ผู้เขียน หัวข้อ: คำถามที่ต้องการคำตอบของ ‘อาหารดัดแปรพันธุกรรม’  (อ่าน 563 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์



ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทกับการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นได้พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ใช้เพื่อตอบสนองปัจจัยขั้นพื้นฐาน ดังเช่น อาหารดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ตามยังมีหลายคำถามเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่ต้องการคำตอบ
อาหารดัดแปรพันธุกรรม คืออะไร
อาหารดัดแปรพันธุกรรม หรือ Genetically modified food (GM foods) คือ อาหารที่ทำมาจากสิ่งมีชีวิตที่มีการดัดแปรพันธุกรรม ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากเทคนิคทางห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยมีการนำสารพันธุกรรมจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกว่า เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่ดีขึ้น การพัฒนาสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม เริ่มจากความต้องการให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความทนทานต่อโรคต่างๆ ที่มาจากแมลงและไวรัส หรือทนต่อสารกำจัดวัชพืช จึงมีการนำสารพันธุกรรมหรือยีนที่ผลิตสารพิษจากแบคทีเรียมาทำการตัดต่อและใส่ในเซลล์ของพืชผลทางการเกษตร การพัฒนาพืชดัดแปรพันธุกรรมก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคอย่างมากมาย ซึ่งทำให้มีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงและวัชพืชน้อยลง และผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
ผลกระทบจากการบริโภคอาหารดัดแปรพันธุกรรมเป็นอย่างไร
การบริโภคอาหารดัดแปรพันธุกรรมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือพืชดัดแปรพันธุกรรมอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การก่อให้เกิดอาการแพ้อาหาร เนื่องจากการตัดต่อสารพันธุกรรม อาจกระตุ้นให้เกิดการผลิตโปรตีนแปลกปลอม ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นพิษต่อผู้มีอาการภูมิแพ้อาหารได้ เช่น การตัดต่อสารพันธุกรรมจากถั่วไปยังพืชชนิดอื่น อาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษกับผู้ที่แพ้ถั่วได้ ถึงแม้ว่าผู้บริโภคไม่ได้รับประทานถั่วโดยตรง
นอกจากนี้ การบริโภคอาหารดัดแปรพันธุกรรมอาจทำให้เกิดการถ่ายโอนยีนจากอาหารดัดแปรพันธุกรรมไปสู่เซลล์ของร่างกายหรือแบคทีเรียที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร ซึ่งการถ่ายโอนยีนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น การถ่ายโอนยีนที่ต้านทานสารปฏิชีวนะ เป็นต้น สำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากพืชดัดแปรพันธุกรรมนั้น อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนจากของเมล็ดพันธุ์ที่ดัดแปรพันธุกรรมไปสู่สายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งการปนเปื้อนดังกล่าวสามารทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) นั้นเสียสมดุล เช่นพืชที่มีการตัดต่อยีนทำให้สามารถทนทานต่อศัตรูพืชนั้น อาจทำให้แมลงต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรได้รับผลกระทบไปด้วย

อาหารดัดแปรพันธุกรรมมีประโยชน์มหาศาล แต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่างๆ ได้มากเช่นกัน ดังนั้น แต่ละประเทศจึงมีข้อกำหนด หรือกฎหมายที่ควบคุมการผลิตอาหารดัดแปรพันธุกรรมหรือการปลูกพืชที่เป็นวัตถุในการผลิตอาหารดัดแปรพันธุกรรมนั้นมีความแตกต่างกันไป โดยประเทศในแถบอเมริกานั้น สามารถปลูกและผลิตอาหารดัดแปรพันธุกรรมได้ ในขณะที่ประเทศทางแถบยุโรปนั้นไม่อนุญาตให้นำเข้าอาหารหรือพืชที่ดัดแปร พันธุกรรม ส่วนประเทศในแถบเอเชียก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป
โดยประเทศไทยนั้นไม่อนุญาตให้ปลูกพืชที่มีการดัดแปรพันธุกรรม โดยกฎหมายในประเทศไทยที่ใช้เพื่อควบคุมดูแลความปลอดภัยของพืชดัดแปรพันธุกรรมและอาหารพันธุกรรม ได้แก่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้ามฯ พ.ศ.2551 กำหนดให้พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรมเป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นแต่วัตถุประสงค์เพื่อการทดลองวิจัย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) เรื่องการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม ซึ่งอาหารประเภทถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่มีสารพันธุกรรมหรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรม ต้องแสดงข้อความ ดัดแปรพันธุกรรม ที่อ่านได้ชัดเจนเพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้บริโภคก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ
อาหารดัดแปรพันธุกรรมยังคงเป็นที่ถกเถียงกันหลายฝ่ายโดยอาหารดัดแปรพันธุกรรมได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศที่ผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรม เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศแถบอเมริกาใต้ ในขณะเดียวกัน อาหารดัดแปรพันธุกรรมถูกต่อต้านจากอีกหลายกลุ่มประเทศ เนื่องจากอาหารดัดแปรพันธุกรรมอาจส่งผลกระทบต่างๆ ต่อมนุษย์ดังกล่าวข้างต้น และประเทศที่ต่อต้านพืชดัดแปรพันธุกรรมนั้นเห็นว่า ผลผลิตทางการเกษตรควรมาจากประเทศที่มีความยากจน เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชียอย่างไรก็ตาม
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะแวดล้อมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณลดลง และอาจไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรโลก ดังนั้น อาหารดัดแปรพันธุกรรมอาจเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับอนาคต