ผู้เขียน หัวข้อ: "หัวใจวาย" ไม่ใช่ "ดวงถึงฆาต" "เครื่องกระตุ้นอัตโนมัติ" ช่วยได้  (อ่าน 465 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์



หัวใจวายเฉียบพลัน..ภัยร้ายใกล้ตัวคนไทย ดังที่ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา ระบุว่า ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตด้วยอาการนี้ถึง 54,000 คน และจัดเป็นภัยที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุ หรือเฉลี่ยแล้วคนไทยตายเพราะโรคนี้ชั่วโมงละ 6 คน

บทความเรื่อง “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” (Sudden Cardiac Arrest) โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ (โรงพยาบาลกรุงเทพ) อธิบายว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างทันที สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคหัวใจอยู่เดิมโดยที่เจ้าตัวอาจไม่ทราบ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน แต่ก็อาจเกิดกับใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจ หรือมีโรคประจำตัวอื่นใดร่วมด้วย

สาเหตุสำคัญ..สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่พบบ่อยได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือการสูบบุหรี่ ดังนั้นควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้ทราบว่ามีความเสี่ยงหรือไม่? เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ

แต่สำหรับผู้มีอายุน้อยกว่า 35 ปี อาจเกิดได้จาก ภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด , ภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อย และโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุ ทั้งนี้กลุ่มคนที่มีภาวะดังกล่าว หากออกกำลังกายที่ใช้แรงมากๆ อาจกระตุ้นให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

ที่งานมหกรรมรณรงค์เตรียมพร้อมการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง กทม. 9 ก.พ. 2558 น.อ.(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายแพทย์ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงกรรมการฝ่ายแพทย์ สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ระบุว่า นักฟุตบอลก็เป็นอาชีพหนึ่งที่เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน จากเกมการเล่นที่หนักหน่วง ต้องวิ่งตลอด 90-120 นาที ทำให้ต้องใช้กำลังเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) จึงออกข้อบังคับมาว่า ในการแข่งขันฟุตบอลนัดมาตรฐาน หรือเป็นเกมระดับนานาชาติ จะต้องมี เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator-AED) เตรียมพร้อมอยู่ข้างสนามด้วยเสมอ จึงจะอนุญาตให้ทำการแข่งขันได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตหากเกิดเหตุฉุกเฉินกับนักกีฬาหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

“การแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ กฎของฟีฟ่าหรือเอเอฟซี จะต้องมีเครื่องเออีดีอยู่ข้างสนาม มิเช่นนั้นจะไม่ให้กรรมการเป่านกหวีดเริ่มการแข่งขัน เพราะการแข่งขันฟุตบอลทุกวันนี้มีการถ่ายทอดสด หากเกิดเหตุขึ้นในสนามแล้วไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีระบบที่มีคุณภาพ ก็จะเป็นภาพที่ไม่ดีได้ ดังนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องเหล่านี้อยู่

อันที่สองคือสถานที่ที่จะเกิดเรื่องเหล่านี้ได้ แน่นอนว่าต้องเป็นสถานที่ที่มีการใช้แรง ใช้กำลังมากขึ้น เพราะพอใช้งานมากขึ้น เลือดที่ใช้เลี้ยงหัวใจก็จะมากขึ้น แล้วถ้ามีความผิดปกติหัวใจก็จะวายไป ดังนั้นเครื่องเหล่านี้ก็จะช่วยชีวิตคนเอาไว้ได้” นพ.ไพศาล กล่าว

เช่นเดียวกับ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะ “พระธาตุดอยสุเทพ” ที่หลายคนอยากเดินขึ้นไปพิชิตให้ได้สักครั้งในชีวิต ทว่าก็มีนักท่องเที่ยวบางรายต้องเอาชีวิตไปสังเวย เพราะเมื่อปีนขึ้นถึงยอดดอย ก็ไปเสียชีวิตอยู่ ณ ตรงนั้นเอง จากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดโครงการความร่วมมือระหว่าง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ กับวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยนำเครื่อง AED ไปติดตั้งไว้บริเวณวัด พร้อมๆ กับฝึกอบรมให้พระภิกษุเรียนรู้การปฐมพยาบาลช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ทำให้เมื่อเกิดเหตุขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

“เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ ท่านเล่าว่าบันไดสามร้อยกว่าขั้น มีฝรั่งไปนอนตายอยู่หลายครั้ง ขึ้นไปสุดแล้วก็ไปหมดแรง แล้วหัวใจก็หยุดเต้น ก็เลยเรียนท่านว่าขออนุญาตนำเครื่องมาติดให้ท่าน ปีที่แล้วเดือนกันยา ผมก็เอาเครื่องเออีดีไปติดไว้ที่มุมๆ หนึ่งของพระธาตุ แล้วก็ไปสอนพระ คือพระบนนั้นจำนวนนึงได้เรียนซีพีอาร์ เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่ต้องเป่าปากแล้ว ก็ช่วยชีวิตนะ คงไม่อาบัติ ก็สอนลูกวัดทั้งหมดให้รู้จักซีพีอาร์” นพ.นเรนทร์ ระบุ

