ผู้เขียน หัวข้อ: ใส่บอลลูน เพื่อลดความอ้วน  (อ่าน 1186 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
ใส่บอลลูน เพื่อลดความอ้วน
« เมื่อ: พฤษภาคม 24, 2018, 10:58:11 am »





“ความอ้วน” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายชนิด ทั้งยังส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอก  ทำให้หลายคนไม่มั่นใจในตัวเอง เทคนิคลดความอ้วนมากมายถูกนำมาเผยแพร่ ทั้งแบบปากต่อปาก หรือผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และสังคมออนไลน์ ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ อายุรศาสตร์โรงพยาบาลและผู้ป่วยนอก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการลดความอ้วนในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์มาเป็นตัวช่วย แต่วิธีดังกล่าวจะเหมาะกับใครและมีข้อจำกัดอย่างไรบ้างนั้น ต้องติดตาม

 

 

การใส่บอลลูนเพื่อลดความอ้วนได้รับการคิดค้นและพัฒนามาตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยเกิดขึ้นหลังการักษาด้วยวิธีผ่าตัดลดความอ้วน แต่สาเหตุที่บอลลูนลดความอ้วนยังไม่เป็นที่แพร่หลายในอดีตนั้น เนื่องจากเมื่อก่อนวัสดุที่ใช้บวกกับเทคนิคการประกอบบอลลูนยังไม่ดีนัก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก เช่น บอลลูนแตกรั่ว กลายเป็นชิ้นเล็กๆ ไหลไปอุดตันลำไส้เล็ก แต่ปัจจุบันวัสดุที่ใช้และเทคนิคการทำบอลลูนนั้น ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงเริ่มมีผู้สนใจใช้วิธีนี้กันมากขึ้น

 

 

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ได้รับรองแล้วว่า การใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหาร สามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย และช่วยลดน้ำหนักได้ในระดับหนึ่ง

 

 

การใส่บอลลูนมีขั้นตอนอย่างไร

 

ทำได้โดยการใส่บอลลูนที่ยังไม่ได้เติมน้ำเข้าไปทางปากของผู้ป่วย โดยใช้กล้องส่องผ่านทางเดินอาหารเข้าไปในกระเพาะอาหาร แล้วจึงเติมน้ำเข้าไปในบอลลูนที่ปริมาตร 400 มิลลิลิตร จากนั้นปล่อยบอลลูนไว้ในกระเพาะอาหาร วิธีนี้จะทำให้พื้นที่ในกระเพาะอาหารลดลง ช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น

 

 

ยกตัวอย่าง จากเดิมที่เคยรับประทาน 2 จาน จึงรู้สึกอิ่มอาจจะรับประทานแค่ 1 จาน ก็รู้สึกอิ่มแล้ว ประเด็นคือ เมื่อรู้สึกอิ่มแล้วต้องหยุดรับประทาน อย่าพยายามรับประทานต่อ เมื่อรับประทานน้อยลง บวกกับเลือกแต่อาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายร่วมด้วย ก็จะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้

 

 

ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีใส่บอลลูน

 

สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนพึงระลึกไว้เมื่อต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหัตถการก็คือ หลัก 6 ประการ ได้แก่ ประโยชน์ โทษ ข้อบ่งชี้ ข้อห้าม ทางเลือกอื่น และความพร้อมของทีมบุคลากร ผู้ทำการรักษาและสถานที่ สำหรับการลดน้ำหนักด้วยการใส่บอลลูน หากพิจารณาตามหลัก 6 ประการที่กล่าวมา มีรายละเอียด ดังนี้

 

