ผู้เขียน หัวข้อ: คาะ 3 ประเด็นสมัชชาสุขภาพปลายปีนี้ ‘เด็กปฐมวัย ที่อยู่อาศัย น้ำดื่มปลอดภัย’  (อ่าน 1307 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
คาะ 3 ประเด็นสมัชชาสุขภาพปลายปีนี้ ‘เด็กปฐมวัย ที่อยู่อาศัย น้ำดื่มปลอดภัย’



ที่ประชุม คจ.สช. เห็นชอบระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ปลายปีนี้ รวม 3 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ และมาตรฐานน้ำดื่มที่ปลอดภัย พร้อมนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ของยูเอ็นมาร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ



เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 มีการประชุม คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2559 (คจ.สช.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เตรียมความพร้อมการจัด สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2559 ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งในปีนี้ คจ.สช. ได้กำหนดประเด็นหลัก (Theme) ในการจัดงาน ได้แก่ “ธรรมนูญระบบสุขภาพ สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยขณะนี้ ธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และกำลังจะมีการประกาศใช้เร็วๆ นี้

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ทาง คจ.สช. ได้เห็นชอบระเบียบวาระเพิ่มเติมอีก 1 ประเด็น ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม ตามที่คณะอนุกรรมการวิชาการที่มี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร เป็นประธาน ได้นำเสนอ นอกเหนือจากประเด็นที่ คจ.สช. ได้เห็นชอบไปแล้วจำนวน 2 วาระ ได้แก่ น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน และ ระบบสุขภาพเขตเมือง : การจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งปรับเปลี่ยนชื่อระเบียบวาระใหม่เป็น การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ

“การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ช่วงปลายปีนี้ จะมีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 3 ประเด็น ซึ่งหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการวิชาการจะไปพัฒนาเอกสารร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความสมบูรณ์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อนำเข้าสู่การหาฉันทมติในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยกระดับเป็นนโยบายสาธารณะ แก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืนต่อไป”

สาระสำคัญของทั้ง 3 ประเด็น มีดังนี้

การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ เป็นการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่ไม่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดี จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย

น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน มุ่งเน้นให้เกิดมาตรฐานน้ำดื่มที่ดีต่อสุขภาพ และบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการและสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มจำนวนมากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสุขอนามัย

การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม เป็นการสานพลังจัดทำวาระแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยรอบด้านอย่างเป็นองค์รวม ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว 20 ปี บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น เพื่อสร้างพัฒนาการที่ดีให้แก่เด็กปฐมวัย อาทิ การส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กด้วยการอ่าน การเล่านิทาน การฝากครรภ์เร็ว การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแก้ไขภาวะโภชนาการของมารดาและเด็กปฐมวัย เป็นต้น

“กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 จะมีการสื่อสารทั้งเรื่อง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับใหม่และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเนื้อหามีความสอดคล้องกับแนวทางการสร้างสังคมสุขภาวะเพื่อนำไปสู่ความตื่นตัวทุกภาคส่วน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนานโยบายสาธารณะให้มากยิ่งขึ้น”

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความสำคัญของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 คือ แต่ละมติที่ออกมาจะมีการขับเคลื่อนไปสู่รูปธรรมของการดำเนินงานและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ การพัฒนาระเบียบวาระ การดำเนินการ (Implement) และการประเมินผล โดยจะมีการบูรณาการการทำงานควบคู่ไปกับ “แผนหลัก 5 ปี ฉบับที่ 3” (พ.ศ.2560-2564) ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็น องค์กรสานพลังพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่ได้รับการยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างภายในองค์กรใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย





*********************************************
ที่มา : https://www.hfocus.org/headline