ผู้เขียน หัวข้อ: โคเลสเตอรอล (CHOLESTEROL)  (อ่าน 2885 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
โคเลสเตอรอล (CHOLESTEROL)
« เมื่อ: มิถุนายน 18, 2014, 05:39:57 am »
โคเลสเตอรอล (CHOLESTEROL)


           โคเลสเตอรอล (CHOLESTEROL) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่พบในเลือด แม้ไม่สามารถให้พลังงานแก่ร่างกายได้ แต่ก็มีประโยชน์ในการสร้างกรดน้ำดีซึ่งช่วยในการย่อยอาหาร สร้างฮอร์โมนบางชนิด และวิตามินดี รวมทั้งเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ ตับสร้างไขมันโคเลสเตอรอลได้ แต่เมื่อใดที่โคเลสเตอรอลในเลือดมีมากเกินความต้องการของร่างกาย คือ มากกว่า 200 mg/dl โคเลสเตอรอลเหล่านี้มีโอกาสไปสะสมใต้ผนังหลอดเลือดด้านในมากขึ้นทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตันในที่สุด

           โคเลสเตอรอลในเลือดจึงให้ทั้งคุณและโทษ และจะเป็นการดีอย่างยิ่งหากวันนี้เรารู้ระดับโคเลสเตอรอลของตนเอง เพื่อทำการป้องกันปัญหาโรคหลอดเลือดแดงตีบตันในอนาคตตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ ยังมีไขมันอีกชนิดหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำความรู้จักให้ดีก็คือ ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งทำหน้าที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยร่างกายรับไตรกลีเซอไรด์ได้โดยตรงจากการกินอาหารประเภทไขมัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่หากร่างกายสะสมไตรกลีเซอไรด์มากเกินไป จะเร่งการสะสมโคเลสเตอรอลใต้ผนังหลอดเลือด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้

โคเลสเตอรอลในเลือดมาจากไหน ?

          หลายๆ ท่านคงคิดว่าปริมาณของโคเลสเตอรอลในเลือดจะสูงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโคเลสเตอรอลสูงได้ เรามาดูกันว่าโคเลสเตอรอลมากจากไหนได้บ้าง

• จากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

           โดยอาหารที่มีผลกระทบต่อปริมาณโคเลสเตอรอล ได้แก่ อาหารที่มีโคเลสเตอรอลร่วมอยู่ด้วย ซึ่งมีอยู่ในอาหารที่มาจากสัตว์ทุกประเภทโดยปริมาณโคเลสเตอรอลแตกต่างกันตามชนิดและอวัยวะ โดยเครื่องในสัตว์และไข่แดง (ทุกประเภท) จะมีปริมาณโคเลสเตอรอลสูงมาก

• จากการสร้างขึ้นเองของร่างกาย

ร่างกายสามารถสังเคราะห์โคเลสเตอรอลขึ้นมาได้จากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต, โปรตีน, และไขมัน โดยเฉพาะจากไขมันอิ่มตัว อาจสรุปได้ว่าระดับโคเลสเตอรอลในเลือดจะเปลี่ยนแปลงได้จากการรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอล และอาหารประเภทไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงๆ รวมถึงผลทางอ้อมจากการรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย

ไขมันในเลือดมีกี่ชนิด ?

มีอยู่หลายชนิด แต่ที่สำคัญและควรทราบมี 3 ชนิด คือ

1. แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล (LDL Cholesterol)

ไขมันตัวนี้เปรียบเสมือน “ตัวผู้ร้าย” ถ้ามีปริมาณมากจะสะสมอยู่ในหลอดเลือดแดงเป็นต้นเหตุของหลอดเลือดแดงแข็ง ยิ่งระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงมากเท่าไหร่ อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

2. เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL Cholesterol)

เปรียบเสมือน “ตำรวจ” คอยจับผู้ร้าย เพราะเป็นตัวกำจัด แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ออกจากหลอดเลือดแดง การมีระดับเอช ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

3. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride : TG)

เป็นไขมันอีกประเภทหนึ่งในกระแสเลือด เปรียบเสมือน “ผู้ช่วยผู้ร้าย” คนที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงพร้อมกับระดับ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอลต่ำ หรือ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

โคเลสเตอรอล…สูงหรือต่ำ วัดกันอย่างไร?

