ผู้เขียน หัวข้อ: โรคไตในผู็สูงอายุ หมั่นดูแลตนเองช่วยลดความเสี่ยง  (อ่าน 1066 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
       ใครที่มีอาการปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน มีอาการขาบวมเมื่อกดลงไปแล้วเกิดเป็นรอยบุ๋ม อีกทั้ง มีอาการความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ยิ่งมีอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่ควรชะล่าใจเพราะอาจเกิดความผิดปกติขึ้นที่ “ไต” ได้!!

        ล่าสุด โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) จัดกิจกรรมเวิร์ก ชอปสุขภาพ ในหัวข้อ “ผู้สูงอายุกับโรคไต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “อาสาสมัครใจ SiPH 2 gether Caring & Sharing” สานต่อแนวคิด ผู้รับและผู้ให้ ในการดูแลสังคมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

        อ.นพ.สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพ และอายุรแพทย์โรคไต ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยระบุถึงสถานการณ์โรคไตในประเทศไทยปัจจุบันพบว่า คนไทยเป็นโรคไตมากถึง 17 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 10 ล้านคน โดยในปี พ.ศ. 2554 มีผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรังจำเป็นต้องฟอกเลือดหรือล้างไตผ่านช่องท้องประมาณ 47,000 คน ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากที่สุดประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์

        สำหรับการวินิจฉัยโรคไตที่ง่ายและได้ผลชัดเจนที่สุด คือ การเจาะเลือดตรวจ โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งผู้ชายและผู้หญิง ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็กสภาพของไต และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง ได้รับสารพิษหรือยาที่ทำลายไต มีมวลเนื้อไตลดลง ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นภายหลัง มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว

        “โรคไตเรื้อรัง เป็นภาวการณ์ที่ไตทำงานผิดปกติ หรือ มีการทำงานของไตที่ลดลง โดยดูจากค่าอัตราการกรองของไตที่ผิดปกติ ในระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการแต่เมื่อไตทำงานเสื่อมลงจนหน่วยไตเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 จะมีของเสียคั่งในกระแสเลือดและมีอาการต่าง ๆ ตามมา”

          โดยอาการที่สามารถสังเกตได้คือ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ขาบวมเมื่อกดลงไปจะเกิดรอยบุ๋ม รวมทั้ง มีความดันโลหิตสูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย โลหิตจาง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หอบเหนื่อย  และมีโอกาสชักหรือหมดสติได้ ในเพศหญิงมักมีการขาดประจำเดือนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ส่วนในเพศชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลง การสร้างอสุจิลดลง

          ’คนที่ไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรังมาก่อนแต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกัน โดยบางคนอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เป็นนิ่วที่ไตก็สามารถเกิดโรคไตได้ หรือว่ามีการอักเสบของหลอดเลือดฝอยที่ไต อย่าง โรคเอสแอลอี ที่เป็นหลอดเลือดฝอยอักเสบ โดยผู้ที่เป็นโรคในกลุ่มนี้มักจะมีอาการบวมแล้วก็มีเลือดออก รวมไปถึง เรื่องเกี่ยวกับการรับประทานยา โดยเฉพาะยาแก้ปวดทั้งหลาย จำพวกเอ็นเสท ยาแก้ปวดพวกแอสไพรินซึ่งหากกินมาเป็นเวลานานแล้วเรื้อรังก็อาจทำให้มีเรื่องของไตวายเข้ามาได้“

           นอกจากนี้ การรับประทานผลไม้บางประเภท เช่น มะเฟือง เชอรี่ ลูกเหนียง อาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตได้เหมือนกันหากรับประทานในปริมาณที่มาก เนื่องจากในมะเฟืองจะมีออกซาเลตสะสมอยู่มาก เป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่วได้ และหากเกิดการอุดตันในเนื้อไตและท่อไตอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ส่วนเชอรี่ เป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ในเมล็ดมีสารไฮโดรเจนไซนาไนต์ โดยเฉพาะเวลาเคี้ยว บด จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน วิตกกังวลและอาเจียน ทำให้มีปัญหาเรื่องหัวใจและความดันโลหิต

           นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ในผู้ป่วยบางรายถ้าตรวจเช็กดูแล้วพบว่า เป็นนิ่วและแก้ปัญหาได้ก็ไม่มีปัญหานำไปสู่การเป็นไตวายระยะสุดท้าย หรือหากเป็นไตอักเสบแล้วสามารถรักษาได้ก็ไม่มีปัญหาตามมา หรือแม้กระทั่งเป็นเบาหวาน ความดันสูง แต่ถ้าหากผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้ดีขึ้นได้ ก็จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ รวมถึง สาเหตุอื่น ๆ เช่น การรับประทานยาแก้ปวด ถ้าหยุดยาแก้ปวดได้จะเป็นการช่วยลดการเกิดเรื่องโรคไตได้ เพราะหากเป็นโรคนี้ขึ้นมาแล้วค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไม่ว่าจะเป็นล้างทางช่องท้อง หรือว่าไต เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนต่อคนต่อปี

