ผู้เขียน หัวข้อ: ประชุมวิชาการ มข.จัดใหญ่ เผยนวัตกรรมใหม่ ลดอัตราผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม  (อ่าน 1962 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
ประชุมวิชาการ มข.จัดใหญ่ เผยนวัตกรรมใหม่ ลดอัตราผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม


            คณะเทคนิคการแพทย์แถลงข่าวงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ  มีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย รศ.ดร.เกรียงไกร  กิจเจริญ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์  และ รศ.ดร.วิชัย  อึงพินิจพงศ์  นักวิจัยด้านกายภาพบำบัด  โดยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมงานอย่างล้มหลาม  ณ ห้องสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
            ทั้งนี้ได้มีการเปิดตัวผลงานวิจัย เรื่อง ตะขอนวดตัววิไล ภูมิปัญญาไทยเพื่อนวดตนเอง  โดยรองศาสตร์ตราจารย์ ดร.วิชัย  อึงพินิจพงศ์   นำเป็นงานวิจัยที่โดดเด่นด้านกายภาพบำบัด เนื่องจากตะขอนวดตัววิไล เป็นอุปกรณ์พิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับให้ผู้ป่วยนวดตนเอง โดยเฉพาะบริเวณหลัง เอว คอ และสะโพก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยได้บ่อย
            รศ.ดร.วิชัย  อึงพินิจพงศ์ นักวิจัยด้านกายภาพบำบัด เผยว่า แนวคิดของการสร้างอุปกรณ์ชนิดนี้มาจากการพยายามช่วยเหลือผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยหลังและคอให้สามารถดูแลรักษาตนเองได้ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดและการนวดไทย  เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษา  โดยใช้หลักการออกแบบทางชีวกลศาสตร์ คือควบคุมทิศทางและค้นหาจุดปวดได้ง่าย  โดยได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างพบว่าให้ผลดีในการลดปวดและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลัง   เทียบเท่ากับการกดนวดด้วยมือ
           “การมาโรงพยาบาลแต่ละครั้งมันเป็นปัญหาอุปสรคของเขามากเลยทีเดียว  ผมจึงคิดว่าทำอย่างไรผู้ป่วยจึงจะช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น จึงเป็นโจทย์สำหรับเราว่า ถ้าเขาสามารถนวดตัวเองได้ สอนจุดนวดต่างๆ และสร้างอุปกรณ์นวดขึ้นมา เขาสามารถเอาไปใช้ดูแลแลตัวเองได้ สำหรับคนที่อยู่ไกลมาก จากประสบการณ์การเป็นหมอมาทั้งชีวิต เราพบว่า ผู้ป่วยมาไกลมาก จาก อุบล สงขลา กรุงเทพ  กว่าจะมารักษา แต่ละครั้งก็ลำบาก และสิ้นเปลืองงบประมาณ  ฉะนั้น ตะขอนี้จะช่วยได้มากทีเดียวลดปัญหาที่จะดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง” รศ.ดร.วิชัย  กล่าว
            จากการวิจัยพบว่าประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะในชนบท มีปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเกิดจากการทำงานในชีวิตประจำวัน เช่น ทำไร่ นา และรับจ้างเป็นกรรมกร  และจากการสำรวจพฤติกรรมการรักษาพบว่าทางออกของผู้ป่วยส่วนใหญ่คือการพึ่งยาชุดและยาแก้ปวดเมื่อยต่างๆ ซึ่งมักเป็นยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ อาทิ ระคายกระเพาะอาหารและลำไส้ ท้องผูก ภูมิคุ้มกันลดลง และไตวาย  ไม่เฉพาะผู้ป่วยในชนบทเท่านั้น แต่อุปกรณ์นี้ยังสามารถใช้ได้กับพนักงานออฟฟิศ ผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย ตะขอนวดตัววิไลจึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหมาะกับทั้งในแบบชีวิตของคนเมือง และชนบท
             รศ.ดร.วิชัย  ยังกล่าวต่ออีกว่า ตะขอนวดตัววิไล เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพื่อบำบัด และสามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก  เช่น การทำงานหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และผิดท่า  ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกอาชีพไม่ได้ แต่ควรเลือกวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกๆ 1 หรือ 2 ชั่วโมง เมื่อปัจจัยที่เป็นต้นเหตุถูกกำจัดออกไป  โรคภัยจะหายขาดในที่สุด
          ตะขอนวดตัววิไล ถูกออกแบบให้เป็นรูปวอแหวน (ว.) เพื่อให้ใช้งานง่าย โดยตั้งชื่อว่า วิไล เนื่องจากอุปกรณ์มีลักษณะคล้าย วอแวน  ทั้งนี้โอกาสจะเกิดอันตรายจากการใช้อุปกรณ์มีน้อยมากเนื่องจากผู้ป่วยสามารถเลือกลงน้ำหนักนวดเฉพาะจุดได้ด้วยตนเอง  การนวดตนเองจึงเป็นการนวดที่สามารถผ่อนแรงหนักเบาได้ตามความต้องการ และมีคู่มือประกอบการใช้งาน ปัจุบันตะขอนวดตัววิไล  มีจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์เฉพาะคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีอัตรากำลังผลิต 300 ตัวต่อเดือน ทั้งนี้มีแนวโน้มในการขยายกำลังผลิตเพื่อให้พอต่อความต้องการของตลาดในอนาคต
         “อุปกรณ์ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย  โอกาสที่จะผิดจุดนั้น เป็นไปได้ยากมาก  เรามีคู่มือการใช้งาน แต่ให้หลักการง่ายๆ คือ กล้ามเนื้อหลัง ของคนเรามัน แผ่กระจาย อยู่ข้างๆ กระดูกสันหลังเวลากด กดเนื้อข้างกระดูก เป็นแนว สำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี แต่ถ้าคนปวดหลังไม่ต้องบอกเลย  เขาสามารถรู้ได้เลย การนวดด้วยตนเองอันตรายน้อยเพราะตนเองจะเป็นคนที่ รู้และกำหนดความแรง พอเหมาะ พอดีของตนเองได้ ถ้าเบามากก็ปรับให้หนักได้ ถ้าหนักเกินไปก็ปรับให้เบาได้ ด้วยแรงของตนเอง  ถ้าผิดจุดเบี่ยงซ้าย เบี่ยงขวา มารถควบคุมจุดนวดของตนเองได้  จะต่างกับถ้าให้คนอื่นทำ ถึงแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ บางครั้งก็อาจจะหนักไป เบาไปได้ ถ้าทำได้ด้วยตนเองดีที่สุด”
             นอกจากผลงานเรื่องตะขอนวดตัววิไลแล้ว  ภายในงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ยังมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติมากมาย  อาทิ เทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัดกับสังคมผู้สูงอายุ การฟ้องร้องกับเวชปฏิบัติทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด กรณีศึกษา ความรู้ก้าวหน้าทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด,โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล : ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ โรคระบาดใหม่ ความเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข การแพร่ระบาดของยีนดื้อยาระดับโลก

