ผู้เขียน หัวข้อ: สมุนไพรไทยกับการรักษาพยาธิใบไม้ตับ  (อ่าน 470 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


 พยาธิใบไม้ตับ เป็นพยาธิที่ก่อให้เกิดโรคที่มีความร้ายแรงแก่คนไข้ นั่นก็คือ เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี ในประเทศไทยพยาธิใบไม้ตับพบได้ในคนทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งอายุที่พบโรคได้สูงสุดคือ ช่วง 55-64 ปี โดยพบโรคได้จากพยาธิใบไม้ตับชนิดเดียว คือ Opisthorchis viverrini
 
                        พยาธิใบไม้ตับในประเทศไทยพบได้มากในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ พยาธิจะมีรูปร่างแบนคล้ายใบไม้ ผิวลำตัวเรียบ ยาว 1.0-2.5 ซม. และกว้าง 0.3-0.5 ซม. ลำตัวบางแบนและโปร่งแสง ในตัวจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งเพศผู้และเพศเมีย ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด พยาธิตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในท่อทางเดินน้ำดีของคน สุนัข และแมว โดยเมื่อพยาธิออกไข่ ไข่ที่ออกมาจะปนกับน้ำดีลงสู่ลำไส้แล้วออกสู่ภายนอกร่างกายโดยการปนกับอุจจาระ เมื่อไข่ตกลงสู่น้ำจะถูกกินโดยหอยน้ำจืดขนาดเล็ก และใช้เวลาเจริญในหอย 6-8 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะออกจากหอยเข้าสู่ปลาน้ำจืดมีเกล็ด อาทิ ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาขาวน้อย ปลากระสูบ ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อย ปลากระมัง แล้วเจริญเป็นระยะติดต่อในเนื้อปลา การเจริญในปลาใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ เมื่อคน สุนัข หรือแมวกินเนื้อปลาที่ดิบหรือปรุงไม่สุกจะได้รับระยะติดต่อเข้าไป น้ำย่อยคนจะย่อยเนื้อปลาและผนังที่หุ้มตัวอ่อนทำให้พยาธิตัวอ่อนจะออกมาและคืบคลานเข้าไปทางท่อน้ำดี และเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย
 
                        ซึ่งปัญหาหลังจากพยาธิเกาะในท่อน้ำดี ก็คือ พยาธิจะมีการปล่อยสารบางอย่างออกมา ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินน้ำดี ทำให้เยื่อบุผนังท่อน้ำดีเกิดผังพืดหนาขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการอักเสบซ้ำๆ สุดท้ายก็อาจมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมา คือ มะเร็งของท่อน้ำดี โดยคนไข้ก็มักจะมารักษากันเมื่อเกิดความผิดปกติมากๆ เช่น อาการตัวเหลือง ตาเหลือง อาจจะมีท้องบวม เบื่ออาหาร ซึ่งการรักษาก็คือการกินยาฆ่าพยาธิ โดยใช้ยา Praziquantel ซึ่งเป็นยาที่ได้ผลดีมากในระยะแรกๆ ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นมากๆ แล้ว ก็จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการไป
 
                        สำหรับสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาพยาธิใบไม้ตับมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำซังข้าวโพด ดอกอัญชันแห้ง และขมิ้นชันแห้ง มาสกัดและทำเป็นผง (อัตราส่วน 7:2:1) โดยนำมาศึกษาฤทธิ์ต่างๆ ในสัตว์ทดลองที่เป็นพยาธิใบไม้ตับ
 
                        ในการศึกษานี้จะใช้ซังข้าวโพดข้าวเหนียวซึ่งหาได้ง่ายในแถบภาคอีสาน และมีสาร Anthocyanin หลายชนิดรวมทั้งมีสาร Anti-oxidant เยอะกว่าพืชชนิดเดียวกัน ส่วนดอกอัญชันก็เป็นดอกไม้ที่มี Anthocyanin สูงเช่นเดียวกัน ในส่วนของขมิ้นชันนั้นเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์และมีฤทธิ์ต่างๆ มากมาย เช่น ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ เป็นต้น
 
                        ผลการศึกษาพบว่า ตำรับนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น และสาร Anthocyanin มีความคงตัวมากกว่าสมุนไพรเดี่ยวๆ นอกจากนี้ การผลการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในท่อน้ำดี ก็พบว่าตำรับมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้และสามารถลดผังพืดในท่อน้ำดีได้ รวมทั้งลด Oxidative stress ซึ่งทำให้การทำลายเซลล์ หรือดีเอ็นเอ ลดลง ส่งผลดีต่อโรค สุดท้ายก็คือสามารถลดการทำลายตับจากพยาธิใบไม้ตับได้ นี้ก็เป็นอีกตำรับหนึ่งที่มีศักยภาพสูงและมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำมาใช้จริงในมนุษย์
 
                        แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันอันตรายที่ดีที่สุดจากพยาธิใบไม้ตับ ก็คือ การไม่รับประทานอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ และตรวจอุจจาระอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ







ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20150403/204037.html