ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ทุ่มงบ 1,500 ล้านบาท สร้างศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ มะเร็ง ทารกแรกเกิด อุบัติเหต  (อ่าน 459 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
สธ.ทุ่มงบ 1,500 ล้านบาท สร้างศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ มะเร็ง ทารกแรกเกิด อุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่ จ.นครสวรรค์


กระทรวงสาธารณสุข จัดสรรงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ก่อสร้างโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรรค์ แห่งใหม่ และเป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ทารกแรกเกิด และอุบัติเหตุฉุกเฉิน มีบุคลากร เครื่องมือแพทย์ทันสมัย รักษาผู้ป่วยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชรและพิจิตร ประชาชนได้รับการรักษาทันเวลา ลดเสียชีวิตและความพิการ คาดจะเปิดให้บริการได้ในอีก 5 ปี   
 
เช้าวันนี้ (28 พฤศจิกายน 2557)  นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงพยาบาล (รพ.) สวรรค์ประชารักษ์แห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 197 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา ต.นครสวรรค์ออก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ได้รับความร่วมมือจากกองทัพบก   ประกอบด้วยอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ ขนาด 5 ชั้น อาคารรังสีรักษาโรคมะเร็ง โดยใช้งบประมาณกว่า 225 ล้านบาท ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2557 กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559     
 
นายแพทย์ณรงค์  กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณวงเงิน 1,500  ล้านบาท ลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์แห่งใหม่ ระหว่างพ.ศ. 2557-2561  เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งเฉพาะรังสีรักษา ทารกแรกเกิด และด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ประจำเขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งมีเครือข่ายบริการร่วม 5 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร และพิจิตร เป็นไปตามแผนการจัดบริการประชาชนในสาขาโรคเฉพาะทางอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากรพ.แห่งเดิมที่ใช้งานขณะนี้ สถานที่คับแคบมาก ไม่สามารถขยายบริการประชาชนตามที่ควรจะเป็น ต้องส่งต่อผู้ป่วยบางส่วนประมาณร้อยละ 10 ไปรักษาข้ามเขตในกทม.หรือโรงพยาบาลในเขตอื่นๆ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เป็นภาระค่าใช้จ่ายของญาติในการดูแลผู้ป่วยนอกพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ได้รับการรักษาตามนัดอย่างต่อเนื่อง เป็นปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ
 
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผน 3 ส่วนหลัก ๆ       ได้แก่ 1. การก่อสร้างอาคารบริการต่างๆ ได้แก่ อาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน รังสีรักษา หอผู้ป่วย 6 ชั้น รวม 144 เตียง จำนวน 4 อาคาร อาทิ อาคารสนับสนุนบริการ อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท    2. การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ด้านการตรวจวินิจฉัย และรักษา ผ่าตัด โรคหัวใจและหลอดเลือด เครื่องฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง วงเงินประมาณ 130 ล้านบาท และ 3.งบพัฒนาบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะทางรวม 17 สาขา 45 คน เช่นประสาทวิทยา โรคหัวใจ โรคมะเร็ง จิตเวช โรคระบบหายใจ คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า สามารถทำการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการฉายแสงรังสีที่เหมาะสมทันเวลามีชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินได้รับการรักษาทันเวลาและลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ
 
ทางด้านนายแพทย์ศักดิ์ชัย นิลวัชรารัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่ารพ.สวรรค์ประชารักษ์ที่ให้บริการประชาชนขณะนี้ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 653 เตียง ปัจจุบันมีบุคลากรเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล 1,900 คน มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขาทั้งหมด 126 คน เช่น  สูตินารีเวช ศัลยกรรม กุมารแพทย์    ในปีงบประมาณ 2557  มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 530,000 ราย  เฉลี่ยวันละ 1,900 ราย มีผู้ป่วยในพักรักษาตัวเฉลี่ยวันละ 620 ราย   มีผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเฉลี่ยวันละ 200 ราย โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้อยู่ห่างจากแห่งเดิมประมาณ 6 กิโลเมตร ในการจัดบริการประชาชนนั้น ขณะนี้ได้ใช้หลักบริหาร จัดบริการร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 3 ทุกระดับ เหมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน ประชาชนจะได้รับบริการดียิ่งขึ้น ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี พบว่าได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ พบว่าอัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือดมากขึ้น จากเดิมร้อยละ 24 ในปี 2554 เพิ่มเป็นร้อยละ 68 ในปี 2557   ส่งผลให้อัตราตายจากโรคนี้ลดลงจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 16 ในปีเดียวกัน ส่วนอัตราตายจากการบาดเจ็บทางสมองลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 4 ในปีเดียวกันเช่นกัน    จึงมั่นใจโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์แห่งใหม่นี้ จะเป็นศูนย์กลางรับส่งต่อดูแลรักษาผู้ป่วยภายในเขตสุขภาพที่ 3  ได้ทุกโรค ประชาชนภายในเขต 5 จังหวัดที่มีประมาณ 5 ล้านคนได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน โดยรพ.แห่งใหม่นี้ การเดินทางสะดวกมาก ไม่เสี่ยงปัญหาน้ำท่วมในอนาคต   ซึ่ง รพ.ที่ให้บริการขณะนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และเคยประสบน้ำท่วมหนักในปี  2554 ต้องปิดบริการนานถึง 18 วัน




**********************
ที่มา : http://www.moph.go.th/moph2/index4.php