เครื่องเออีดีทำงานอย่างไร?..ต้องบอกว่าเครื่องนี้ “ใช้ง่ายมาก” เพราะรุ่นใหม่ๆ มีความไฮเทคถึงขนาดเพียงแค่แปะแถบกาวที่ติดตัวเครื่องกับหน้าอกของผู้ป่วย เครื่องจะวินิจฉัยการเต้นของหัวใจและบอกขั้นตอนปฐมพยาบาลโดยอัตโนมัติ ละเอียดถึงขนาดที่เวลาผู้ให้การช่วยเหลือกดหน้าอกผู้ป่วยเพื่อปั๊มหัวใจ เครื่องจะบอกได้ว่ากดเบาไปหรือไม่? ทำให้ผู้ปฐมพยาบาลสามารถทำตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง

นพ.รัฐระวี พัฒนรัตนโมฬี นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยยังค่อนข้างลังเลที่จะเข้าไปปฐมพยาบาล เพราะกลัวว่าหากเกิดความผิดพลาดขึ้นอาจถูกฟ้องเป็นคดีความได้ จึงต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ เพราะเมื่อนำเครื่องเออีดีมาใช้ หากทำตามขั้นตอนที่โปรแกรมในเครื่องแนะนำอย่างถูกต้องครบถ้วน ก็ถือว่าไม่ผิดอะไร อนึ่ง..ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีโครงการนำร่องว่า หากมีผู้เปิดตู้บรรจุเครื่องเออีดีเพื่อนำมาใช้ จะมีระบบแจ้งอัตโนมัติจากตู้ดังกล่าวไปยังศูนย์สั่งการกู้ชีพในพื้นที่ เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่มายังที่เกิดเหตุอย่างทันท่วงทีด้วย

“เครื่องเออีดีมันเป็นเครื่องช็อกไฟฟ้า พอได้ยินแบบนี้ก็กลัวก่อนเลย ก็ไม่รู้ว่าถ้าไปช่วยเขาแล้วเขาเป็นอะไรขึ้นมา เราจะผิดหรือเปล่า? แต่จริงๆ ก็ขอละลายความคิดว่าถ้าท่านทำด้วยวัตถุประสงค์ที่ดี ท่านไม่ผิดอยู่แล้ว แล้วตัวเครื่องเออีดีเอง มันถูกตั้งโปรแกรมให้อ่านเก่งมากๆ คือโอกาสผิดน้อยนะครับถ้าใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งประเด็นนี้เราก็เข้าใจว่ามันยังใหม่อยู่ คนอาจจะกลัว ดังนั้นในระบบตู้เออีดีอัจฉริยะ ก็จะมีระบบวีดีโอคอล (Video Call-โทรศัพท์แบบเห็นหน้าคู่สนทนา) โทรออกผ่านอินเตอร์เน็ตถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์สั่งการ

ก็จะถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนไข้หัวใจหยุดเต้นอยู่บริเวณไหน? อย่างตู้อยู่ชั้น 1 แต่คนไข้อยู่ชั้น 3 อะไรแบบนี้ เราขอถามก่อนที่จะเอาเครื่องออกไปใช้ และจะได้ส่งทีมฉุกเฉินตามเข้าไปช่วย อันนี้จะเป็นการรับรองให้ท่านว่า ท่านเอาไปใช้ช่วยคนนะ ไม่มีปัญหานะ เอาไปเลยไม่ต้องกลัว” นพ.รัฐระวี กล่าวทิ้งท้าย

แม้จะมีผู้กล่าวว่า เครื่องเออีดีสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้เพียงร้อยละ 10 โดยคำนวณจากอาการของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ที่หากปล่อยให้ล่าช้าทุกๆ 1 นาที โอกาสที่ผู้ป่วยจะรอดชีวิตก็จะลดลงไปร้อยละ 10 ซึ่งเมื่อปล่อยให้นานไปถึง 10 นาที นั่นหมายถึงผู้ป่วยเสียชีวิต และเครื่องก็ช่วยอะไรไม่ได้

แต่สำหรับชีวิตคนแล้ว การมีเครื่องมือที่เป็นความหวังในการ “ยื้อชีวิต” ไม่ให้ใครต้องตายอย่างไม่จำเป็น ถึงจะเพียงร้อยละ 10 ก็ถือว่าคุ้มค่า ทั้งนี้ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่มีเครื่องเออีดีติดอยู่ตามจุดต่างๆ มากที่สุดในโลก การสำรวจในปี 2556 พบว่ามีมากกว่า 3 แสนเครื่องทั่วประเทศ และพบว่าสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มาก

รู้ไว..ช่วยเหลือไว..โอกาสรอดก็สูง..หวังว่าประเทศไทยจะใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้นบ้าง!!!

SCOOP@NAEWNA.COM











นสพ.แนวหน้า