ผู้เขียน หัวข้อ: "Stroke" ตีบ 75% แตก 25%  (อ่าน 650 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
"Stroke" ตีบ 75% แตก 25%
« เมื่อ: เมษายน 18, 2015, 11:21:55 am »
"Stroke" ตีบ 75% แตก 25%


โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข




มนุษย์เป็นสิ่งที่แปลกที่สุดในโลก เพราะเขายอมสละ "สุขภาพ" เพื่อ "หาเงิน" แล้วก็ "สละเงิน" เพื่อให้สุขภาพฟื้นคืนมาเขาห่วง "อนาคต" จนไม่มี "ความสุข" กับ "ปัจจุบัน" ผลคือ เขาไม่อยู่ทั้ง "ปัจจุบันและอนาคต" เขาอยู่เหมือนจะไม่มีวันตาย และท้ายสุด เขาก็ตายไป โดยไม่มีชีวิตอยู่จริง...

ข้อคิดจาก "องค์ทะไลลามะ" พอสรุปได้ว่า ให้รักสุขภาพของตนเองให้มากที่สุด อยู่กับ "ปัจจุบัน" ให้มากที่สุด อย่ายึด "เงิน" เป็นสรณะ ทุ่มเทกำลังกายด้วยความยากลำบาก ใช้ร่างกายเกินกำลัง เพื่อให้ได้เงินมา หวังได้เงินเยอะๆ จะได้มีฐานะร่ำรวย หวังกอบโกยให้มากที่สุด จนลืมดูแลสุขภาพปัจจุบัน แล้วจะไม่ได้ใช้เงิน

สภาวะการเมืองของทั่วโลก และของประเทศไทยเราช่วงนี้ มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างไม่ปกติ ตั้งแต่เรื่องทางสังคม มีการกระทบกระทั่งกัน คดีอาญาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงนี้ มีข้อขัดแย้ง แต่ละกระทรวงทั้งข้าราชการประจำกับนักการเมือง นอกจากภาวะวิกฤตทางสงฆ์แล้ว ปัญหาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การส่งออก แม้แต่แม่ค้าแม่ขาย รถแท็กซี่ รวมทั้งปัญหาชาวนาชาวไร่ ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย ยางพารา และอื่นๆ จะมีโผล่ให้เห็นเป็นระยะๆ ผู้เขียนและบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข มีความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง เกิดภาวะเครียดมากๆ จะด้วยปัจจัยภายในของตัวตนของประชาชนเอง และปัจจัยภายนอก ตามที่กล่าวแล้ว

โรคที่น่าห่วงก็คือ โรค "Stroke" หรือโรค "หลอดเลือดสมอง" ซึ่งเกิดได้ทุกเพศทุกวัย อยากให้ผู้อ่านทุกท่าน ได้รู้จักโรค "Stroke" หรือ "โรคหลอดเลือดสมอง" หรือที่เรียกกันว่า "โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต" ต้องการให้มีความรู้นะครับ แต่ไม่ต้องตระหนกกลัว อยากให้ศึกษาเคล็ดลับการดูแลสุขภาพ เพื่อ "ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ไม่ให้เป็นโรค Stroke ซึ่งในช่วงปี 2555-2557 กระทรวงสาธารณสุขได้เคยรณรงค์เรื่องนี้โดยใช้สัญลักษณ์ "ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี" เป็นตัวบอกค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน ซึ่งมีการกำหนดค่าผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นโรคนี้ คือ "สีดำ" และต้องบอกว่าเป็นแล้วเป็นเลย ไม่หายขาด ต้องกินยารักษาและทำกายภาพตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นจุดนี้ท่านทุกคนจะต้องรู้ว่าขีดระดับความรุนแรงอะไรที่ท่านต้องพึงระวังตัว ป้องกันตัวให้เต็มที่มีสำคัญกล่าวคือ

ถ้าหากท่านเป็นโรคความดันโลหิตสูงรุนแรงต้องหมั่นวัดความดันทุกๆ 15 วัน ความดันสูงที่เป็นระดับ "สีแดง" ไฟจราจรแปลต้องหยุดให้ได้ คือ ความดันมากกว่า 180/120 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเป็นเบาหวานสีแดงก็จะมีค่าน้ำตาลมากกว่า 183 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และปรับพฤติกรรมหมั่นออกกำลังกายลดอาหารหวาน มัน เค็ม ทานผักหนึ่งอย่างอย่างอื่นครึ่งหนึ่ง ลดภาวะเครียด ลดเหล้า บุหรี่ให้ได้

ความรุนแรงของโรคจะลดมาเป็นสีส้ม สีเหลือง และสีเขียวเข้ม (น้อยกว่า 140/100 มิลลิเมตรปรอทลงมา) ตามลำดับแต่ถ้าหากท่านเพิกเฉย ไม่ใส่ใจ ปล่อยตัว ปล่อยใจ ความดันและน้ำตาลสูงขึ้นเรื่อยๆ รับรองได้เลยว่า Stroke มีโอกาสเกิดขึ้นกับตัวท่านมากกว่า 90% หรือบางราย 100% ก็ว่าได้

