ผู้เขียน หัวข้อ: โรคไทรอยด์  (อ่าน 2732 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
โรคไทรอยด์
« เมื่อ: มกราคม 29, 2014, 10:03:08 pm »
ต่อมไทรอยด์  เป็นต่อมไร้ท่อใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่ที่ส่วนหน้าของลำคอ ใต้ลูกกระเดือกลงมา มีรูปร่าง มีหน้าที่สร้าง และหลั่ง ไทรอยด์ฮอร์โมน ออกมาสู่กระแสเลือด ฮอร์โมนนี้ ต่อมไทรอยด์ สร้างเองโดยอาศัย ไอโอดีน จากอาหาร ที่กินเข้าไป เป็นวัตถุดิบ หน้าที่ของไทรอยด์ฮอร์โมนเกี่ยวกับการพัฒนาการของร่างกายและอวัยวะต่างๆและที่สำคัญคือการเผาผลาญอาหารเพื่อให้เกิดพลังงานแก่ร่างกาย ออกฤทธิ์กระตุ้นทั่วร่างกาย ทำให้เซลล์ต่างๆ ทำงานเป็นปกติ อวัยวะที่กระตุ้นมากที่สุด คือหัวใจ กับประสาท

          ความผิดปกติ หรือโรคของต่อมไทรอยด์ มีมากมายหลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึงความผิดปกติเกี่ยวกับคอพอกซึ่งมี อยู่ 2 ชนิดคือคอพอกชนิดไม่เป็นพิษ และคอพอกชนิดเป็นพิษ

          สาเหตุสำคัญมากของคอพอกชนิดไม่เป็นพิษ คือขาดไอโอดีน ซึ่งธาตุไอโอดีนนี้มีมากในอาหารทะเล ไอโอดีนที่ควรได้รับในแต่ละวันของคนทั่วไปคือ 150 ไมโครกรัมหรือ 200 ไมโครกรัมสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

          ในผู้ใหญ่จะพบโรคคอพอกชนิดไม่เป็นพิษ  ได้ที่ ต่อมไทรอยด์โตขึ้นชัดเจน และชนิดที่ ต่อมไทรอยด์ ไม่โตขึ้นกว่าปกติ ทั้ง 2 ประเภท จะมีอาการแสดงออก ถึงการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ได้แก่ การเป็นคน เชื่องช้า เซื่องซึม ขี้หนาว พูดช้า เสียงแหบ ผิวแห้ง ผมแห้งหยาบ และร่วงง่าย ท้องผูก อ้วนขึ้น

          ส่วนในเด็กนั้น อาจเกิดจากความผิดปกติ ของต่อมไทรอยด์มาแต่กำเนิด จึงสร้างฮอร์โมนออกมาน้อย ไม่พอใช้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกเกิด หรือทิ้งไว้นาน เด็กโตขึ้น ตัวจะเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน แก้ไขไม่ได้ ปัญหาคือ เมื่อเด็กขาดฮอร์โมนระยะแรก อาการผิดปกติยังไม่มาก บิดา มารดาเด็ก อาจจะไม่ทราบ จึงละเลย อาการที่น่าสงสัยว่าเด็กขาดฮอร์โมน ได้แก่ เฉื่อยชา เลี้ยงง่าย ไม่กวน เคลื่อนไหวช้า ดูดนมน้อย ท้องอืด ท้องผูกเสมอ พุงป่อง สะดือจุ่น กระหม่อมหลังเปิดกว้าง ตัวเหลืองนานผิดปกติ ลิ้นโตคับปาก เมื่อโตขึ้น เริมมีผม-คิ้วบาง ใบหน้าหยาบ หนังตาบวม ผิวหนังหนาซีดหยาบแห้ง เด็กหญิงเติบโตช้า แขนขาสั้น รูปร่างอ้วนเตี้ย ปัญญาอ่อน

          โรคคอพอกชนิดเป็นพิษ  เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ สร้างและหลั่งฮอร์โมนมากกว่าปกติ ปัจจัย ที่เข้ามา เกี่ยวข้องคือ พันธุกรรม บางครอบครัว เป็นโรคนี้ สืบทอดต่อกันมา หลายชั่วคน พบมากในเพศหญิง มากกว่าเพศชาย 7-8 เท่า สันนิษฐานว่า ร่างกาย สร้างสารผิดปกติบางอย่าง ไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ ทำงานมากขึ้นกว่าปกติ โดยที่ยังไม่สามารถ หาสาเหตุที่แท้จริง ถ้าแพทย์ใช้หูฟัง จะได้ยินเสียง ฟู่ๆ เพราะมีเลือดไปหล่อเลี้ยงจำนวนมาก อาการเป็นพิษของ ต่อมไทรอยด์ ก็เพราะฮอร์โมน จากต่อมไทรอยด์ ที่ถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นนั้น จะหลั่งไปในกระแสโลหิต มีฤทธิ์ กระตุ้นอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานมากขึ้น

          หัวใจจะถูกกระตุ้นมากที่สุด ทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง บางครั้งก็ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เหนื่อยง่าย กระตุ้นเซลล์ของร่างกาย ให้สร้างพลังงานมามากเกินพอ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีพลังงานเหลือเฟือ จึงมักอยู่ไม่สุข ต้องทำโน่นทำนี่ ดูลุกรี้ลุกรน พูดเร็ว รวมแล้วดูเป็นคนหลุกหลิก ลอกแลก มักเป็นคนขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ผู้ป่วยจึงมักชอบอากาศเย็นๆ แต่มือจะอุ่น และมักมีเหงื่อออกชุ่ม หิวบ่อย กินจุ แต่ไม่อ้วน น้ำหนักลด อุจจาระบ่อย ประสาทถูกกระตุ้น ทำให้มีอาการคล้ายโรคประสาท มีอาการทางกล้ามเนื้อ คือกล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา มักอ่อนแรง ถ้าเป็นมากๆ จะก้าวขึ้นบันได หรือรถเมล์ไม่ไหว ประจำเดือน บางทีมาน้อย หรือห่างออกไป ลูกตาอาจโปนถลนออกมา อาจมองเห็นภาพซ้อนกันอยู่เสมอ

          การรักษา ได้แก่การกินยาที่มีฤทธิ์ ไประงับการสร้างฮอร์โมน การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การกินสารไอโอดีน ชนิดปล่อย กัมมันตภาพรังสีออกมา เพื่อไปทำลายต่อมไทรอยด์ แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วย จะเป็นผู้พิจารณา เลือกใช้วิธีการรักษา ที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละรายไป

          การวินิจฉัยโรคของต่อมไทรอยด์ มีหลายวิธี เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป การเจาะเลือด ดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ จากการหา ระดับไทรอยด์ฮอร์โมน การทำอัลตราซาวด์ไทรอยด์สแกน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจชิ้นเนื้อ การตรวจทางอิมมูน เป็นต้น โดยวิธีที่ใช้บ่อยที่สุดหรือเป็นวิธีเบื้องต้นของการวินิจฉัย นั่นคือการ เจาะเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ คือหาระดับ FreeT4 และระดับ TSH (Thyroid stimulating hormone)


          โรคของต่อมไทรอยด์มีมากมายหลายชนิด มีทั้งที่ทราบสาเหตุ และไม่ทราบสาเหตุ การวินิจฉัยและการรักษา จึงมีหลากหลายวิธีเช่นเดียวกัน ซึ่งหากมีอาการที่น่าสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป…….


ด้วยความปรารถนาดีจาก คลินิกเทคนิคการแพทย์ ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก

คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 053-94-6027 ต่อ 11-14