1.ประโยชน์ จากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาขนาดใหญ่ที่ทำในผู้ป่วยประมาณ 1,600 คน พบว่า การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารสามารถลดน้ำหนักได้ประมาณร้อยละ 10 วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความอ้วนในระดับปานกลางเท่านั้น หากอ้วนมากกว่านี้พบว่าไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไร นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ใส่บอลลูนควบคู่กับการออกกำลังกาย และผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว พบว่า กลุ่มที่ใส่บอลลูนสามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 6 กิโลกรัม ในขณะที่กลุ่มที่ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ลดได้ประมาณ 3 กิโลกรัม เห็นได้ว่าน้ำหนักจะลดลงเพียงปานกลาง ไม่ได้ลดลงมาก

 

 

2.โทษ ผลข้างเคียงของการใส่บอลลูนที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน พบได้ประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 30 เช่นเดียวกับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ประมาณ 1 ใน 3 เช่นกัน สาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากถูกบอลลูนเสียดสี

 

 

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใส่บอลลูนจึงต้องรับประทานยาป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารควบคู่ไปตลอดระยะเวลาที่ใส่บอลลูน ซึ่งส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใส่เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน อีกประเด็นหนึ่งที่พบประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ที่ใส่บอลลูนคือ ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของการใส่บอลลูนได้ จึงต้องมานำบอลลูนออกด้วยการส่องกล้องผ่านทางเดินอาหารเข้าไปในกระเพาะอาหาร เพื่อเอาน้ำในบอลลูนออก แล้วดึงบอลลูนที่แฟบลงแล้วออกมา นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ แต่พบได้น้อยมากประมาณร้อยละ 1 เช่น บอลลูนแตก มีชิ้นส่วนไปอุดตันทางเดินอาหาร

 

 

3.ข้อบ่งชี้ การพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีใส่บอลลูน ผู้ป่วยต้องมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

 

1). ผู้ป่วยเป็นโรคอ้วน หรือต้องเป็นโรคที่มีสาเหตุจากความอ้วน

 

 

2). ผู้ป่วยต้องอ้วนแค่ปานกลาง หากอ้วนมากกว่านี้ ควรรักษาด้วยวิธีการอื่นจะเหมาะสมกว่า เช่น การผ่าตัด

 

 

3). ผู้ป่วยเคยใช้วิธีลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายมาแล้ว

 

 

แต่ปรากฏว่าไม่สามารถลดน้ำหนักได้ ทั้ง 3 ข้อนี้ คือข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยน่าจะได้รับการใส่บอลลูน เพื่อช่วยในการลดน้ำหนัก ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ตามที่ระบุไว้ก็ไม่ควรทำ

 

 

4.ข้อห้าม ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์หรือข้อบ่งชี้ว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มที่มีข้อห้ามดังต่อไปนี้ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งกลุ่มต้องห้ามในการใส่บอลลูน ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคลำไส้อักเสบ ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ อาจเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง เพราะอาจมีเลือดออกได้ถ้าใส่บอลลูน ผู้ที่มีความผิดปกติทางกายวิภาคของทางเดินอาหาร ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช หรือใช้สารเสพติด เพราะอาจทำให้การดูแลเป็นไปด้วยความลำบาก ผู้ที่มีโรคทางอายุรกรรมที่เป็นข้อห้ามในการส่องกล้องหรือลดน้ำหนัก กลุ่มผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารผิดปกติ กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาที่ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร (เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ยาลดการอักเสบ)

 

 

ผู้ทีแพ้ซิลิโคน เนื่องจากบอลลูนทำจากซิลิโคน หากใส่ในผู้ที่แพ้ซิลิโคน อาจเกิดปัญหายุ่งยากตามมาได้ ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารับการติดตามการรักษาได้สม่ำเสมอ ไม่ควรใส่บอลลูน เนื่องจากระหว่างที่ใส่บอลลูน 6-12 เดือน ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์เป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อตรวจเช็คสุขภาพ และติดตามเรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำกาย เป็นต้น

 

 