ในประเทศไทยเรามีผู้ป่วย Stroke ประมาณ 1.2 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเป็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน 70-75% ซึ่งเป็นโรคที่พบป่วยและเป็นสาเหตุการตาย และความพิการติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ อีกประเภทหนึ่งรุนแรงมากกว่า คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก พบได้ 25-30% เป็นแล้วมีโอกาสตายทันทีสูงมากกว่าแบบแรก

ทั้งสองประเภทนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางคนไม่มีอาการนำบ่งบอกมาก่อน โดยเฉพาะพวกที่ไม่กล้าบอกใคร เก็บกด เก็บตัว เครียดแล้วไม่ยอมพูดกับใคร อย่างเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีเศษมาแล้ว เตี่ยผู้เขียนเอง คืนวันหนึ่งนอนหลับอย่างปกติ ตอนตี 1 ตื่นมา แขน ขา ข้างซ้ายยกไม่ขึ้น ใบหน้าซีกซ้าย ปากเบี้ยว ตาซ้ายหลับไม่ได้ ปลุกคุณแม่ตื่นขึ้นมา และเริ่มไม่รู้ตัว คุณแม่ได้พามาศิริราช โดยที่เตี่ยผู้เขียนขณะนั้นอายุ 63 ปีเศษ แพทย์ศิริราชตรวจโดยละเอียด พบว่าเส้นเลือดฝอยของสมองซีกขวาแตก เปิดผ่าตัดสมองไม่ได้ ต้องนอนรักษาอยู่ศิริราชนาน 30 วัน และก็เป็นอัมพาตนอนป่วยเรื้อรังนาน 7-8 ปี จึงได้เสียชีวิต



ประวัติการป่วยของเตี่ยผู้เขียน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงคู่กันไป เท่าที่ผู้เขียนจำได้ก็ประมาณ 160/100 มิลลิเมตรปรอท น้ำตาลก็ประมาณ 130-200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สมัยโน้นยังไม่มีโครงการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงด้วย "ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี" เตี่ยผู้เขียนเองจึงไม่รู้ว่าตัวเตี่ยผู้ป่วยเองอยู่ สีอะไร จะต้องกินยาสม่ำเสมอหรือไม่ ต้องเคร่งครัดการดูแลพฤติกรรมสุขภาพ "3 อ." การออกกำลังกาย ควบคุมอาหารเคร่งครัด ไม่ให้เกิดความเครียด ไม่เหมือนสมัยนี้ อดีตนั้นไปหาหมอที่คลินิก หรือโรงพยาบาลสิงห์บุรี เขาก็บอกว่า ความดันดีขึ้น เบาหวานดีขึ้น กินยาเหมือนเดิมนะ ไม่ได้ชี้แนะ ชี้นำการดูแลสุขภาพเหมือนสมัยนี้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เตี่ยผู้เขียนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โรค Stroke เขาแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1.โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) พบได้ 75% การอุดตันของหลอดเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้เซลล์สมองต่างๆ ขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะเกิดภาวะมีการเปลี่ยนแปลงที่ผนังเลือด เช่นมีไขมันและเกล็ดไขมันมาเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาเสียความยืดหยุ่น ทำให้มีการ "อุดตัน" ได้ อาการแสดงที่เกิดขึ้น แขน ขา ซีกใดซีกหนึ่งล้า อ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ บางรายเคยเป็นมาก่อนหายไปแล้ว แล้วกลับมาเป็นอีกได้ ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว มักเกิดอาการหลังตื่นนอนหรือขณะทำงาน ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรงมากขึ้น ซึมมากขึ้นภายใน 3-5 วัน หลังมีอาการ เนื่องจากสมองบวม การรักษา 1.การรักษาด้วยยา เช่น ให้ยาละลายลิ่มเลือด ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ร่วมกันรักษาแบบประคับประคอง ดูแลการให้สารน้ำเกลือแร่และอาหารที่เหมาะสม 2.การทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยป้องกันการเกิดซ้ำ 3.การดูแลทางด้านจิตใจและสังคม

2.โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) พบได้ 25% แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 2.1 เลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral Hemorrhage) เลือดออกในเนื้อสมอง ซึ่งจะพบลิ่มเลือดในเนื้อสมอง 2.2 เลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) ผู้ป่วยจะมีเนื้อสมองที่บวมขึ้น และกดเนื้อสมองส่วนอื่นๆ และทำให้การทำงานของสมองที่ถูกเบียดเสียไป สาเหตุเกิดจากความดันโลหิตสูงมากๆ และหลอดเลือดเปราะ หรืออาจพบหลอดเลือดโป่งพอง เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวมากๆ ทันที คลื่นไส้อาเจียนพุ่ง แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ชัก หรือหมดสติได้ อย่างเช่นเตี่ยของผู้เขียน การรักษา 1.การรักษาแบบประคับประคอง ดูแลการให้สารน้ำเกลือแร่ และอาหารที่เหมาะสม  2.การผ่าตัด เพื่อหยุดการไหลของเลือดออกโดยการผูกหรือจี้ด้วยไฟฟ้า 3.การแก้ไขปัญหาความดันในกะโหลกสูง โดยทางยา 4.ป้องกันอาการแทรกซ้อนของโรค เช่น ปอดอักเสบและแผลกดทับ (Bed Sore) จากการนอนทับของคนเป็นอัมพาต ซึ่งเตี่ยผู้ป่วยก็เป็นด้วย เช่นกัน

