ผู้เขียน หัวข้อ: “เส้นเลือดในสมองแตก” ภัยมืดตอนอาบน้ำ  (อ่าน 1615 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์





นอกจากจะเป็นการทำความสะอาดร่างกายล้างคราบสิ่งสกปรกและทำให้ร่างกายได้รับความชุ่มชื่น สดชื่นแล้ว ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย
การอาบน้ำยังเป็นการกระตุ้นระบบการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ออกซิเจนภายในร่างกายให้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรงและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากเราอาบน้ำที่ผิดขั้นตอนและวิธีจึงส่งผลต่อการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองแตกอย่างที่พบเจอผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ในห้องน้ำ
ซึ่งสาเหตุ “เส้นเลือดในสมองแตก” เกิดมาจากอุณหภูมิของร่างกายปรับตัวอย่างฉับพลันส่งผลให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้เกิดอาการหลอดเลือดในสมองฉีกขาด เลือดออกในสมอง จึงไม่ควรเข้าห้องน้ำแล้วอาบน้ำโดยการเริ่มจากศีรษะ แต่ให้เริ่มจากเท้าขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงหัวเป็นส่วนสุดท้าย เพราะหัวใจหลักอยู่ที่ "อุณหภูมิ" ของน้ำ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของต่อมต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบการหายใจทำงานได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ และร่างกายสามารถปรับตัวได้ทัน
ที่สำคัญอุณหภูมิของน้ำนั้นไม่ควรเกิน 38-40 องศาเซลเซียส เนื่องจากทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้นในการขยายเส้นเลือดเพื่อจะช่วยให้ร่างกายเย็นลง และควรเว้นระยะการอาบหลังมื้ออาหารก็ควรจะเว้นระยะสัก 2-3 ชั่วโมง เพราะร่างกายจะเสียสมดุล ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงและภูมิต้านทานอ่อนแรง
วิธีการป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองแตก จึงควรอาบน้ำที่อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 27-34 องศาเซลเซียส (น้ำอุ่น) หรือไม่ควรอุ่นเกินอุณหภูมิของร่างกาย 2 องศา จะทำให้ร่างกายสะอาดมากที่สุด เพราะความอุ่นของน้ำจะเข้าไปเปิด รูขุมขนทำให้ผิวหายใจได้มากขึ้น ขับของเสียที่คั่งค้างอยู่ตามผิวได้มากขึ้น และยิ่งถ้าได้อาบน้ำอุ่นก่อนนอนก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ เพราะจะทำให้นอนหลับสบายได้ดียิ่งขึ้น หรืออุณหภูมิของน้ำที่ 21-27 องศาเซลเซียส (น้ำเย็น) จะทำให้ผิวเย็นสบาย สดชื่น เต่งตึงลดอาการอ่อนเพลีย ปลุกเร้าประสาทสัมผัส ทำให้กล้ามเนื้อสดชื่น และยังเป็นผลดีต่อระบบการหายใจ หลังอาบน้ำใช้ฝ่ามือตบเบาๆ ให้ทั้งตัว เพื่อกระตุ้นเซลล์ผิวและยังเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
ส่วนในกรณีของการอาบน้ำในอ่าง หลังจากแช่ตัวแล้วควรล้างตัวอีกครั้งด้วยน้ำเย็น ควรใช้ความแรงของฝักบัวเปิดฉีดวนลงบนผิวไล่จากเท้าขึ้นมาหน้าท้อง มือ แขน จนมาถึงหัวใจ น้ำเย็นจะช่วยกระชับรูขุมขน เร่งให้เกิดการไหลเวียนของโลหิตได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถลดเซลลูไลท์และชะล้างพิษบนผิวออก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากการอาบน้ำที่ถูกวิธีเรายังต้องควรลดปัจจัยเสี่ยงอาทิ รับประทานอาหารให้มีปริมาณไขมันไม่ดีน้อยลง ลดละเลิกการสูบบุหรี่ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด และตรวจสุขภาพเป็นประจำ





ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/Content/35760-%E2%80%9C%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E2%80%9D%20%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3.html

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์
จิตแพทย์...ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 16, 2017, 10:53:36 am »


หลายๆ คนมักจะสงสัยขอบเขตการทำงานของจิตแพทย์อย่างผมว่าผู้ป่วยที่ผมดูแลรักษาอยู่นั้นเป็นผู้ป่วยประเภทไหนบ้าง เป็นคนบ้าทั้งหมดเลยหรือเปล่า หรือเป็นโรคประสาทด้วย (เอ๊ะ...ยิ่งถามยิ่งงง) และยังมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ป่วยจิตเวช”