           “สัญญาณที่บ่งชี้ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย คือ มีการเปลี่ยนแปลง เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดขึ้น เช่น ความดันสูงโดยจะมีโปรตีนรั่วออกมาซึ่งสามารถสังเกตได้จากปัสสาวะว่าเป็นฟองมากขึ้น หรือเป็นฟองนานผิดสังเกตหรือไม่ หรือเช็กอาการบวม ซึ่งจะพบได้ที่บริเวณก้นกบและหน้าแข้ง รวมทั้ง ที่บริเวณเท้า โดยอาการบวมจะนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ตึงขึ้น เมื่อกดแล้วจะบุ๋มลงไป”

           วิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน บางรายต้องงดอาหารเค็มและอาหารประเภทเนื้อสัตว์  รวมถึง ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียด จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ จนกระทบต่อไต พักผ่อนให้เพียงพอ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชะลอความเสื่อมของไต ที่ต้องงดเค็มเพราะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความดันสูงได้ง่าย

           ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นเบาหวานถ้าเป็นแล้วให้ควบคุมน้ำตาล หรือหากอยู่ในครอบครัวที่เป็นเบาหวานถึงแม้ไม่เป็นเบาหวานก็ต้องควบคุมน้ำตาลให้ดีเช่นกัน ส่วนผู้ป่วยบางรายขับเกลือไม่ได้จะมีอาการบวมจำเป็นต้องระวังเรื่องอาหารรสเค็มด้วย

           ในขณะที่ บางรายขับโพแทสเซียมเกลือแร่ไม่ได้ซึ่งจะมีอันตรายต่อหัวใจจึงจำเป็นต้องควบคุมอาหาร ผัก และผลไม้ เพราะโพแทสเซียมมีมากในผักและผลไม้ หรือในรายที่ไตเริ่มทำงานไม่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะต้องควบคุมสารฟอสเฟต มีอยู่มากในอาหารประเภทโปรตีน ถั่ว ช็อกโกแลตต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยโรคไตจะมีอาการไม่เหมือนกันทุกราย แต่ละคนต้องปรับสมดุลร่างกายในวิธีการที่แตกต่างกันไป

           สำหรับการดูแลตัวเองในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเพื่อไม่ให้ไตเสื่อมมากไปกว่าเดิมสามารถทำได้โดยการควบคุมความดันสูงของตัวเอง เพราะยิ่งมีความดันสูงมากขึ้นจะส่งผลทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น  และเมื่อใดก็ตามที่ไตมีอาการเสื่อมลงมาก ๆ จะพบว่า มีสารฟอสเฟตสูงในเลือด หากมีจำนวนมากขึ้น ๆ ก็จะไปจับกับแคลเซียมจนเกิดเป็นผลึกกลายเป็นแคลเซียมฟอสเฟตผลึก หากจับตัวกันไปผสมที่หลอดเลือดต่าง ๆ ทั้งหัวใจและไต จะทำให้ไตมีอาการแย่ลงไปอีก โดยแหล่งอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ นม ถั่วต่าง ๆ ธัญพืช เบียร์ เบเกอรี่ เค้ก พาย ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีเข้ม ชา กาแฟ ชา เต้าหู้ และไข่แดง.

รู้ทันความเสื่อมของร่างกายแต่ละช่วงวัย - เคล็ดลับสุขภาพดี

           ความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน แต่ก็จะมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาซ่อมแซม เป็นกลไกธรรมชาติของร่างกาย แม้กระทั่งเด็ก ๆ ก็สามารถเกิดความเสื่อมของร่างกายได้เช่นกัน แต่เป็นการเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่แสดงออกมาให้เห็นภายนอกอย่างชัดเจนเหมือนกับผู้ใหญ่ ที่เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของร่างกายก็เกิดมากขึ้นตามไปด้วย โรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิต มะเร็ง เป็นต้น ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าโรคเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นได้ในเด็กมากขึ้น สาเหตุทั้งจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหาร ที่เป็นตัวเร่งความเสื่อมของร่างกายให้เกิดเร็วขึ้นหรือเกิดก่อนวัยอันควร

           พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชะลอวัย จาก AddLife Anti-Aging Center ให้ข้อมูลว่าความเสื่อมของร่างกายเกิดจากร่างกายมีสารอนุมูลอิสระมากเกินควร สารอนุมูลอิสระเกิดจากสองแหล่งใหญ่ ๆ คือร่างกายเราเองเป็นผู้ผลิต ถ้าทานอาหารหวานจัด มันจัด แคลอรีสูง พักผ่อนน้อย ติดเชื้อบ่อย ก็จะมีสารอนุมูลอิสระมาก อีกแหล่งใหญ่คือ จากภายนอกร่างกาย เช่น แสงแดด มลพิษ ควันบุหรี่ เป็นต้น

