ผู้เขียน หัวข้อ: คกก.เอดส์ชาติ ยกการยุติเอดส์เป็น “วาระแห่งชาติ"  (อ่าน 474 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
คกก.เอดส์ชาติ ยกการยุติเอดส์เป็น “วาระแห่งชาติ”เพิ่มงบปีละ 1,700 -1,900 ล้านบาท เปิดรักษาฟรี หวังใน 16 ปี ปิดฉากโรคเอดส์!!


คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เห็นชอบเสนอการยุติปัญหาเอดส์ เป็นวาระแห่งชาติ เปิดแผนปฏิบัติการ 5 ปี ลดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และการใช้สารเสพติด เพิ่มกรอบงบประมาณเพิ่มเติมอีกปีละ 1,700 - 1,900 ล้านบาท ใช้มาตรการรณรงค์กลุ่มเสี่ยง ตรวจเลือดหาการเชื้อเอชไอวี ฟรีที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง ให้รู้สถานะตัวเอง หากติดเชื้อจะให้กินยาต้านไวรัสทันที เพื่อปิดฉากโรคนี้ ภายในพ.ศ. 2573 ข้อมูลล่าสุดไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงปีละ 7,000 กว่าคน ส่วนเด็กทารกติดเชื้อจากแม่ลดลงจาก 10 ปีก่อน 30 เท่าตัว               

   วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ  ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2557 ว่า ในวันนี้ ที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การเสนอให้การยุติปัญหาเอดส์เป็นวาระแห่งชาติ ให้ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ให้มุ่งเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ เพื่อยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS Epidemic) ให้โรคเอดส์เป็นศูนย์พร้อมกันทั่วโลก ภายในพ.ศ.2573 เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติปี พ.ศ. 2554
             2.กำหนดให้เรื่องเอดส์ เป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงในปีงบประมาณ 2558  3.เห็นชอบยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ พ.ศ.2557-2559 ซึ่งมีมาตรการคือการรักษาผู้ติดเชื้อทุกรายและกินยาอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 90 ขยายการป้องกันผสมผสานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มหลัก คือกลุ่มชายรักเพศเดียวกัน พนักงานบริการ  ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด ครอบคลุมร้อยละ 90 รณรงค์การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งแผนปฏิบัติการและกรอบงบประมาณลงทุนเพื่อยุติปัญหาเอดส์ 5 ปี พ.ศ. 2558-2562  ซึ่งคาดว่าจะมีการขอตั้งงบประมาณในงานด้านเอดส์เพิ่มเติมจากที่ใช้ในปัจจุบัน อีกปีละ 1,700 - 1,900 ล้านบาท และ4.มีมติให้พัฒนายุทธศาสตร์การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาได้ 3 เรื่อง คือการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ใช้สารเสพติดลดลง ลดปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดด้วย ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้ จะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้คือภายในพ.ศ.2573 หรือในอีก 16 ปี
         
   ศ. ดร.ยงยุทธกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานับว่ามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ของไทยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ อาทิ การที่ไทยแสดงออกชัดเจนว่าจะดูแลจัดการปัญหาเอดส์ด้วยตนเอง โดยไม่พึ่งพางบประมาณจากภายนอก ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยั่งยืน เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ทำงานเอดส์จากทุกภาคส่วน โดยระดมทรัพยากรและสนับสนุนงบประมาณเพิ่มจากแหล่งทุนภายในประเทศ ทั้งจากส่วนกลางและภาคท้องถิ่น อาทิ การขยายขอบเขตกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ครอบคลุมงานด้านการป้องกัน ซึ่งคาดว่าจะขอรับงบประมาณอีกปีละ 200 ล้านบาท เพื่อทดแทนงบประมาณจากกองทุนโลกฯ ที่ปัจจุบันลดลงมาก และจะสิ้นสุดในปี 2559 นี้ เชื่อมั่นว่า การทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วน จะทำให้ไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่สามารถยุติปัญหาเอดส์ได้สำเร็จ 
    ด้าน ศ. นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์  (Ending AIDS) ใน 16 ปี ข้างหน้า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมาย 4  ประการ ได้แก่ ไทยจะไม่มีเด็กที่คลอดมาแล้วติดเชื้อเอชไอวีจากแม่ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปีละไม่เกิน 1,000 ราย ซึ่งลดลงกว่าปัจจุบันร้อยละ 90 ผู้ติดเชื้อทุกคนเข้าถึงบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยในปี 2557 นี้ จะใช้ 2 มาตรการสำคัญควบคู่กัน คือส่งเสริมการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย และการให้ผู้ติดเชื้อทุกคนเข้าถึงบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟรี  รณรงค์ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงมาเจาะเลือดตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้รู้สถานะการติดเชื้อ และเริ่มให้ยาต้านไวรัสรักษาเร็วขึ้นทุกราย ไม่ว่าผู้ติดเชื้อจะมีระดับเม็ดเลือดขาวซีดี 4 เท่าใดก็ตาม จากเดิมจะเริ่มให้ยาเมื่อมีระดับซีดี 4 ต่ำกว่า 350 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ในกลุ่มทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อทุกราย จะวินิจฉัยการติดเชื้อให้เร็วที่สุดภายในอายุ 2 เดือน เพื่อเริ่มให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด 
    “มีข้อมูลการวิจัยล่าสุดพบว่า การให้ยาต้านไวรัสผู้ติดเชื้อเอชไอวีแต่เนิ่นๆ และรักษาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายมีน้อยมาก สามารถป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีลงได้ถึงร้อยละ 96 ซึ่งจะช่วยป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ตามแนวคิด การรักษาถือเป็นการป้องกันด้วย ซึ่งไทยเป็นประเทศต้นๆ ในโลกที่ประกาศใช้มาตรการนี้ในระดับประเทศ”ศ.นพ.รัชตะกล่าว
             ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน อบรมแพทย์/บุคลากรทางการ แพทย์ เพื่อจัดบริการ ทั้งเรื่องการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแบบรู้ผลวันเดียว  การดูแลรักษา และการเสนอเพิ่มยาต้านไวรัสบางรายการเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ  การเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีให้กับผู้ติดเชื้อที่มีเม็ดเลือดขาวซีดี 4  ทุกระดับ เป็นสิทธิประโยชน์ทุกระบบประกันสุขภาพทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการรักษา เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 เป็นต้นไป
             ทั้งนี้ จากการคาดประมาณสถานการณ์ระบาดของเชื้อเอชไอวีของประเทศไทย พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นผู้ใหญ่สะสมราว 1,194,515 คน ในจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่ 438,629 คน  และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,695 คน โดยในปีงบประมาณ 2556 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส  246,049 คน คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อฯ ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวซีดี4 ต่ำกว่า 350 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน  สำหรับการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกพบว่า มีเด็กติดเชื้อแรกคลอดเพียงปีละประมาณ 130 ราย ลดลงจากช่วง 10 ปีก่อนประมาณ 30 เท่าตัว
             นอกจากนี้ ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม จัดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 14 และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา : ร่วมยุติปัญหาเอดส์ และเพศสัมพันธ์”เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานด้านโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นดัชนีบอกความเสี่ยงของการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 17 -19 ธันวาคม 2557 ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี











*************************
่ที่มา : http://www.moph.go.th/moph2/index4.php