Thaimedtechjob.com

TMTJ : NEWS => ข่าวแวดวงสาธารณสุข => ข้อความที่เริ่มโดย: webmaster ที่ ธันวาคม 21, 2013, 08:36:34 am

หัวข้อ: อึ้ง! กรมวิทย์ เผยเครื่องวัดความดันใน รพ.ตกมาตรฐาน เพียบ
เริ่มหัวข้อโดย: webmaster ที่ ธันวาคม 21, 2013, 08:36:34 am
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000016292301.GIF)

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ส่อวินิจฉัยผู้ป่วยพลาด! กรมวิทย์เผยผลตรวจเครื่องวัดความดันในโรงพยาบาล 1,233 เครื่อง พบตกมาตรฐาน 18% เป็นด้านความแม่นยำถึง 4% ส่วนใหญ่เป็นเครื่องวัดแบบเชิงกล เหตุอุปกรณ์ชำรุด แนะวิธีการเก็บรักษา
       
       นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การวัดความดัน ค่าปกติคือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากความดันสูงเกินกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคอัมพาต เป็นต้น โดยปัจจุบันเครื่องวัดความดันโลหิตเป็นเครื่องมือแพทย์ที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจวินิจฉัยโรคทั้งภายในโรงพยาบาลและใช้ภายในบ้าน ซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือเครื่องวัดความดันโลหิตแบบเชิงกลและแบบอัตโนมัติ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศได้ทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตทั้ง 2 ชนิดที่ใช้งานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลในจังหวัดอุบลราชธานี เชียงราย พัทลุง นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา สงขลา อุดรธานี เชียงใหม่ ในช่วงเดือน ก.พ.-ส.ค.2556 จำนวน 1,233 เครื่อง พบว่า มีเครื่องที่ตกมาตรฐานทั้งสิ้น 232 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 18.8 เป็นเครื่องที่ตกมาตรฐานด้านความแม่น 49 เครื่อง หรือร้อยละ 4 เป็นเครื่องที่ตกมาตรฐานด้านอัตราการรั่วของความดันในระบบ 183 เครื่อง ร้อยละ 14.4
       
       “จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นเครื่องที่ตกมาตรฐานด้านอัตราการรั่วของความดันในระบบ เหตุจากอุปกรณ์ประกอบชำรุด เช่น คัฟ สาย ลูกยาง ดังนั้น ข้อควรระมัดระวังในการดูแลรักษาเครื่องจึงควรหลีกเลี่ยงเก็บเครื่องในที่มีความชื้นสูง ฝุ่นละออง ใต้แสงแดดโดยตรงและของมีคม อย่าวางวัตถุที่มีน้ำหนักมากทับลงบนเครื่อง ไม่ปั๊มลมเข้าในหากไม่ได้สวมปลอกเข้ากับข้อมือ ไม่ดึง ยึดหรือบิดปลอกพันข้อมือ ไม่แกะ ถอด แยกส่วนประกอบซ่อมหรือปรับแต่งเครื่องเอง สำหรับเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติควรถอดแบตเตอรี่ออกเมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
       
       นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนการวัดความดัน ผู้ตรวจควรพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มกาแฟ และก่อนวัดควรนั่งพักให้หายเหนื่อยอย่างน้อย 5-10 นาที งดวัดความดันหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ และควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนวัด เพื่อให้ได้ค่าความดันที่ไม่คลาดเคลื่อนและอาจส่งผลให้ค่าที่อ่านได้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น สุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่ด้วยการหมั่นใส่ใจดูแลรักษาตรวจสอบคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง






(http://www.khonkaenlink.info/news/imag/newspaper/ASTV.jpg)