                ในทางการแพทย์ บทบาทของจิตแพทย์ถูกกำหนดให้ดูแลรักษาผู้ป่วยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ พฤติกรรมและความคิด ถ้าจะสังเกตดูดีๆ แล้วล่ะก็ ทั้ง 3 ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนอยู่แทบจะทุกวินาทีครับ นั่นหมายถึงว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีพฤติกรรม อารมณ์และความคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา และมีความหลากหลายของสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างมากด้วย เช่น ในด้านอารมณ์ มีความหลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้า เสียใจ คึกคักครื้นเครง โกรธ น้อยใจ อารมณ์ปกติ เฉยๆ หรืออารมณ์อื่นๆ และสามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้ตลอด แน่นอนครับว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่เมื่อไรก็ตามที่อารมณ์ ความคิดหรือพฤติกรรมของใคร มีลักษณะเข้าได้กับเกณฑ์ 4 ข้อที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ นั่นแสดงว่าคุณคนนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความผิดปกติทางจิตใจแล้วล่ะครับ
                ผู้ที่มีความผิดปกติในทางจิตเวช หรือที่เรียกว่า Mental Disorders หมายถึงผู้ที่มีพฤติกรรม อารมณ์หรือความคิด เบี่ยงเบนไปจากความเป็นปกติในบริบททางสังคมหรือวัฒนธรรมนั้นๆ ในลักษณะที่เข้าได้กับเกณฑ์ต่างๆ (4 Ds) ต่อไปนี้
1.       Distress                       
                พฤติกรรม อารมณ์หรือความคิดนั้นๆ ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานใจอย่างมาก เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่มีอารมณ์เศร้า หดหู่ท้อแท้ เกือบทั้งวันเกือบทุกวัน เป็นระยะเวลาติดต่อกันเป็นสัปดาห์ จะรู้สึกเป็นทุกข์กับอารมณ์เศร้าที่ตนเองมี และไม่สามารถสลัดอารมณ์ด้านลบต่างๆ ออกไปได้ ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ ที่มีความคิดซ้ำๆ ว่ามือของตนนั้นไม่สะอาดอยู่ตลอด นำไปสู่การมีพฤติกรรมล้างมือซ้ำๆ โดยที่ตนเองก็ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งๆ ที่ทราบว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุผล หรือผู้ป่วยโรคจิตเภท ที่มีความคิดหวาดระแวง กลัวว่าคนอื่นรอบข้างจ้องจะทำร้ายตนเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียดอย่างมากจากความคิดหลงผิดนี้
2.       Disturb
                พฤติกรรม อารมณ์หรือความคิดนั้นๆ ส่งผลให้คนรอบข้างหรือผู้อื่นเดือดร้อน เช่น ผู้ป่วยติดสุรา อาจไม่รู้สึกทุกข์ร้อนจากพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของตนเอง แต่ผลจากการดื่มสุราอย่างหนัก ทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้ปกติและมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวอย่างมาก ผู้ป่วยอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้ว ที่อยู่ในระยะมาเนีย จะมีอารมณ์ครื้นเครงผิดปกติ ใจกว้าง ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย อารมณ์หุนหันพลันแล่น ความคิดแล่นเร็ว เจ้าโปรเจคท์ และมีความต้องการทางเพศสูง ลักษณะดังกล่าวนี้มักสร้างความเดือดร้อนต่อครอบครัวและคนรอบข้างอย่างมาก โดยที่เจ้าตัวอาจไม่ได้ทุกข์ร้อนกับพฤติกรรมของตนเองเลย
3.       Dysfunction หรือ Disable
                พฤติกรรม อารมณ์หรือความคิดนั้นๆ มีผลกระทบทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มศักยภาพที่ตนมี เช่น พฤติกรรมติดเกมของเด็กนักเรียน ที่ทำให้ไม่สามารถไปเรียนได้ตามปกติและผลการเรียนตกลงอย่างมาก พฤติกรรมติดการพนัน ของแม่บ้านที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือพฤติกรรมติดเซ็กซ์ ที่อาจส่งผลเสียต่อการรักษาสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว โปรดสังเกตว่าการทำงานหรือ function ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการทำงานประจำของบุคคลในวัยทำงาน หรือการเรียนของเด็กวัยเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงหน้าที่ด้านอื่นๆ ของมนุษย์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตนเอง (Self-Care) หรือหน้าที่ในการคงสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง (Keeping interpersonal relationships) อีกด้วย
