ผู้เขียน หัวข้อ: กรมควบคุมโรค ชวนประชาชนร่วมป้องกันไข้เลือดออกก่อนฤดูระบาด ใช้หลักง่ายๆ  (อ่าน 562 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
กรมควบคุมโรค ชวนประชาชนร่วมป้องกันไข้เลือดออกก่อนฤดูระบาด ใช้หลักง่ายๆ “เริ่มต้นที่บ้านคุณ” พร้อมแนะวิธีป้องกัน 5ป. 6ร.



           วันนี้ (3 เมษายน 2558) นายแพทย์โสภณ  เมฆธน  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โดยปกติโรคไข้เลือดออกจะระบาดมากในฤดูฝนของทุกปี สิ่งสำคัญคือ ต้องรีบจัดการควบคุมโรคให้เร็ว โดยเฉพาะในช่วงก่อนฤดูการระบาด (มี.ค.-เม.ย.) ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองของการควบคุมโรคไข้เลือดออก  โดยมาตรการหลักคือ ควบคุมโรคอย่างรวดเร็วหากพบผู้ป่วย และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และลูกน้ำยุงลาย เพื่อลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรคให้เหลือน้อยที่สุดก่อนช่วงระบาดของโรคจะมาถึง หากปล่อยให้มีแพร่โรคในฤดูกาลระบาดแล้วจะทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากยิ่ง จากเหตุปัจจัยเรื่องการกระจายของเชื้อ และบุคลากรที่มีอยู่จำกัดไม่พอต่อปริมาณงาน

 

           ปีนี้กรมควบคุมโรค จึงเชิญชวนประชาชนร่วมมือกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และลูกน้ำยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะการป้องกันในบ้านของตนเอง  เป็นมาตรการง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ นั่นก็คือ ป้องกันโรคไข้เลือดออก “เริ่มต้นที่บ้านคุณ” เพราะการควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ดีที่สุดคือทุกครัวเรือน ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และลูกน้ำยุงลายด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ หรือ อสม. ที่เข้าไม่ถึงส่วนในของบ้านได้ ทำในลักษณะบ้านใครบ้านมัน ช่วยกันทำสิ่งแวดล้อมให้สะอาดปลอดโปร่ง ไม่เป็นที่เพาะพันธุ์ลูกน้ำและเกาะพักของยุงลาย  ที่สำคัญการควบคุมโรคไข้เลือดออกจะประสบความสำเร็จได้จริง ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกครอบครัวในชุมชน ในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และลูกน้ำยุงลาย ทำบ้านใดบ้านหนึ่งไม่ได้  เพราะยุงมีระยะการบินไปได้ไกลราว 40-100 เมตร  จึงต้องช่วยกันทำสิ่งแวดล้อมในที่สาธารณะให้สะอาดปลอดโปร่ง  ไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ลูกน้ำและเกาะพักของยุงลายเช่นกัน ตามคำนิยามที่ว่า“ไข้เลือดออกจะสิ้นฤทธิ์ ถ้าชุมชนร่วมพิชิตแหล่งยุงลาย”   

 

            นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ในการรณรงค์ครั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียนและประชาชน โดยร่วมมือกันทำกิจกรรมตามหลัก 5ป. ปราบยุงลาย ดังนี้ 1.ปิด ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักใช้น้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่  2.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วันเพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง  3.ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่ ในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่  4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย  5.ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย  โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในพื้นที่ 6 ร. ดังนี้ 1.โรงเรือน(บ้าน/ชุมชน)  2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก)  3.โรงพยาบาล  4.โรงแรม/รีสอร์ท  5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม  และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์)

 

             ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยช่วงต้นปี 2558 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2558) พบผู้ป่วยจำนวน 6,111 ราย เสียชีวิต 4 ราย  กลุ่มอายุที่อัตราป่วยสูงสุด คือ 10-14 ปี (27.89 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือ 5-9 ปี (21.01 ต่อประชากรแสนคน) และ 15-24 ปี (16.90 ต่อประชากรแสนคน) ตามลำดับ 

             “อาการของไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน (ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส) เบื่ออาหาร อาเจียน  ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ กินยาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ถ้ามีอาการใดอาการหนึ่งให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที  ซึ่งช่วงที่อันตรายของโรค คือ ช่วงที่ไข้ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่เข้าสู่ระยะช็อก ซึ่งหากรักษาไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ และพบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เนื่องมาจากมาพบแพทย์ช้าเกินไปในช่วงที่ไข้ลดแล้วช็อกนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อป่วยมีไข้สูง ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ อย่านิ่งนอนใจรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย





********************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/moph2/index4.php