัครฯ รุ่นที่ 2 ในวันที่ 5-9 ต.ค.58 (กลุ่มเป้าหมายพื้นที่เขื่อนรัชประภา และใกล้เคียง) และรุ่นที่ 3 ในวันที่ 12-16 ต.ค.58 (กลุ่มเป้าหมายพื้นที่ อ.เกาะสมุย และใกล้เคียง) ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้เมื่อผ่านการฝึกอบรมจะมีความรู้เกี่ยวกับการกู้ชีพอย่างถูกต้อง รู้จักสัญลักษณ์ของธงสีและสัญญาณธงต่างๆ สามารถจดบันทึกข้อมูลผู้ประสบภัยทางน้ำเพื่อนำส่งต่อทางการแพทย์อย่างมีระบบและถูกต้อง





ที่มา http://www.thairath.co.th/