Thaimedtechjob.com

TMTJ : NEWS => ข่าวแวดวงสาธารณสุข => ข้อความที่เริ่มโดย: webmaster ที่ มีนาคม 22, 2013, 09:00:30 pm

หัวข้อ:
เริ่มหัวข้อโดย: webmaster ที่ มีนาคม 22, 2013, 09:00:30 pm


สธ.เผยไข้เลือดออกปีนี้แรง! แค่ 2 เดือนกว่า ป่วยพุ่ง 13,200 ราย ตาย 16 ราย ย้ำอย่าวางใจวิธีพ่นเคมีฆ่ายุงเพียงรอบบ้าน ตามท่อ ชี้ฆ่าได้เพียงยุงแพะ “ฆาตกรตัวจริง”รอดลอยนวลอยู่ในบ้าน

            สาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้แรง แค่ 2 เดือนกว่า มีผู้ป่วยสะสมทุกอายุ 13,200 ราย เสียชีวิต 16 ราย สั่งสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ทุกบ้านลงมือกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้าน อย่าให้ยุงเกิด อย่าให้ยุงกัดทั้งคนปกติและคนป่วย  หากมีไข้สูงติดต่อ 3 วัน ให้รีบพบแพทย์  พร้อมย้ำประชาชนอย่าวางใจการพ่นยุงรอบบ้าน  ชี้เหมือนจับโจรผิดตัว ยุงรำคาญถูกฆ่ากลายเป็นแพะ ส่วนยุงลายฆาตกรตัวจริงยังลอยนวลในบ้าน

               นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการควบคุมและป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะถึงฤดูกาลระบาดของโรคหรือฤดูฝน ซึ่งจากการประชุมวอร์รูม (War room) เฝ้าระวังติดตามผลแก้ไขปัญหาการระบาดโรคไข้เลือดออกในปี 2556 ผลของการควบคุมจำนวนยุงลาย เพื่อป้องกันโรค ขณะนี้พบว่ายังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่ 1 มกราคม  ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2556 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศรวม 13,200 ราย พบทุกจังหวัด เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000- 1,500 ราย  มีผู้เสียชีวิต 16 ราย กว่าครึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ทั้งจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2555 ถึง 4 เท่าตัว  แสดงถึงว่าภายในบ้านของประชาชนมียุงลายซึ่งเป็นตัวนำโรคนี้ หลบซ่อนอาศัยอยู่ด้วย  ผลการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือน ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ชุมชนแออัด และชุมชนย่านพาณิชย์ใน 190 อำเภอ  โดยหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค พบว่าภาชนะขังน้ำเพื่อใช้ดื่มหรือใช้ภายในบ้านเรือน กว่าร้อยละ 70 มีลูกน้ำยุงลายชุกชุมมาก  จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตมี  9 จังหวัด ได้แก่ สงขลา 5 ราย  นครศรีธรรมราช 2 ราย ที่เหลือได้แก่ กทม. สมุทรปราการ นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ปัตตานี ยะลา จังหวัดละ 1 ราย   

               จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เร่งลดปริมาณยุงลาย  โดย 1.ให้รณรงค์ให้ประชาชนลงมือช่วยกันทำลายลูกน้ำยุงลายในบ้าน   เปลี่ยนน้ำขัดล้างภาชนะขังน้ำทุก 7 วัน หรือปิดฝา เพื่อไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ได้ หรือไม่ให้ลูกน้ำมีโอกาสโตเป็นตัวยุง  โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าสาธารณสุขและ อสม.สำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะเก็บน้ำทุกชนิดภายในบ้านติดตามผลทุก 1 เดือน  2.การป้องกัน ไม่ให้ยุงลายกัดทั้งคนป่วยและคนปกติ  โดยทายากันยุงในช่วงกลางวัน ซึ่งยุงที่พบกว่าร้อยละ 95 เป็นยุงลาย  เช่น โลชั่นตะไคร้หอม กลิ่นทนได้นาน 4 ชั่วโมง  กำลังพัฒนาให้กลิ่นอยู่คงทนเพื่อกันยุงได้นาน 8 ชั่วโมง และให้ อสม.ปลูกตะไคร้หอมที่บ้าน เพียง 2 เดือนก็สามารถนำมาใช้ได้   โดยใช้วิธีทุบลำต้นและใบให้ช้ำ กลิ่นน้ำมันหอมจะระเหยออกมา ไล่ยุงทุกชนิดไม่ให้มาใกล้  เพื่อลดการป่วยให้ได้มากที่สุด   และประการที่ 3.เรื่องการรักษา ให้จัดอบรมฟื้นฟูมาตรฐานการวินิจฉัย ดูแลรักษาแก่แพทย์รักษาเด็กและผู้ใหญ่ พยาบาลทั้งรัฐและเอกชน  เพื่อลดการเสียชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด   

                ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขประธานวอร์รูมฯกล่าวว่า  ขณะนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลในไทย ฝนตกๆหยุดๆ  ยิ่งเอื้อต่อการเพิ่มจำนวนยุงมากขึ้น กล่าวคือไข่ยุงลายที่ทนความแห้งแล้งติดภาชนะอยู่ได้เป็นปีๆ  เมื่อไข่ถูกน้ำท่วมถึง  ก็จะแตกตัวเป็นลูกน้ำยุงลายภายใน 1 ชั่วโมงเท่านั้น  เมื่อบินได้จะหากินเหยื่อในระยะประมาณ 100 เมตร ยุงตัวเมียมีชีวิตได้ประมาณ 2 เดือน เมื่อผสมพันธุ์กับตัวผู้แล้วจะวางไข่ได้ 4-6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 100 ฟอง  และหากปล่อยให้ยุงตัวเมีย 1 ตัวมีชีวิตอยู่ จะเพิ่มยุงรุ่นลูกได้ถึง 500 ตัว รุ่นหลานอีกทวีคูณ                                                                                             

          “เรื่องยุงลายไม่ใช่เรื่องของยุงน้ำเน่าอย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่เป็นเรื่องยุงที่ชอบเพาะพันธุ์ในน้ำนิ่งใส ต้องขอความร่วมมือของประชาชนทุกคน ช่วยกันคนละไม้คนละมือกำจัดลูกน้ำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ที่น่ากังวลขณะนี้พบว่าประชาชนยังเข้าใจว่าการกำจัดยุงลายโดยวิธีการพ่นสารเคมีตามรอบๆบ้าน ท่อระบายน้ำต่างๆ แล้ววางใจว่ายุงตายหมดนั้น   วิธีการดังกล่าวเป็นการเอื้อให้เกิดปัญหายุงดื้อยา และ ถือว่าเป็นการจับผิดตัวเสมือนจับแพะ เพราะยุงที่ตายไม่ใช่ยุงลาย ส่วนใหญ่จะเป็นยุงรำคาญ แต่ยุงลายฆาตกรตัวจริงยังหลบในบ้านอย่างลอยนวล รอกินเลือดหวานๆจากคนในบ้าน ไม่ต้องออกไปหากินไกลๆ กินอยู่หลับนอนในบ้าน การใช้สารเคมีพ่นมีความจำเป็นเฉพาะในกรณีที่พบผู้ป่วยในบ้าน ซึ่งจะเป็นการฆ่ายุงลายไม่ให้ไปกัดและนำเชื้อไปติดคนอื่นอีก ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรม”นายแพทย์โสภณกล่าว               

                วิธีกำจัดยุงตัวแก่แบบพื้นบ้านและใช้ได้ผลดีคือ นำน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 1 กระป๋องนม     ใส่ในกระบอกฉีดน้ำหรือขวดน้ำยารีดผ้าที่ใช้หมดแล้ว เก็บไว้เป็นอาวุธประจำครอบครัว เมื่อเห็นยุงบินผ่าน หรือออกค้นหาตามบริเวณที่ยุงชอบอาศัยอยู่เช่น ห้องน้ำ ภาชนะขังน้ำต่างๆ ห้องที่ทึบแสง ตู้เสื้อผ้า หรือราวแขวนผ้าที่มีเสื้อผ้าสีดำหรือสีเข้ม  ให้ฉีดพ่นน้ำยาที่เตรียมไว้ให้โดนตัวยุง เมื่อยุงโดนน้ำยาเคลือบที่ผิวหนังก็จะตายในที่สุด ทั้งนี้ หากประชาชนหรือลูกหลานมีอาการไข้ ตัวร้อน ติดต่อกัน 3 วัน ขอให้รีบมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้รับการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงที


ที่มา : www.moph.go.th