วิธีดูว่าใครมีโคเลสเตอรอลสูง ทางการแพทย์จะเทียบกับค่าที่พึงปรารถนาของระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ซึ่งค่าดังกล่าวขึ้นกับว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ถ้ายังไม่เป็น… ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงนอกจาก แอล ดี แอล มีดังนี้

1. อายุ : ชายมากกว่า 45 ปี หญิงมากกว่า 55 ปี

2. ญาติสายตรงป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร (ชายก่อนอายุ 55 ปี หญิงก่อนอายุ 65 ปี)

3. ความดันโลหิตสูง

4. สูบบุหรี่

5. เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 mg/dl





หากสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลรวมลงได้ 1 % จะสามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้ 2 %

สาเหตุที่ทำให้โคเลสเตอรอลสูง

มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ

•อาหาร

การบริโภคอาหารประเภทไขมันอิ่มตัวมากเกินไป

การบริโภคอาหารที่มีโคเลสเตอรอลมากๆ

การบริโภคอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย

•พันธุกรรม

•โรคและยา

เช่น โรคไต เบาหวาน ยาบางชนิด เป็นต้น

ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าโคเลสเตอรอลสูง

การรักษาเพื่อลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ในบางคนเพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็สามารถช่วยได้ ในขณะที่บางคนอาจต้องพิจารณาใช้ยาลดระดับโคเลสเตอรอลควบคู่กันไป

ลดระดับโคเลสเตอรอลด้วยอาหาร

การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการถือเป็นรากฐานสำคัญในการป้องกัน และรักษาโคเลสเตอรอลในเลือดสูงที่ดีที่สุด โดยมีหลักปฏิบัติสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

1.ลดปริมาณไขมันที่รับประทานให้น้อยลง

2.หลีกเลี่ยงอาหารที่กรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน มันสัตว์ต่างๆ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ นม เนยแข็ง ครีม ฯลฯ

3.รับประทานกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากขึ้น ซึ่งได้จากน้ำมันพืชต่างๆ เพราะน้ำมันพืชมีกรดไลโนเลอิกมาก สามารถลดโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้

4.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ กุ้ง ปลาหมึก หอย

5.รับประทานอาหารที่มีเส้นใยให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล

6.รับประทานอาหารที่มีโปรตีนอย่างเหมาะสม เช่น ปลาต่างๆ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นวิธีการหนึ่งที่มีส่วนช่วยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลลดลง เพิ่ม HDL โคเลสเตอรอล และสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายอีกด้วย โดยวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมในการช่วยให้หัวใจและปอดแข็งแรง คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่าย น้ำ ขี่จักรยาน อย่างต่อเนื่องนาน 20-50 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง กีฬาบางประเภท เช่น กอล์ฟ เทนนิส แม้จะช่วยเผาผลาญพลังงาน แต่ไม่จัดเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค

เมื่อต้องการเลือกใช้ยาลดโคเลสเตอรอล

•Bile Acid Sequestrans

มีลักษณะเป็นผง เวลารับประทานต้องผสมกับน้ำ ยาชนิดนี้จะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจึงไม่มีผลต่อตับ แต่รสชาติไม่อร่อยและมีผลแทรกซ้อนทางลำไส้บ่อย เช่น ท้องอืด ท้องผูก สามารถลดโคเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง แต่มีผลต่อไตรกลีเซอไรด์ และ เอช ดี แอล น้อย

•Niacin

แม้จะมีประสิทธิภาพลดโคเลสเตอรอลได้ดี แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้มากนักเนื่องจากมีผลแทรกซ้อนมาก อาทิ อาการร้อนวูบวาบเนื่องจากการขยายหลอดเลือดแดง ความดันโลหิตต่ำน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหรือควบคุมได้ยากขึ้น กรดยูริคสูงขึ้น อาจทำให้ตับอักเสบรุนแรง Niacin รูปแบบที่ออกฤทธิ์นานอาจช่วยลดผลแทรกซ้อนดังกล่าวลงได้บ้าง

•Statins

ยากลุ่มนี้นอกจากลดโคเลสเตอรอลได้ดีมากแล้ว ยังเชื่อว่ามีผลดีต่อหลอดเลือดแดง โดยกลไกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลดไขมันด้วย ยานี้จึงสามารถใช้เป็นกลุ่มแรกสำหรับผู้ที่มีโคเลสเตอรอลสูง นอกจากนี้ยังสามารถลดไตรกลีเซอไรด์ได้พอสมควร และเพิ่ม เอช ดี แอลได้ด้วย แต่ก็มีผลแทรกซ้อนบ้างเล็กน้อยต่อการเกิดตับอักเสบและกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง ซึ่งพบในอัตราที่ต่ำมาก ยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับที่ยังดำเนินอยู่ (Active Liver Disease)

•Fibrates

เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานที่มักจะมีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และ HDL ต่ำ และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับ


*****************************
ที่มา :  นพ. วิชัย จตุรพิตร ผู้อำนวยการ ศูนย์แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์กรุงเทพ