Thaimedtechjob.com

TMTJ : NEWS => บทความสุขภาพ => ข้อความที่เริ่มโดย: admin ที่ สิงหาคม 04, 2017, 06:00:59 pm

หัวข้อ: น้ำหนักตัว ไม่ใช่เครื่องชี้วัดสุขภาพเสมอไป
เริ่มหัวข้อโดย: admin ที่ สิงหาคม 04, 2017, 06:00:59 pm
แม้น้ำหนักตัวเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญของการเจ็บป่วยง่ายหรือการเกิดโรคแทรกซ้อน แต่การทราบน้ำหนักตัวอย่างเดียวก็ไม่สามารถชี้วัดถึงสุขภาพโดยรวมได้อย่างแท้จริง เพราะร่างกายคนเราประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นน้ำ กล้ามเนื้อ กระดูก และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ล้วนส่งผลต่อตัวเลขบนตาชั่งที่วัดได้
(http://[img]http://www.thaihealth.or.th/data/content/2017/08/38023/cms/newscms_thaihealth_c_bdmopruwxz57.jpg)[/img]

1. เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย ปริมาณไขมันในร่างกายเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวสุทธิ มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่เสมอในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับระดับของเหลวในร่างกาย โดยการดื่มน้ำ หรือ แอลกอฮอลล์ การมีรอบเดือน และการออกกำลังกาย ปริมาณไขมันของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ อาชีพ และกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ โดยการตรวจวัดและติดตามระดับไขมันในร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ทราบว่ากำลังลดน้ำหนักได้ตรงจุดหรือไม่
2. ระดับไขมันในช่องท้อง ไขมันในช่องท้องเกิดจากการสะสมตัวของไขมันจากอาหารที่ร่างกายเผาผลาญเป็นพลังงานไม่หมดในแต่ละวัน พบได้บริเวณระหว่างกล้ามเนื้อท้องกับอวัยวะภายในช่องท้องที่สำคัญ โดยไขมันบริเวณดังกล่าวเป็นอันตรายกว่าไขมันในบริเวณอื่น เนื่องจากสามารถละลายเข้าสู่กระแสเลือดไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ รวมถึงเกาะตามผนังหลอดเลือดจนขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย และนำไปสู่โรคร้ายมากมาย ผู้ที่มีรูปร่างผอมเพรียวยิ่งไม่ควรชะล่าใจในสุขภาพของตน เนื่องจากภาวะไขมันในช่องท้องไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว และสามารถเกิดได้กับทั้งคนอ้วนและผอมที่ละเลยการออกกำลังกาย และชอบรับประทานอาหารจำพวกเบเกอรี่และของทอด
3. เปอร์เซ็นต์กล้ามเนื้อโครงร่าง กล้ามเนื้อโครงร่างคือ กล้ามเนื้อที่ยึดติดอยู่ระหว่างกระดูกเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวร่างกาย เนื่องจากกล้ามเนื้อมีความหนาแน่นกว่าไขมัน ทำให้ในปริมาณน้ำหนักเท่ากันกล้ามเนื้อจะมีขนาดเล็กกว่าไขมันอย่างเห็นได้ชัด การเสริมสร้างกล้ามเนื้อจึงอาจทำให้มีน้ำหนักตัวมากขึ้น แต่มวลกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งจะช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญพลังงาน ยิ่งควรตรวจวัดเปอร์เซ็นต์กล้ามเนื้อโครงร่างของตนตลอดโปรแกรมการออกกำลังกาย
4. อัตราการเผาผลาญพลังงานขณะอยู่เฉย ทุกกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันล้วนมีการเผาผลาญแคลอรี่อยู่เสมอ ผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนักจึงจำเป็นต้องรู้อัตราการเผาผลาญพลังงานขณะอยู่เฉย อัตราการเผาผลาญดังกล่าว จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลตามปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ น้ำหนักตัว องค์ประกอบในร่างกาย
5. อายุร่างกาย อีกหนึ่งตัวเลขที่เกี่ยวโยงกับอัตราการเผาผลาญพลังงานขณะอยู่เฉย คือ อายุร่างกาย โดยใช้น้ำหนักและเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายในการคำนวณว่าอายุร่างกายมากหรือน้อยกว่าอายุที่แท้จริงตามปีปฏิทิน การทราบอายุร่างกายจะช่วยให้เห็นภาพรวมสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งตัวเลขที่คำนวณได้มักจะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน และอารมณ์ความเครียด หากพบว่าอายุร่างกายแก่กว่าอายุที่แท้จริง จะช่วยกระตุ้นให้หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น


ที่มา:http://www.thaihealth.or.th/Content/38023-%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%20%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%9B.html