ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. เตือนประชาชน ที่ป่วยควบทั้งเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง เร่ง “ไตวาย” เร็วขึ้น !  (อ่าน 901 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
สธ. เตือนประชาชน ที่ป่วยควบทั้งเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง เร่ง “ไตวาย” เร็วขึ้น !


              ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม 5 จังหวัดอีสานใต้ ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร และศรีสะเกษ    ตรวจพบประชาชนมีแนวโน้มป่วยเป็นนิ่วในไตประมาณ 3 หมื่นคน ขณะนี้มีผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง 3,000 กว่าคน  แพทย์เชี่ยวชาญเตือนประชาชนหากป่วยควบ 2 โรคทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูงพร้อมกัน จะเร่งเกิดปัญหาไตวายเร็วขึ้น เพราะหลอดเลือดถูกทำลาย เร่งจัดบริการดูแล ในปี 2557 นี้ เพิ่มหน่วยไต ทั้งตรวจดูแล ล้างไตทางหน้าท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวม 51  แห่ง เพิ่มศูนย์รับบริจาคอวัยวะและผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ รพ.ศรีสะเกษ อีก 1 แห่ง       
วันนี้ (12 มีนาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมราชการที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ   เพื่อติดตามความคืบหน้าของการร่วมจัดบริการรักษาพยาบาล ดูแลสุขภาพและลดปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชน ของสถานบริการในสังกัดทุกระดับที่อยู่ในเขตบริการสุขภาพที่ 10   ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัดได้แก่ อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร รวมทั้งหมด 71 แห่ง ดูแลประชาชนประมาณ 4.5 ล้านคน
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า  ปัญหาสุขภาพประจำถิ่นนี้ พบว่าประชาชนป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกันมาก  ทั้ง 5 จังหวัดมี 3,000 กว่าคน  ร้อยละ 30  ต้องใช้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  ที่เหลือฟอกทางหน้าท้อง   โดยมีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายรายใหม่เพิ่มปีละกว่า 100  ราย  สาเหตุที่ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคดังกล่าวมาก เกิดมาจากโรคเบาหวานมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือโรคความดันโลหิตสูง และไตอักเสบจากโรคนิ่ว   ผู้เชี่ยวชาญโรคไตระบุว่าหากประชาชนป่วยทั้งโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน 2 โรคพร้อมกัน   จะทำให้เกิดไตวายได้เร็วกว่าป่วยเป็นโรคเดียว  เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้ทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงไตเสื่อม  ซึ่งผลการสำรวจล่าสุดในปี 2555 ทั่วประเทศพบประชาชนป่วยเป็นทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ประมาณ 6  แสนคน  ดังนั้นจึงคาดว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ป่วยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพคือ ลดกินเค็ม ลดกินหวาน และอาหารมัน รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน  ตามคำแนะนำของแพทย์
ทั้งนี้ จากการตรวจคัดกรองนิ่วประชาชนในเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 1.3 ล้านคน พบไตทำงานผิดปกติเบื้องต้น จำนวน 30,000 คน คิดเป็นร้อยละ 2.5 ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการทำอาชีพที่เสียเหงื่อมาก เช่น ทำงานกลางแจ้ง  ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ไตทำงานหนักขึ้น รวมทั้งการกินอาหารที่มีสารอ็อกซาเลตมาก เช่น ผักติ้ว ผักกระโดน และจากพันธุกรรมที่มีภาวะสารแม็กนีเซียมในร่างกายต่ำมาก่อน   จะต้องเร่งป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไตวายโดยเร็ว  โดยใช้กลไกของรณรงค์ให้ความรู้ในหมู่บ้านชุมชน โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและ อสม.       
ทางด้าน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้กำหนดให้เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ตั้งศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคไตทุกเขต และให้โรงพยาบาลในเครือข่ายเดียวกันจัดบริการดูแลผู้ที่ป่วยร่วมกัน  เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่เป็นธรรม คิวรักษาเร็วขึ้น  ในส่วนของเขตบริการฯที่ 10 ในปีนี้ ได้เพิ่มหน่วยดูแลผู้ป่วยโรคไตทุกชนิดจำนวน 51 แห่ง ประกอบด้วยคลินิกไตให้การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง   เพื่อชะลอความเสื่อมของไต   จากเดิมมีแล้ว  10 แห่ง  เพิ่มปีนี้อีก  3  แห่ง      ที่ รพ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี  รพ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และ รพ.เลิงนกทา จ.ยโสธร รวมเป็น 13 แห่ง เพิ่มหน่วยล้างไตทางหน้าท้องจากเดิมมี 15 แห่ง ปีนี้เพิ่มอีก1 แห่ง ที่ รพ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี  รวมเป็น 16 แห่ง  เพิ่มศูนย์ไตเทียมจาก 18 แห่งเป็น 20 แห่ง ปีนี้เพิ่มที่ รพ.เดชอุดม และ รพ.พิบูลมังสาหาร  จ.อุบลราชธานี
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาให้ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคไตประจำเขตบริการสุขภาพที่ 10  ขณะนี้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีรักษาโรคไตวายระยะสุดท้ายที่ให้ผลดีที่สุด เฉลี่ยเดือนละ 1 ราย  ครอบคลุมผู้ป่วยที่รอคิวเปลี่ยนไตมากถึงร้อยละ 30 สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 2 เท่าตัว   จนถึงบัดนี้ผ่าไปแล้ว 38 ราย นับว่ามากที่สุดในประเทศและอยู่ได้ตลอดชีวิต   โดยในปีนี้ได้ขยายศูนย์รับบริจาคอวัยวะและผ่าตัดเปลี่ยนไตเพิ่มที่ รพ.ศรีสะเกษอีก  1 แห่ง ซึ่งสามารถนำไปผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับบริจาค   






-----------------------------------------------------------
ที่มา : http://www.moph.go.th/