5.ทางเลือกอื่น เมื่อผู้ป่วยมารับคำปรึกษาเรื่องการลดน้ำหนักด้วยวิธีใส่บอลลูน ต้องพิจารณาทางเลือกอื่นด้วย ได้แก่ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกายที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีที่ควรแนะนำเป็นอันดับแรกในคนที่อ้วนปานกลาง สำหรับคนที่อ้วนมากๆ การใส่บอลลูนไม่ช่วยอะไรมากนัก เนื่องจากลดได้ไม่มาก เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว

 

 

อย่างไรก็ตามการใส่บอลลูนอาจช่วยผู้ป่วยที่อ้วนมากๆ ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องลดความอ้วนด้วยวิธีการผ่าตัด แต่น้ำหนักที่มากเกินไป อาจส่งผลต่อกระบวนการในการผ่า เช่น การดมยา ผู้ป่วยจึงต้องมาใส่บอลลูนเพื่อลดน้ำหนักก่อนผ่าตัดประมาณ 3-6 เดือน เมื่อน้ำหนักลดลงได้ระดับหนึ่ง การผ่าตัดอาจจะง่ายขึ้น

 

 

6.ความพร้อมของทีมบุคลากรผู้ทำการรักษาและสถานที่ การใส่บอลลูนก็คือ การส่งกล้องและใส่วัสดุเข้าไปที่กระเพาะอาหาร ดังนั้น แพทย์ที่ทำการรักษาด้วยวิธีนี้ให้ท่าน จึงควรเป็นแพทย์ที่มีวุฒิบัตร หรือมีความสามารถที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทย หรือราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่าแพทย์ท่านนี้สามารถทำการส่องกล้องได้อย่างปลอดภัย

 

 

มีทีมงานที่ดี สถานที่พร้อม สำหรับการใช้เครื่องมือส่องกล้องใส่บอลลูน แพทย์ควรเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมจากอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย เนื่องจากมีเทคนิคที่ต้องเรียนรู้อยู่พอสมควร

 

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นรายละเอียดเบื้องต้นเท่านั้น หากท่านต้องการลดน้ำหนักด้วยวิธีใส่บอลลูน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องก่อน ว่าที่มีความจำเป็นต้องลดน้ำหนักหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องลด จำเป็นต้องใช้วิธีนี้หรือเปล่า เพราะการลดน้ำหนักสามารถทำได้หลายวิธี การใส่บอลลูนอาจไม่เหมาะกับตัวท่านก็ได้

 

 

สำหรับผู้ที่ใส่บอลลูนจนครบกำหนด 6-12 เดือน (ไม่ควรใส่บอลลูนนานเกิน 12 เดือน เนื่องจากคุณภาพของวัสดุจะเริ่มลดลงเมื่อใส่นานกว่านั้น) แล้วกังวลว่าน้ำหนักจะขึ้นหรือเปล่า ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง เพราะถ้าหากกลับไปรับประทานอาหารมากเกิน หรือรับประทานแต่อาหารหวาน มัน ของทอด แป้ง และไม่ออกกำลังกาย ความอ้วนก็จะกลับมาหาท่านอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

 

สุดท้ายนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพก็คือ “การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” แน่นอนว่าโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างเราไม่สามารถป้องกันได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องรักษาไปตามกระบวนการขั้นตอน แต่หากต้องเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เรื่องความอ้วน จริงๆ แล้วถือว่าเป็นโรคที่ป้องกันได้ และสามารถรักษาได้ตั้งแต่ต้นมือ

 

 

ดังนั้น เราจึงต้องพยายามดูแลตนเองอย่างถูกวิธี อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อพูดถึงความอ้วน คนจำนวนหนึ่งมักจะนึกถึงเรื่องความสวยความงามมาเป็นอันดับแรก ตรงนี้อยากให้มองเป็นประเด็นรอง และมองเรื่องของสุขภาพเป็นประเด็นหลักมากกว่า เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของหลายโรค ทั้งความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ข้อเข่าเสื่อม และอื่นๆ





ที่มา...http://health.haijai.com/4013/