4.       Diagnosis
                ความผิดปกติในทางจิตเวชหรือ Mental Disorders ถูกกำหนดขึ้นโดยมีเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชัดเจน ระบุไว้ใน คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกาซึ่งถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวางโดยแพทย์นักวิจัย ผู้ผลิตและผู้ตรวจสอบคุณภาพยาในทางจิตเวช และบริษัทประกันภัยทั้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในปัจจุบันฉบับปรับปรุงล่าสุดเป็นฉบับที่ 4 เรียกว่า DSM-IV และปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2000
                ดังนั้น หากพฤติกรรม อารมณ์หรือความคิดของบุคคลหนึ่ง มีลักษณะเข้าได้กับเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้โดยสมบูรณ์ ก็หมายถึงว่าบุคคลนั้นได้รับการวินิจฉัยในทางจิตเวชตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-IV ในทันที หากพิจารณาตามเนื้อหาที่ถูกกำหนดไว้ใน DSM-IV จะจัดแบ่งความผิดปกติในทางจิตเวชโดยละเอียดไว้เป็นหลายกลุ่มย่อย แต่โดยหลักการแล้ว ความผิดปกติหรือโรคในทางจิตเวช สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
  1.กลุ่มความผิดปกติทางความคิดแบบโรคจิต (Psychotic Disorders)
            เป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชที่มีความรุนแรงสูงที่สุด หมายถึง สภาวะที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง (out of reality) แสดงออกมาโดยมีอาการหลงผิด (delusion) เป็นความเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริงอย่างฝังแน่นไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะมีเหตุผลหลักฐานมาแย้ง เช่น หลงผิดคิดว่าตนเองถูกติดตามและปองร้ายจากบุคคลกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น อาการประสาทหลอน (hallucination) ที่พบบ่อยคืออาการหูแว่ว ซึ่งเป็นการรับรู้โดยปราศจากสิ่งเร้าจากภายนอกจริงๆ และมีอาการผิดปกติของคำพูดและพฤติกรรมอย่างชัดเจน ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของกระบวนความคิด ทำให้ไม่สามารถรวบรวมความคิดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างเหมาะสมได้ ความคิดไม่สมเหตุผล หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น แสดงออกมาทางคำพูดที่ผิดปกติจนไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างอย่างเหมาะสมได้ หรือมีพฤติกรรมที่ใครก็เห็นชัดว่าแปลกพิกล ไม่สมเหตุผล ไม่มีจุดมุ่งหมาย คาดเดาไม่ได้ ว่าเขาทำเพราะอะไร เช่น สวมเสื้อหลายตัว มอมแมมเดินเร่ร่อน จู่ๆ ถอดเสื้อทั้งที่อยู่ในที่สาธารณะ หรือยืนจ้องดวงอาทิตย์อยู่กลางถนน เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่รับรู้ว่าตนเองผิดปกติ โรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคนี้ได้แก่ โรคจิตเภท (Schizophrenia)
            2.กลุ่มความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood Disorders)
            มีความผิดปกติของอารมณ์เป็นอาการเด่น แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ อารมณ์ผิดปกติแบบซึมเศร้า (depression) ซึ่งจะมีลักษณะอารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ ความสนใจหรือความเพลิดเพลินใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก อาจเบื่ออาหารหรือรับประทานมากเกินปกติก็ได้ มีปัญหาเรื่องการนอน ไม่ว่าจะเป็นนอนไม่หลับหรืออ่อนเพลีย ต้องการนอนมากกว่าปกติ มักจะทำให้มีความคิด คำพูดและการเคลื่อนไหวช้าลง รู้สึกผิดหรือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มั่นใจในตัวเอง สมาธิและความจำแย่ลงอย่างมาก หากเป็นรุนแรงมักมีความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการทำร้ายตนเองร่วมด้วย ส่วนอารมณ์ผิดปกติแบบมาเนีย (mania) ซึ่งจะมีลักษณะอารมณ์ตงกันข้ามกับซึมเศร้า นั่นก็คือ มีอารมณ์คึกคักครื้นเครงหรืออารมณ์หงุดหงิดมากเกินปกติ เชื่อมั่นในตนเองอย่างมาก อาจถึงขั้นคิดว่าตนเองมีอะไรบางอย่างเหนือคนอื่นๆ ความต้องการนอนลดลง พูดเร็วและพูดมากขึ้น ความคิดแล่นเร็ว เปลี่ยนเรื่องง่าย กระตือรือร้นหรือขยันผิดปกติ ดูลุกลี้ลุกลน มักใช้จ่ายเงินเก่ง ใจกว้าง หรือมีความต้องการเพศสูงจนเกินปกติ
                โดยโรคในกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติทางอารมณ์เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ สามารถรักษาหายขาดได้ โดยไม่มีความผิดปกติใดๆ หลงเหลืออยู่ และไม่จำเป็นต้องรับประทานยาตลอดชีวิต โรคที่พบบ่อยในกลุ่มอารมณ์ผิดปกตินี้ ได้แก่ โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder: MDD) ซึ่งจะแสดงอาการแบบซึมเศร้าเท่านั้น และโรคอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้ว (Bipolar disorders) ซึ่งจะแสดงอาการแบบมาเนียร่วมด้วย
    3.กลุ่มความผิดปกติแบบวิตกกังวลและความเครียด (Anxiety Disorders)
            ความวิตกกังวล (Anxiety) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในคนปกติทั่วๆ ไป เมื่อมีความเครียดเข้ามากระทบ ในคนที่มีความวิตกกังวลสูงจะมีความรู้สึกสับสน เครียด วิตก กังวล ตื่นเต้น ไม่มีความสุข ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น มือสั่นตัวสั่น ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก ปัสสาวะบ่อย ปั่นป่วนในท้อง กระสับกระส่าย เป็นต้น การพิจารณาว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดปกติหรือไม่ ให้พิจารณาจากประเด็นต่อไปนี้
-          ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมากเกินกว่าจะอธิบายได้ด้วยความเครียดที่มากระตุ้น
-          ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น มีอาการรุนแรงมาก
-          ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ยังคงอยู่ แม้สิ่งกระตุ้นจะหมดไปแล้ว
-          ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น เข้าได้กับ 4 Ds ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
                โรคในกลุ่มวิตกกังวลที่สำคัญและพบบ่อย ได้แก่ โรคแพนิค (Panic Disorder) โรคกลัว (Phobia) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder: OCD) โรคเครียดหลังประสบเหตุร้ายรุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder: PTSD) และโรคคิดมาก (Generalized Anxiety Disorder: GAD)
            4.ความผิดปกติทางจิตเวชอื่นๆ (Miscellaneous Disorders)   
                เช่น การติดสารเสพติด ปัญหาบุคลิกภาพผิดปกติ พฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น การติดการพนัน ติดเกม ติดเซ็กซ์ ความเครียดที่เกิดจากการปรับตัวที่ผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้หากมีอาการรุนแรงก็อาจทำให้มีอาการของ 3 กลุ่มโรคหลักข้างต้นตามมาได้เช่นเดียวกัน
                จากสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าโรคหรือความผิดปกติในทางจิตเวช ไม่ได้หมายถึงแค่ “ผู้ป่วยจิตเวช” ที่เราเข้าใจว่าเป็น “คนบ้า” หรือ “คนวิกลจริต” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ พฤติกรรมหรือความคิดในรูปแบบต่างๆ กันอีกด้วย ทั้งในลักษณะที่ไม่รุนแรงหรือรุนแรงขึ้นมาตามลำดับปะปนกันไป การเข้าใจความหมายของคำว่า “ผู้ป่วยจิตเวช” อย่างคลาดเคลื่อนอาจทำให้เราเกิดอคติในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการหรือความช่วยเหลือบางอย่างที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที ซึ่งอาจจะส่งผลให้ความผิดปกติที่เป็นอยู่นั้นลุกลามรุนแรงขึ้นได้ การได้รับคำแนะนำหรือยาที่เหมาะสมร่วมด้วย จะช่วยขจัดความเครียดและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคุณได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
               
ที่มา:  http://www.thaihealth.or.th/Content/36637-%20%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C...%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94.html