           รศ.ดร.เกรียงไกร  กิจเจริญ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์  กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ของคณะเทคนิคการแพทย์ครั้งนี้ เป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 36 ปี คณะเทคนิคการแพทย์ และฉลองในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการอุทิศเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นโอกาสดีที่จะแสดงศักยภาพด้านการบริการวิชาการแก่สังคม ในการนำวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นผลงานของคณาจารย์และนักศึกษาของคณเทคนิคการแพทย์
          ทั้งนี้ คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีกำหนดจัดงานประชุมวิชาการระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2557  ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  โดยแบ่งเป็น ระดับนานาชาติ  2 หัวข้อ คือ “Update on infection, immunity and vaccines” ระหว่างวันที่ 13-14 และหัวข้อ “International Medical Sciences Conference 2014 : Translational Research form Molecular Basis to Health Care” ระหว่างวันที่ 15-17 และมีกำหนดจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครบรอบ 36 ปี คณะเทคนิคการแพทย์ ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2557 พร้อมกันนี้ยังมีการจัดงานศิษย์เก่าคืนสู่เหย้า ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 เพื่อแสดงความก้าวหน้าทางด้านการวิจัยในการนำไปกใช้ประโยชน์ รวมทั้งเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านโรคติดเชื้อ วีคซีน ธาลัสซีเมีย มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด อณูชีววิทยาจากงานวิทยาศาสตร์พื้นฐานสู่การนำไปใช้ทางสาธารณะสุข และด้านกายภาพบำบัด ณ โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น

          สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เว็บไซด์ http://36ams.kku.ac.th ติดต่อสอบถามทางอีเมล์ info.36amskku@gmail.com หรือ โทรศัพท์ 0 43 20 2309

















ข่าว/ภาพ : จิราพร  ประทุมชัย , วารุณี เขลาขุนทด


*******************************
ที่มา : http://ams2.kku.ac.th/thai/