ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. ชี้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์สวิสไม่น่ากลัว  (อ่าน 397 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
สธ. ชี้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์สวิสไม่น่ากลัว รุนแรงไม่มากกว่าไข้หวัด 2009 มียารักษาหาย



          กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในไทยปีนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เอ เอช3เอ็น2 สายพันธุ์ย่อยสวิส ซึ่งรุนแรงไม่มากกว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 ประชาชนไม่ต้องกังวล ในปีนี้ให้องค์การเภสัชกรรมสต็อกยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ 30 ล้านเม็ด กระจายยาถึงคลินิกทุกแห่งที่ต้องการ นำเข้าวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ที่มีสายพันธุ์สวิสรวมด้วย ฉีด 4 กลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ 3.5 ล้านโด๊ส เริ่มฉีดปลายเดือนเมษายน แนะกลุ่มเสี่ยงเช่นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว หากป่วยไข้หวัดใหญ่ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมรณรงค์ประชาชนล้างมือบ่อยๆ ผู้ป่วยไข้หวัดทุกคนใส่หน้ากากอนามัย
          วันนี้ (2 มีนาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่
           นายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันนี้ กรมควบคุมโรค ได้ประชุมวอร์รูมติดตามประเมินสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการระบาดในซีกโลกเหนือซึ่งเป็นฤดูหนาว เช่น อเมริกา ยุโรป รวมทั้งอินเดีย และฮ่องกง โดยที่อินเดีย สายพันธุ์หลักที่ระบาดคือเอ เอช1เอ็น1 (A H1N1) หรือไข้หวัด2009 ซึ่งเป็นเชื้อที่รุนแรง ตั้งแต่ต้นปี 2558 ป่วย 10,235 ราย เสียชีวิต 926 ราย ส่วนที่ฮ่องกง ตั้งแต่ต้นปีมีผู้ป่วยหนักจำนวน 383 ราย  เสียชีวิต 283 ราย ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ห้องไอซียูในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน สายพันธุ์หลักเป็นชนิดเอ เอช3เอ็น2  (A H3N2)  พบได้ร้อยละ 96 
           ส่วนประเทศไทย ในปีนี้ยังอยู่ในช่วงของการระบาดเหมือนปีที่ผ่านมาคือมกราคม–มีนาคม สถานการณ์ไม่รุนแรง มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 กุมภาพันธ์ 2558  จำนวน 8 ราย ขณะที่ในปี 2557 ช่วงเดียวกันเสียชีวิต 24 ราย  ส่วนผู้ป่วยพบสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ เชื้อที่พบเป็นชนิดเอ เอช3เอ็น2 ร้อยละ 68 ชนิดบีร้อยละ 24 และชนิดเอ เอช1เอ็น1 ร้อยละ 4 โดยเชื้อเอช3 เอ็น2 พบว่าเป็นสายพันธุ์สวิสมากถึงร้อยละ 90 แต่อย่างไรก็ตามเชื้อนี้จัดว่าไม่รุนแรงกว่าเชื้อเอช1เอ็น1 หรือไข้หวัด2009 ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลมาก และในปีนี้ไทยได้สั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ เป็นวัคซีนรวม 3 ชนิด คือสายพันธุ์ บี สายพันธุ์ย่อยภูเก็ต สายพันธุ์เอ เอช3เอ็น2 สายพันธุ์ย่อยสวิสเซอร์แลนด์ และสายพันธุ์เอช1เอ็น1 หรือไข้หวัด2009   ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และตรงกับเชื้อที่มีการติดต่อในประเทศไทย
            ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ของไทย จะประมวลจาก 3 สถานการณ์หลัก ได้แก่ 1.จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปี 2558 นี้ มีรายงานตั้งแต่ต้นปีถึง23 กุมภาพันธ์ จำนวน 10,032 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่เสียชีวิตน้อยกว่ามาก 2.ผลการเฝ้าระวังสัดส่วนของผู้ป่วยไข้หวัดที่ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลทุกแห่ง พบอยู่ในอัตราร้อยละ 5 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมด ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งหากพบมากกว่าร้อยละ 10 จัดอยู่ในเกณฑ์มีการระบาด และ3.การเฝ้าระวังการระบาดเป็นกลุ่มก้อน พบว่า เมื่อต้นปีเกิดกระจัดกระจายในโรงเรียน โรงพยาบาล ค่ายทหาร เช่นที่จังหวัดนครราชสีมา เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ แต่จำนวนผู้ป่วยไม่มากและมีอาการไม่รุนแรง จึงถือว่าสถานการณ์ยังไม่น่าห่วงมากนัก
 


          นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโดย 3 หน่วยงานได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักระบาดวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ซึ่งพบว่าเชื้อยังไม่มีการกลายพันธุ์ ส่วนการกำหนดสายพันธุ์ที่จะผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในแต่ละปีนั้น องค์การอนามัยโลกจะทำการตรวจเชื้อที่ส่งมาจากทั่วโลก หากพบสายพันธุ์ใดที่มีการระบาดและมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีก็จะนำมาผลิตวัคซีน ในปีที่ผ่านมามี 3 สายพันธุ์ คือเอ เอช1เอ็น1 สายพันธุ์ย่อยแคลิฟอร์เนียหรือหวัด2009  สายพันธุ์เอ เอช3เอ็น2 สายพันธุ์ย่อย เท็กซัส และสายพันธุ์บี และวัคซีนในปีนี้จะเป็นสายพันธุ์เอ เอช1เอ็น1 สายพันธุ์ย่อยแคลิฟอร์เนียหรือหวัด2009 เช่นเดิม    สายพันธุ์เอ เอช3เอ็น2 สายพันธุ์ย่อยสวิสเซอร์แลนด์ และสายพันธุ์บีสายพันธุ์ย่อยภูเก็ต ปัญหาที่น่าห่วงและกังวลก็คือ ความรุนแรงของเชื้อที่เกิดจากการกลายพันธุ์และเชื้อดื้อยา ซึ่งผลการเฝ้าระวังยังไม่พบทั้ง 2 ปัญหานี้ในไทย
สำหรับการป้องกันในปีนี้ จะเน้น 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การป้องกันการป่วย จะเน้นการรณรงค์ให้ประชาชนยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  พักผ่อนเพียงพอ ไม่โหมงานหนัก กินผลไม้สดมากๆ เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหากป่วยแล้วอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป  เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ขวบ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่  โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  โรคหัวใจ  โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด เบาหวาน โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างทำเคมีบำบัด รวมทั้งการป้องกันในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีหน้าที่กำจัดสัตว์ปีกซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอื่น รวมทั้งหมด 3.5 ล้านคน
             มาตรการที่ 2 คือ การป้องการการแพร่กระจายเชื้อ จะรณรงค์ให้ผู้ป่วยไข้หวัดทุกคน หยุดเรียนหยุดงาน พักผ่อนที่บ้านจนกว่าจะหาย ใส่หน้ากากอนามัย  ล้างมือบ่อยๆ เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ และ 3 มาตรการการป้องกันการเสียชีวิตโดยรักษาด้วยยาต้านไวรัส ใน 4 กลุ่มเสี่ยงที่กล่าวมาหากป่วยขอให้พบแพทย์ทันที รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่มีอาการรุนแรง เช่นเหนื่อยหอบ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยอาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะเริ่มจากมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอแห้งๆ สามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
             ทางด้านนายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน และด้านยารักษาไข้หวัดใหญ่ โดยได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมสำรองวัตถุดิบในการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จำนวน 3,000 กิโลกรัม ผลิตยาได้ 30 ล้านเม็ด เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลรัฐ เอกชน ทั่วประเทศ โดยในปีนี้มีนโยบายกระจายให้ถึงคลินิกเอกชนทุกพื้นที่ที่ต้องการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยา จะลดการเสียชีวิตได้ ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะเริ่มฉีดให้เร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ก่อนเข้าฤดูฝนจะเริ่มฉีดประมาณปลายเดือนเมษายน ได้สั่งนำเข้าแล้ว 3.5 ล้านโด๊ส นอกจากนี้ ให้ทีมหมอครอบครัวลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการถึงที่บ้าน รวมทั้งให้ความรู้การปฏิบัติตัว สร้างสุขนิสัยส่วนบุคคลในการป้องกันโรคนี้ แก่ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และชุมชน




********************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/moph2/index4.php