ผู้เขียน หัวข้อ: ศิริราชก้าวไกล เวชศาสตร์นิวเคลียร์  (อ่าน 1764 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
ศิริราชก้าวไกล เวชศาสตร์นิวเคลียร์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2015, 08:29:18 am »


“เวชศาสตร์นิวเคลียร์ทางการแพทย์” คือการใช้สารเภสัชรังสีเพื่อประโยชน์ในการตรวจและรักษาผู้ป่วย การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เป็นประโยชน์ เช่น การตรวจการกระจายของมะเร็งมาที่กระดูก การตรวจการทำงานของไต การตรวจหาจุดอุดตันของทางเดินน้ำเหลือง การตรวจวัดมวลกระดูกและการรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้แก่ การรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษหรือผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ด้วยไอโอดีนรังสี 131 และ การรักษาการกระจายตัวของมะเร็งด้วยสารเภสัชรังสี

ปัจจุบันในประเทศไทยมีนวัตกรรมการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เป็นประโยชน์ในผู้ป่วยมะเร็ง เรียกว่า PET/CT (Positron emission tomography/computed tomography)

น่าสนใจว่าการตรวจนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก สำหรับการตรวจ รักษาโรคมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งบริเวณศีรษะและคอ มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากมีความแม่นยำสูงในการประเมินระยะโรคของมะเร็ง ประเมินผลการรักษาตรวจหาโรคมะเร็งที่กลับเป็นซ้ำ รวมทั้งสามารถพยากรณ์โรคได้ การตรวจ PET/CT จึงช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง สุนันทา เชี่ยววิทย์ หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ศิริราช และ อาจารย์แพทย์หญิงเบญจาภา เขียวหวาน ให้ข้อมูลว่า ศิริราชเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยท่าน ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ร่มไทร สุวรรณิก ถือเป็น “บิดาแห่งเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งประเทศไทย” ก่อตั้งและทำให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์ในศาสตร์นี้

ผ่านมาถึงวันนี้ “เวชศาสตร์นิวเคลียร์” เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ป่วยมะเร็ง โดยใช้สารที่ให้รังสีโพสิตรอน ซึ่งสารพวกนี้มีในธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น คาร์บอน ไนโตรเจน ฟลูออรีน แล้วเราก็ไปจับติดฉลากให้ได้สารเภสัชรังสีที่ต้องการ

ยกตัวอย่างเราอยากจะดูน้ำตาล เมตาบอลิสม์ของน้ำตาลก็ไปติดฉลากจนได้น้ำตาลรังสี พูดให้เข้าใจง่ายๆมากขึ้น...เวลาเอามาตรวจน้ำตาลรังสีจะวิ่งเข้าไปที่เซลล์มะเร็งสูงกว่าเซลล์ปกติ เพราะเซลล์มะเร็งใช้น้ำตาลเยอะ เมื่อเราถ่ายภาพก็จะรู้เลยว่าตรงไหนเป็นตำแหน่งมะเร็ง เพราะจะมีตำแหน่งของน้ำตาลเยอะกว่าปกติ

นี่คือวิธีการ มีความแม่นยำสูง เป็นการศึกษาในระดับเมตาบอลิสม์ของเซลล์

คำถามต่อมา เมื่อพูดถึงรังสี น่ากลัวหรือเปล่า? อาจารย์แพทย์หญิงเบญจาภา เสริมว่า รังสีมีปริมาณไม่มาก แล้วจะลดระดับลงไปเรื่อยๆ ปลอดภัย คนไข้ตรวจเสร็จไม่ต้องนอนโรงพยาบาลก็สามารถกลับบ้านได้ ตัวคนไข้ไม่แพ้ โมเลกุลก็เหมือนน้ำตาลไม่มีรายงานเลยว่าแพ้

เรามี “เครื่องไซโคลตรอน”...ผลิตสารรังสีได้เอง ครบวงจรสืบเนื่องจากสารพวกนี้มีคลื่นชีวิตสั้นสองชั่วโมงก็ลดระดับลงไปครึ่งหนึ่ง...ตัวที่ยาวที่สุด ถ้าไม่มีเครื่องไซโคลตรอนก็ต้องสั่งสารรังสีจากที่อื่น ก็จะเกิดปัญหาในเรื่องของการขนส่งที่ต้องใช้เวลา ปัจจุบันจึงมีความพยายามทำให้ครบวงจร

นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะผลิต เพื่อที่จะดูเมตาบอลิสม์อื่นๆได้ด้วย เช่น อยากจะดูเมตาบอลิสม์ของโปรตีนในมะเร็งก็มีตัวนึง ...อยากดูเรื่องของไขมันก็ดูอีกตัวนึง ซึ่งตัวอื่นเช่นคาร์บอนจะมีคลื่นชีวิตน้อย...หรือแม้แต่ในสมองก็ดูได้ แต่จะยิ่งมีคลื่นชีวิตสั้นมากกว่า

“เครื่องไซโคลตรอนทำให้เราสามารถผลิตยามาฉีดคนไข้ แล้วก็ตรวจในที่เดียว ถัดมาก็คือสามารถผลิตสารได้หลากหลาย ดูเมตาบอลิสม์ต่างๆของเซลล์มะเร็งได้มากมาย ทำให้เป็นประโยชน์ในเรื่องของงานวิจัย เป็นความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต”

