ผู้เขียน หัวข้อ: ศาล ปค.อุดรฯ นัดฟังคำพิพากษา คดี ทนพ.ฟ้องสภาฯ ปม “ต่ออายุใบอนุญาต” ๑๗ ก.พ.นี้  (อ่าน 4581 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
ศาล ปค.อุดรฯ นัดฟังคำพิพากษา คดี ทนพ.ฟ้องสภาฯ ปม “ต่ออายุใบอนุญาต” ๑๗ ก.พ.นี้



               ศาลปกครองอุดรธานี นั่งพิจารณาคดี ทนพ.ขอให้สภาเทคนิคการแพทย์แก้ไขข้อบังคับว่าด้วยอายุใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพฯ ครั้งแรก ๒๖ ม.ค.นี้ และอ่านคำพิพากษา ๑๗ ก.พ.
               จากกรณีที่สภาเทคนิคการแพทย์ได้ออกข้อบังคับสภาเทคนิคการแพทย์ว่าด้วยอายุใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๖ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลให้ใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์มีอายุ ๕ ปี นับแต่วันที่ข้อบังคับมีผลบังคับใช้ ซึ่งต่อมานักเทคนิคการแพทย์ ๒ ราย ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองอุบลราชธานี และศาลปกครองอุดรธานี เมื่อต้นปี ๒๕๕๗ ให้เพิกถอน และ/หรือแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว ตามข่าวที่ “เมดเทคทูเดย์” เสนอไปก่อนหน้านั้น
               เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ศาลปกครองอุดรธานีได้ส่งหมายแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกและนัดฟังคำพิพากษา ให้ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทราบ โดยศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. และกำหนดวันอ่านผลแห่งคำพิพากษาในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ศาลปกครองอุดรธานี ทั้งนี้ศาลได้ส่งสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวนมาให้ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทราบแล้ว
               คดีนี้ ผู้ฟ้องเห็นว่าการออกใบอนุญาตฯ เป็นคำสั่งทางปกครองตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งไม่ปรากฏมีบทบัญญัติมาตราใดที่บัญญัติไว้ใน พรบ.วิชาชีพฯ ให้สภาเทคนิคการแพทย์ มีอำนาจเพิกถอนสิทธิ หรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวได้ ผู้ฟ้องจึงได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้สภาเทคนิคการแพทย์แก้ไขข้อบังคับว่าด้วยอายุใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตฯ โดยให้ตัดเฉพาะในส่วนบทเฉพาะกาล ข้อ ๘ ของข้อบังคับดังกล่าวที่กำหนดว่า “ให้ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพทย์ ที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๔๗๙ หรือใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพทย์ ที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒ ...ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ข้อบังคับนี้ประกาศใช้ ให้มีอายุใบอนุญาตต่อไปอีกห้าปี นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ” และข้อ ๙ ออกจากข้อบังคับดังกล่าว และให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าเดินทางมาดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลด้วย
               ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองอุดรธานี ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ เรียกให้คณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์เข้ามาเป็นคู่กรณีในคดี โดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ข้อบังคับสภาเทคนิคการแพทย์ ว่าด้วยอายุใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี จะออกในนามสภาเทคนิคการแพทย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ตาม แต่โดยที่มาตรา ๒๓(๔) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.๒๕๔๗ บัญญัติให้คณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ เป็นผู้มีอำนาจออกข้อบังคับสภาเทคนิคการแพทย์ดังกล่าว
               ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนการพิจารณา เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ ที่สั่งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งกระบวนการพิจารณาอื่นที่มีต่อมาภายหลังจากนั้นเสียทั้งหมด ตามข้อ ๗ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ และมีคำสั่งเรียกให้คณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์เข้ามาเป็นคู่กรณีในคดี โดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ฟ้องยื่นฟ้องเฉพาะสภาเทคนิคการแพทย์, นายกสภาฯ, เลขาธิการสภาฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑-๓ ตามลำดับ เท่านั้น
                สำหรับคดีที่เทคนิคการแพทย์ยื่นฟ้องศาลปกครองอุบลราชธานี ให้เพิกถอนข้อบังคับสภาเทคนิคการแพทย์ ว่าด้วยอายุใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้น ศาลปกครองอุบลราชธานีมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๘
                อนึ่ง การฟ้องคดีต่อศาลปกครองอุดรธานี เป็นกรณีฟ้องสภาเทคนิคการแพทย์ ว่ามีอำนาจเพิกถอนคำสั่งออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือไม่ โดยไม่ได้โต้แย้งอำนาจในการออกข้อบังคับของสภาฯ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการฟ้องศาลปกครองอุบลราชธานี ที่ฟ้องว่าสภาฯ มีอำนาจในการออกข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้ว





*******************************************
ที่มา : https://www.facebook.com/Medtechtoday/posts/712175542251211:0