           โดยเฉลี่ยคนเราจะเริ่มรู้สึกหรือมีอาการร่างกายเสื่อมเมื่ออายุประมาณ 30 ปี ซึ่งสังเกตได้จากอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับ ป่วยง่าย เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการเกิดความเสื่อมในร่างกายมีแนวโน้มจะเกิดกับคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลทำให้ร่างกายต้องเผชิญกับตัวเร่งความเสื่อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีดูแลตนเองจึงควรทานวิตามินเสริมให้เหมาะสม รวมทั้งการดูแลเรื่องอาหาร และการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถแบ่งได้ตามช่วงวัยดังนี้

           ช่วงวัยเด็ก เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต แต่ความเสื่อมก็อาจเกิดขึ้นได้ การรับประทานอาหารไม่ถูกวิธีทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ดังนั้นการสร้างสุขนิสัยที่ดีเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ วิตามิน เนื่องจากเป็นวัยที่เติบโตเร็ว จึงต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เช่น ธาตุเหล็กและแคลเซียม อาหาร ควรได้รับอาหารครบทุกหมวดหมู่โดยเฉพาะโปรตีน ผัก และผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง ซึ่งนอกจากจะได้ความสนุกสนานแล้ว ยังได้รับวิตามินดี ซึ่งจำเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง

           วัย 20 ปี  เป็นวัยเริ่มทำงาน มักนอนดึก พักผ่อนน้อย ไม่มีโอกาสดูแลเรื่องอาหาร แต่เนื่องจากอายุขัย ความเสื่อมอาจยังไม่มาก วิตามิน วัยนี้ร่างกายยังแข็งแรงแต่เรียนหนัก และยังไม่ใส่ใจกับการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินบี อาหาร ควรได้รับอาหารครบทุกหมวดหมู่ ออกกำลังกาย ยังเป็นวัยที่มีพลังงานมากอยู่ ควรออกกำลังกายประเภทกระตุ้นการทำงานของหัวใจเพื่อให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเต็มที่ เช่น แอโรบิก วิ่ง ว่ายน้ำ และเพิ่มมวลกระดูก มวลกล้ามเนื้อ ด้วยการยกน้ำหนัก

           วัย 30-40 ปี เริ่มสร้างครอบครัว มีภาระความรับผิดชอบค่อนข้างสูง ความเครียดเกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนเริ่มลดลง เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง วิตามิน วัยนี้มักเริ่มมีอาการเสื่อม เช่น อ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท ควรเสริมวิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี และโคเอนไซม์คิวเทน อาหาร การเผาผลาญอาหารเริ่มไม่ดี อ้วนง่าย ควรเริ่มระวังอาหารประเภทที่มีแคลอรีสูง ไขมันสูง และอาหารหวาน อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกาย ยังคงเลือกออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูก และกล้ามเนื้อ เช่น แอโรบิก  วิ่ง ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก

           วัย 50 ปีขึ้นไป อาการต่าง ๆ จะชัดเจนมากขึ้น เริ่มนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท สมรรถภาพทางเพศลดลง ผิวพรรณเริ่มมีริ้วรอยเ***่ยวย่น ตรวจสุขภาพเริ่มพบปัญหาไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน ความจำเสื่อม ซึ่งภาวะเหล่านี้ป้องกันได้ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ลดสารอนุมูลอิสระ รับประทานอาหารไม่หวานจัด มันจัด หรือเค็ม รับประทานวิตามินเสริมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงมลพิษ และได้รับฮอร์โมนทดแทนสูตรธรรมชาติตามที่ร่างกายต้องการ วิตามิน เริ่มมีอาการเสื่อม เช่น อ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท ควรเสริมวิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี โคเอนไซม์คิวเทน น้ำมันปลา วิตามินดี แคลเซียม แมกนีเซียม Alphalipoic Acid เป็นต้น ถ้ามีปัญหาเฉพาะเช่น นอนไม่หลับ ความจำลดลง ก็ต้องได้รับวิตามินเฉพาะสูตร อาหาร การเผาผลาญอาหารไม่ดีเหมือนเคย ควรทานอาหารที่ย่อยง่าย แคลอรีต่ำ หลีกเลี่ยง อาหารหวาน อาหารไขมันสูง และการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในแบบที่ไม่หักโหม เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำระยะทางใกล้ ๆ  หรือออกกำลังกายในน้ำเพื่อช่วยรักษาไขข้อ มวลกระดูก และมวลกล้ามเนื้อ.


****************************
ที่มา : www.dailynews.co.th

ออฟไลน์ chonlatz

  • medtech ปี 1
  • *
  • กระทู้: 2
    • อีเมล์
ข้อมูลมีประโยชน์มากครับ