ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ห่วงนักท่องเที่ยว นอนพักแคมป์ในป่า ระวัง “ตัวไรอ่อน” กัด เสี่ยงป่วยสครับไทฟัส  (อ่าน 535 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
สธ.ห่วงนักท่องเที่ยว นอนพักแคมป์ในป่า ระวัง “ตัวไรอ่อน” กัด เสี่ยงป่วยสครับไทฟัส อันตรายถึงชีวิต


กระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวนอนพักแคมป์ในป่าช่วงฤดูหนาว  ระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส ปีนี้พบป่วยแล้ว 8,000 ราย เสียชีวิต 5 ราย  แนะประชาชนที่จะไปท่องเที่ยวตั้งแคมป์ไฟ กางเต๊นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ หรือป่าละเมาะ แต่งกายให้มิดชิด หลังกลับจากเที่ยวป่าภายใน 2  สัปดาห์หากป่วยมีไข้ขึ้นสูงปวดศีรษะ และมีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที พร้อมแจ้งประวัติเที่ยวป่า อย่าปล่อยไว้นาน หากรักษาช้าอาจเสียชีวิตได้ 

          นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูหนาว ประชาชนมักนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในป่า เนื่องจากมีอากาศหนาวเย็น ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ  แนะนำประชาชนให้ระมัดระวังคือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือไข้รากสาดใหญ่ โรคนี้เกิดจากการถูกตัวไรอ่อนกัด ส่วนใหญ่จะถูกกัดบริเวณในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้ หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ตาแดง ปวดกระบอกตา ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 50 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ พบประมาณ 1 ใน 5 เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้
          ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้พบผู้ป่วยได้ตลอดปี มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า จะพบมากในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว  โดยตัวไรแก่จะชอบอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต กระจ้อน หรือคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคสครับไทฟัส โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 - 16 พฤศจิกายน 2557 ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 8,000ราย เสียชีวิต5รายภาคเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุด3,013 รายรองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ2,461ราย ผู้ป่วยเกือบร้อยละ90 อาศัยในเขตชนบทและป่าเขา โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายได้ 
          ในการป้องกันโรคนี้ ขอให้ประชาชนที่จะไปท่องเที่ยวตั้งแคมป์ไฟ กางเต๊นท์นอนในป่า  ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ แต่งกายให้มิดชิด ควรสวมรองเท้า สวมถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง ทายาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา หลังออกจากป่าให้รีบอาบน้ำให้สะอาด และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้ และภายหลังจากกลับจากเที่ยวป่าหรือกางเต็นท์นอนตามสนามหญ้า ภายใน 2 สัปดาห์หากป่วย มีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ หรือตรวจพบสะเก็ดแผลที่มีรอยไหม้คล้ายถูกบุหรี่จี้ที่ผิวหนัง ขอให้คิดถึงโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต และหากตรวจพบว่าเป็นโรคสครับไทฟัส ให้รับประทานยาปฏิชีวนะครบถ้วนตามแพทย์สั่ง และไปติดตามผลการรักษาตามนัด




************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/moph2/index4.php