ผู้เขียน หัวข้อ: กรมควบคุมโรคเตือน 6 โรค 2 ภัยสุขภาพที่มักพบบ่อยในช่วงหน้าร้อน  (อ่าน 1553 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
กรมควบคุมโรคเตือน 6 โรค 2 ภัยสุขภาพที่มักพบบ่อยในช่วงหน้าร้อน



กรมควบคุมโรค ประกาศเตือน 6 โรค 2 ภัยสุขภาพที่มักพบบ่อยในช่วงหน้าร้อน โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ  โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย  ส่วนโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน 1 โรค ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ต้องระมัดระวัง 2 ภัยสุขภาพที่สำคัญได้แก่ ภัยจากอากาศร้อนหรือฮีทสโตรก และการจมน้ำในเด็ก

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก กรมควบคุมโรคจึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ตามประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูร้อน ประกอบด้วย 5 โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย ส่วนโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน 1 โรค ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ต้องระมัดระวัง 2 ภัยสุขภาพที่สำคัญได้แก่ ภัยจากอากาศร้อนหรือฮีทสโตรก และการจมน้ำในเด็ก

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปี 2559 มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 5 โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ รวม 356,827 ราย เสียชีวิต 3 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 319,859 ราย เสียชีวิต 2 ราย รองลงมา คือ โรคอาหารเป็นพิษ 35,038 ราย โรคบิด 1,410 ราย โรคไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ 479 ราย โรคอหิวาตกโรค 41 ราย เสียชีวิต 1 ราย ตามลำดับ

สำหรับการป้องกันตนเอง จากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติประจำวันง่ายๆ คือ “สุก ร้อน สะอาด” หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ รวมถึงอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น อาหารทะเลและยำต่างๆ เน้นความสะอาดของสถานประกอบการเป็นสำคัญ ส่วนอาการของโรค คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ปวดหัว คอแห้งกระหายน้ำ ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที

นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า ส่วนโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ต้นปี 2559 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยพาหะหลักจากสุนัข และแมว ซึ่งอาจติดโรคจากการกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผล ที่สำคัญโรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนทำร้าย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย คือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง,ตัว,ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ หากถูกสุนัขกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่นเบตาดีน รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามที่แพทย์แนะนำ ต้องจำสัตว์ที่กัดให้ได้เพื่อสืบหาเจ้าของ และสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน และถ้าพบสุนัขนั้นตายก่อน 10 วัน และมีประวัติกัดคนหรือสัตว์อื่น ควรนำหัวส่งตรวจโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่ใกล้บ้าน

ส่วนการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากอากาศร้อนหรือฮีทสโตรก เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส มีอาการตั้งแต่ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลมแดดได้สูงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่อดนอน และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพตนเอง เช่น สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี ควรอยู่ภายในบ้านหรือในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด  และอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง   

สำหรับการจมน้ำในเด็ก โดยเฉลี่ยทุกๆ 1 เดือนประเทศไทยสูญเสียเด็กจากการจมน้ำเสียชีวิตมากกว่า 90 คน และเดือนที่จมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดคือเมษายนเฉลี่ย 134 คน เพราะเป็นช่วงฤดูร้อนและตรงกับช่วงปิดเทอมของเด็ก สำหรับมาตรการป้องกันการจมน้ำ เน้นใน 2 กลุ่มสำคัญ ได้แก่

1.มาตรการป้องกันการจมน้ำในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) คือ“เทน้ำ กั้นคอก ปิดฝา เฝ้าดูตลอดเวลา” ดังนี้ เทน้ำทิ้งหลังใช้งาน ฝัง/กลบหลุมหรือร่องน้ำที่ไม่ได้ใช้งาน, กั้นคอก จัดให้มีสถานที่เล่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กซึ่งห่างไกลจากแหล่งน้ำ โดยมีลักษณะแบบคอกกั้นเด็ก มีรั้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน, ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ กะละมัง โอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ, เฝ้าดูตลอดเวลาไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังแม้เพียงชั่วขณะ

2.มาตรการป้องกันการจมน้ำในเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ปี) คือ“ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล” ดังนี้ ลอยตัว สอนให้เด็กรู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำเมื่อตกน้ำ, ชูชีพ สอนให้ประชาชนและเด็กรู้จักกฎความปลอดภัยทางน้ำ, ช่วยเหลือ สอนให้เด็กรู้จักวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง โดยการ “ตะโกน โยน ยื่น” (ตะโกน : เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทร 1669, โยน : อุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ เช่น ขวดน้ำพลาสติก ห่วงชูชีพ อุปกรณ์ที่ผูกเชือก, ยื่น : ไม้ เสื้อ กางเกง เข็มขัดเพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ), ปฐมพยาบาล สอนและฝึกปฏิบัติให้ประชาชนและเด็กรู้วิธีการปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้อง โดยห้ามจับเด็กอุ้มพาดบ่า แล้วกระแทกเพื่อเอาน้ำออก

นพ.อำนวย กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคและภัยสุขภาพ โดยส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 13 แห่ง เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมเตรียมภารกิจในการดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบกับภาวะแล้ง ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ 2.การควบคุมโรคในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ กรมควบคุมโรคมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และ 3.การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422



********************************************
ที่มา : http://www.hfocus.org/news