ผู้เขียน หัวข้อ: การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี  (อ่าน 2742 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี
« เมื่อ: มิถุนายน 14, 2014, 11:24:50 am »
การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี

การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี (Hepatitis B Surface Antigen : HBsAg)

         ประเทศไทย เป็นประเทศที่เป็นถิ่นระบาดของ ไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี (Hepatitis B Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง และมะเร็งตับ

         จากการศึกษา พบว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในผู้ที่มีอายุไม่มาก ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการเหลืองชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ หรือเคยมีการติดเชื้อมาก่อน

         วิธีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ที่สำคัญ คือ การตรวจหา Hepatitis B surface Antigen (HBsAg) ในเลือด ซึ่งเป็นแอนติเจน (ตัวกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิต้านทานของร่างกาย) อยู่ที่ผิวของเชื้อไวรัส

สถิติในประเทศไทย ตรวจพบ HBsAg เป็นผลบวก ร้อยละ 6-10

         ในผู้ที่ตรวจเลือด พบว่า มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี ในเลือด (HBsAg Positive) เพียงครั้งเดียว หรือตรวจพบเป็นครั้งแรก อาจจะเป็นผู้ที่เพิ่งได้รับเชื้อมาใหม่ๆ ซึ่งอาจจะหาย และตรวจไม่พบเชื้อในเวลาต่อมา เพราะฉะนั้นถ้าตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือด ให้ตรวจเลือดติดตามดูอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ถ้าหลังจาก 6 เดือน นับจากตรวจพบเชื้อครั้งแรกแล้ว ยังคงตรวจพบเชื้อในเลือดอยู่อีก จึงจะถือว่า ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในกลุ่มที่เป็นพาหะเรื้อรังของไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี และส่วนใหญ่จะพบเชื้อในเลือดตลอดไป

         ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้น และมีสุขภาพดีเหมือนคนทั่วไป จะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีตับอักเสบเรื้อรังร่วมด้วย ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจเลือด พบว่ามีเอนไซม์ SGOT และ SGPT สูงกว่าปกติ ซึ่งกลุ่มนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ต่อไป แพทย์จะวินิจฉัยว่ามีการอักเสบเรื้อรังของตับจะต้องมีหลักฐานว่า การอักเสบมีต่อเนื่องกัน ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยดูจากผลการตรวจเอนไซม์ตับ SGOT, SGPT พบว่าสูงกว่าปกติมากกว่า 2 เท่าขึ้นไป นานกว่า 6 เดือน ซึ่งกรณีนี้อาจจำเป็นต้องให้การรักษาเฉพาะเพิ่มเติมต่อไป

ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบ ควรปฏิบัติตัวดังนี้

1. ไม่ดื่มเหล้า (คือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งไวน์, เบียร์)

2. พักผ่อนให้เพียงพอ นอกให้พอ ไม่ใช่นอน ตี 1 – ตี 2 ทุกคืน คือ อย่าให้ร่างกายโทรม

3. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เช่น เดิน 3-5 กิโลเมตร สัปดาห์ละ 3-4 วัน หรือ ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ถ้าแข็งแรงความต้านทานโรคจะดีแน่

4. เลี่ยงอาหารที่มีเชื้อรา เพราะสารอัลฟาร์ทอกซินของเชื้อรา ทำให้เกิดมะเร็งตับในสัตว์ทดลอง เชื้อนี้มักพบในอาหารจะเก็บไว้ในที่ชื้นนานๆ พบมากในถั่วลิสง พริกป่น

5. หลีกเลี่ยงยา หรือสารที่เป็นอันตรายต่อตับ เมื่อจะรับประทานยา ควรปรึกษาแพทย์

6. ป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิด

          ไวรัสอับอักเสบ ติดต่อสู่บุคคลอื่น ทางเลือด น้ำเหลือง และเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ไม่ติดต่อจากการรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยกัน หรือจับมือกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีเชื้อไวรัส บี ในเลือดสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เหมือนคนปกติทุกประการ แต่สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ภรรยา บุตร ถ้ายังไม่มีภูมิต้านทานก็ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบถ้วน

การตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี (Hepatitis B Surface Antibody : HBsAb)

          การตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี คือ ตรวจ Hepatitis B surface Antibody : HBsAb (ถ้าตรวจหาเชื้อไวรัสจะตรวจหา Hepatitis B surface Antigen : HBsAg) ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว จะพบ HBsAb ให้ผลบวก

          ผู้ตรวจพบมีภูมิคุ้มกันแล้ว แสดงว่า เคยได้รับเชื้อมาก่อน และหายเรียบร้อยดี หรือเคยได้รับการฉีดวัคซีนมาครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว

          เมื่อตรวจพบว่า มีภูมิคุ้มกันแล้ว ถือว่าสามารถป้องกัน ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิด บี ได้ตลอดชีวิต

          แต่ในผู้ที่ฉีดวัคซีน อาจจะมีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นไม่สูงนัก และระดับภูมิคุ้มกัน อาจจะค่อยลดลงจนอาจตรวจไม่พบในระยะเวลาต่อมาได้ แต่ถึงแม้จะตรวจให้ผลลบ

          ในทางการแพทย์ พบว่า ยังมีคุ้มกันเพียงพอที่จะป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัส บี ได้ เพราะภูมิคุ้มกันในระดับต่ำจนตรวจไม่พบนี้ จะเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วทันที ถ้ามีเชื้อไวรัส บี เข้าสู่ร่างกาย

          อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่ตรวจสอบ พบว่าระดับภูมิคุ้มกันของตนเอง ลดต่ำลงตามที่กล่าวมาแล้ว อาจเพิ่มความมั่นใจ ด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มอีก 1 เข็ม ก็ได้


*******************************
ที่มา : โดย นพ. วิชัย จตุรพิตร ผู้อำนวยการ ศูนย์แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์กรุงเทพ