หากจะถามว่าในอนาคตจะพัฒนาก้าวหน้าไปในรูปแบบไหน นอกจากงานวิจัยก็จะเปิดให้บริการคนไข้แล้ว เราสามารถตรวจมะเร็งได้หลากหลาย เช่น มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่ไม่ดูดน้ำตาล เราไม่สามารถที่จะดูเรื่องน้ำตาลเมตาบอลิสม์ได้ เราก็ต้องไปหาสารที่ดูด เช่นโคลีน เพื่อที่จะตรวจได้อย่างครอบคลุม กว้างขึ้น

“ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง แล้วเราก็ต้องเลือกสารให้ตรงกับมะเร็งที่เราจะตรวจ ฉะนั้นความก้าวหน้าก็คือเราสามารถที่จะวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ครอบคลุมมากขึ้น ถูกต้องมากขึ้น...

ประโยชน์เมื่อเราบอกได้ถูกต้อง ระยะได้ถูกต้อง ก็มีผลต่อเนื่องไปถึงการรักษา ก็ต้องถูกต้องกับระยะของโรค และไม่รักษาเกินเลยไปหรือน้อยกว่าโรคที่เราเป็นอยู่”

สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ได้ให้บริการตรวจ PET/CT มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม และผู้ป่วยโรคลมชัก

ต่อมา...คณะแพทยศาสตร์มีนโยบายมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางด้านบริการและการวิจัยได้สนับสนุนให้มีการติดตั้งเครื่องผลิตสารเภสัชภัณฑ์รังสีแบบ Cyclotron พ.ศ. 2557 เพื่อให้เกิดการบริการแบบครบวงจรและสามารถตรวจ PET/CT ด้วยสารเภสัชรังสีชนิดอื่น เช่น 18F-Choline, 18F-FLT, 11C-Acetate และ 11C-Methionine ซึ่งมีบทบาทในมะเร็งชนิดต่างๆเช่นกัน

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง สุนันทา ฝากประชาสัมพันธ์ว่า ระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน นี้จะมีงาน “60 ปี เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ศิริราช” ที่ชั้น 1 อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์

ไฮไลต์ภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้ งานนิทรรศการสำหรับประชาชน ใครจะมาร่วมงานจะได้ความรู้มากมาย อาทิ เวชศาสตร์นิวเคลียร์กับชุมชน, การวินิจฉัยและรักษามะเร็งตับ, ประสบการณ์ชีวิตของผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งไทรอยด์ที่จะมาเปิดประสบการณ์...ถึงจะเป็นก็ยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างคนปกติ นับรวมไปถึงการวินิจฉัย...รักษา และมะเร็งไทรอยด์ในเด็ก

ในวันที่ 10 มีหลายหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ หากยังจำกันได้ ประเด็นที่เป็นข่าวฮือฮา “การฝังแร่ไอโอดีน–125 กับการรักษาโรคมะเร็ง” บรรยายโดยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวลักษณ์ ชาญศิลป์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุมพฎ คัคนาพร, รองศาสตราจารย์มลุลี ตัณฑวิรุฬห์ เวลา 13.30-15.00 น.

“ร่วมมาฟังกันได้เพื่อเป็นความรู้...ใครมีญาติ มีคนใกล้ตัวทำก็จะได้รู้ว่าเราควรจะดูแลเขายังไง ปฏิบัติตัวยังไง ก่อนหน้านี้ที่เป็นข่าวอาจจะไม่แน่ใจว่าวิธีการรักษาแบบนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องทางการแพทย์หรือไม่ หรืออาจจะช่วย...หรือไม่ช่วยอย่างไร? ก็จะได้รู้กัน

ผลของการฝังแร่จะทำให้คนที่ฝังนำรังสีไปให้กับคนอื่น เป็นอันตรายมากน้อยอย่างไร...โดยที่เราไม่อาจรู้เลยว่าเดินอยู่ใกล้กันตามถนนหนทาง...ขึ้นรถเมล์ใกล้กัน ถ้าเราไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเรารู้เราก็ควรรู้ต่อไปอีกว่า...เราควรจะปฏิบัติอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งตัวเขาและตัวเรา...เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ”

นอกจากนี้แล้วก็มีนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ กรณีมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูก การตรวจกระดูกทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์และการแพร่กระจายของมะเร็ง ด้วยวิธีการที่เราให้สารเภสัชรังสีเข้าไปสะสมอยู่ในตัวกระดูก ไปทำลายเซลล์มะเร็งที่กระดูก ทำให้ยุบลง คนไข้ก็หายปวด ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

“60 ปีเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ศิริราช” พัฒนาฝ่าฟันอุปสรรคมามากมายกว่าจะเป็นการบริการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ครบวงจรในวันนี้...นับเป็นหนึ่งในศักยภาพวงการแพทย์ประเทศไทยที่สำคัญ ทั้งด้านบริการ การเรียนการสอน และการวิจัยในอนาคต.





ที่มา http://www.thairath.co.th/