ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. จัดกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก และแถลงผลดีดีซีโพล ครั้งที่ 5  (อ่าน 800 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
สธ. จัดกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก และแถลงผลดีดีซีโพล ครั้งที่ 5 : ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด (Raise Taxes on Tobacco)



          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์ต้านภัยยาสูบ-บุหรี่ให้เป็นไปในแนวทางและภายใต้ประเด็นการรณรงค์เดียวกันทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักคือ 2 ประการ ประการแรก เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับฐานโครงสร้างภาษีและเพิ่มภาษียาสูบ-บุหรี่ให้อยู่ในระดับที่สามารถลดปริมาณการบริโภคยาสูบ-บุหรี่ลงได้ และประการที่สอง ความมีส่วนร่วมของบุคคลและองค์กรภาคประชาสังคมในการลดนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงการป้องกันการยาสูบ-บุหรี่ของเด็ก เยาวชนและสตรี

          วันนี้ (28 พฤษภาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์    เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2014 วันที่ 31 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ว่า ทางองค์การอนามัยโลกและพันธมิตรกำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “Raise Taxes on Tobacco” ซึ่งประเทศไทยได้ขานรับแนวทางดังกล่าว และได้กำหนดคำขวัญภาษาไทยว่า “บุหรี่ : ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด” ภายใต้การที่อนุสัญญาการควบคุมยาสูบ ที่เสนอให้ประเทศต่างๆ ควรใช้นโยบายด้านภาษี และราคาของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพราะผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มภาษีจะมีประสิทธิภาพในการลดการบริโภคยาสูบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรายได้ต่ำ และป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่ ผลจากการเพิ่มภาษี ที่ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 รวมทั้งจะสามารถลดการบริโภคยาสูบได้ประมาณร้อยละ 4 ในประเทศที่มีรายได้สูง และช่วยลดการบริโภคยาสูบได้ถึงร้อยละ 8 ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ซึ่งในแต่ละปี บุหรี่คร่าชีวิตประชากรทั่วโลก จำนวนเกือบ 6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 600,000 ราย เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ถ้าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ คาดว่าในปี 2030 ประชากรมากกว่า 8 ล้านคนในทุกๆปี จะเสียชีวิตจากบุหรี่ และมากกว่าร้อยละ 80 ของการเสียชีวิตเหล่านี้จะเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ

        นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด โรคเรื้อรังต่างๆ ในคนไทย เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพอง มะเร็งปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยเหล่านี้เสียชีวิตปีละกว่า 50,000 คน ปี 2554  คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 9.9 ล้านคนสูบบุหรี่ประจำ เด็กไทย (อายุ 15-24 ปี) เริ่มสูบบุหรี่เร็วขึ้น โดยเริ่มสูบอายุเฉลี่ย 16.2 ปี ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินงานควบคุมการสูบบุหรี่ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อให้สอดคล้องกับพระะราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และสนับสนุน การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดย 3 ลด ประกอบด้วย 1.ลดนักสูบรายใหม่  2.ลดนักสูบรายเก่าในเขตชนบท โดยเฉพาะผู้สูบยาเส้น 3.ลดควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ที่สาธารณะ และบ้าน  ส่วน 3 เพิ่มได้แก่ 1.เพิ่มกลไกการป้องกันอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ  2.เพิ่มผู้ขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ จังหวัด และท้องถิ่น และ 3.เพิ่มนวัตกรรมการควบคุมยาสูบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผู้บริโภคยาสูบรายใหม่

     ทั้งนี้ การเพิ่มภาษีสรรพสามิตประเภทยาสูบ ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะสนับสนุนการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด โดยประเด็นการรณรงค์ คือ “Raise Taxes on Tobacco” หรือ “บุหรี่ : ภาษียิ่งเพิ่มคนตายยิ่งลด” ในวันงดสูบบุหรี่โลกนี้ กิจกรรมณรงค์จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2557 เวลา 11.00 – 19.00 น. ณ บริเวณ Cascata ชั้น G ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน และประทานรางวัล World No Tobacco Day Award 2014 และโล่ประกาศเกียรติคุณแก่เครือข่ายที่มีการดำเนินการดีเด่นตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ. 2555 – 2557 รวมทั้งบุคคลหรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ นอกจากนี้ จะกิจกรรมภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการ การให้บริการทางการแพทย์การให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ และกิจกรรมบันเทิงสอดแทรกสาระความรู้ต่างๆ การแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง และร่วมสนุกเล่นเกมส์ต่างๆ พร้อมทั้งรับของที่ระลึกอีกมากมาย

        ด้านนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ เรื่องบุหรี่ : ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด  ในชาวไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3,200 ราย ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ รวม 27 จังหวัด พบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างเพศชายสูบบุหรี่มากมากว่าเพศหญิง 2. กลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 31-45 ปี สูบบุหรี่มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ 3. สาเหตุส่วนใหญ่ที่สูบบุหรี่ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) คือ อยากลอง (ร้อยละ 50.3) รองลงมาคือคลายเครียด ร้อยละ 43.8 และเพื่อนชวน ร้อยละ 31.0 ตามลำดับ 4. ถ้าขึ้นราคาบุหรี่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ซื้อ ร้อยละ44.2 รองลงมา คือ จะซื้อ ร้อยละ 43.3 และเลิกสูบบุหรี่ ร้อยละ 7.2  และ 5. กลุ่มตัวอย่างทราบหรือไม่ว่า การเลิกบุหรี่ต้องทำอย่างไร กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าการเลิกบุหรี่ต้องทำอย่างไร ร้อยละ56.0  แต่ก็ไม่สามารถเลิกได้เนื่องมาจากไม่มีแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่มากพอ หรือสูบบุหรี่มานานแล้วจนไม่สามารถเลิกได้  6. ถ้ามีการขึ้นภาษีบุหรี่ เพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เห็นด้วย ร้อยละ 52.8 รองลงมาไม่เห็นด้วย ร้อยละ 30.9 และไม่แน่ใจ
ร้อยละ 16.3

       "การลดสิงห์รมควัน และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ นอกจากการเพิ่มภาษีสรรพสามิตประเภทยาสูบ ซึ่งเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะสนับสนุนการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุดแล้ว การดำเนินงานอื่นๆ ก็จะสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ และการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ได้ เช่น 1. ทุกหน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องควรออกเยี่ยมบ้านผู้ติดบุหรี่ที่ต้องการเลิก เพื่อให้ความรู้ให้กำลังใจ ช่วยแก้ปัญหา 2. ผู้นำในชุมชน เช่น กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยกันตักเตือนเมื่อเห็นผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและช่วยตักเตือนเมื่อเห็นผู้สูบบุหรี่ รวมทั้งช่วยกันให้กำลังใจผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และ 3.ครอบครัวควรอบรมให้ความรู้แก่บุตรหลาน ให้ความรัก เอาใจใส่ให้คำปรึกษาเวลาที่บุตรหลานมีปัญหา เป็นต้น ประชาชนผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ โทร.02-580-9354 ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ โทร 1600 จำนวน 27 คู่สาย มีผู้ใช้บริการ กว่า 1 แสนครั้ง และยังมีคลินิกที่ให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 " นายแพทย์นพพร กล่าวปิดท้าย


**************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/