สาเหตุของโรค Stroke

1.อายุมากขึ้น โดยสภาพของหลอดเลือดทุกคนจะแข็งเปราะหนาตัวขึ้น มีตะกอนจากการตกตะกอนของไขมัน (Cholesterol) เกาะตามผิวหนังหลอดเลือด ทำให้รูหลอดเลือดเล็กลงมากขึ้น จากอายุ 20 ปี 30 ปี 40 ปี 50 ปี 60 ปี 70 ปี 80 ปี เพราะฉะนั้นโดยสภาพของวัยมากขึ้นเท่าใด เหมือนท่อยางน้ำพลาสติกที่ใช้นานๆ จะแข็งเปราะ รูเล็กตีบมากขึ้นฉันใด ก็ฉันนั้นแหละ โดยอายุขัยแล้ว แนวโน้มการเกิดโรคความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว 90-100% โดยรวมแล้วทุกคนจะต้องเกิดโรคความดันโลหิตสูงโดยปกติอยู่แล้ว

2.เพศชายมากกว่าเพศหญิง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมาก่อน

3.มีประวัติโรคเลือดหรือโรคหลอดเลือดทางสมอง

ปัจจัยเสี่ยง 1) คนเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 2) โรคไขมันในเส้นเลือดสูง 3) โรคหัวใจ 4) โรคอ้วน 5) คนดื่มเหล้า สูบบุหรี่

การตรวจวินิจฉัย : ถ้าท่านพบเกิดบ้านหรือที่ทำงาน ที่ใดก็ตาม แต่ให้รีบส่งโรงพยาบาลของรัฐก็ได้ หรือเอกชนก็ดี เพราะเดี๋ยวนี้เขาจัดให้มีระบบ Fast Frack ช่องทางด่วนของผู้ป่วยดังกล่าวให้โทรไปที่เบอร์ 1669 จะมีรถพยาบาลมารับผู้ป่วยโดยเร็ว ต้องถึงโรงพยาบาลภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อให้ทันในการฉีดยาละลายลิ่มเลือด กรณีมีข้อบ่งชี้ (หลอดเลือดอุดตัน) และไม่มีข้อห้าม จะพบว่าอาการจะฟื้นกลับหายเป็นปกติได้ ขอให้จำไว้ให้แม่นๆ เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จะรีบตรวจ เจาะเลือด เพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจเอกซเรย์สมองคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การวินิจฉัยหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดสมองโดยตรง (Carotid Angiography)

แนวทางการรักษา

- การให้ยาละลายลิ่มเลือดตามที่กล่าวมา อาจจะมีการให้ยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นยาต้านเกล็ดเลือด ใน 48 ชั่วโมงแรก บางรายแพทย์อาจให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด คือ ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) แพทย์จะดูแลใกล้ชิด

- การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ในกรณีที่มีเนื้อสมองตาย จากหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ตีบ เพื่อลดความดันในสมอง ช่วยลดอัตราการตาย และความพิการ โดยประสาทศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

- การฟื้นฟูกายภาพ ด้วยการนวดหรือฝึกช่วยตัวเอง เช่น หัดเดิน หัดจับของ กินข้าว

- การป้องกันการเกิดซ้ำอีกได้ เราจะพบเสมอโดยเฉพาะพ่อค้าเศรษฐี นักการเมือง รัฐมนตรี ที่เคยเป็นอัมพาตมาก่อนหน้าเมื่อเกิดภาวะเครียดมาก ทำให้เกิดซ้ำได้ และบางรายก็เสียชีวิตในที่สุดก็มี

- ภาวะทางจิตใจ และอาหารการกิน สำคัญผู้ป่วยมักจะเครียด วิตก กังวลหดหู่ ซึมเศร้า ท้อแท้ ควรให้กำลังใจผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ



ผู้เขียนอยากเชิญชวนให้เพื่อนๆ สมาชิกมติชนใส่ใจดูแลสุขภาพ โดยการเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิด Stroke เป็นวิธีดีสุด ถ้าเกิดแล้วไม่หาย ตายแน่ๆ 100% ทุกท่านควรหมั่นวัดความดันโลหิตสูงอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1-2 ครั้ง อย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อหาโรคอื่นมีหรือไม่มีจะได้รักษาไปด้วยกัน พร้อมกับเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ลดอ้วนให้ได้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3 ครั้ง/สัปดาห์ อย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง รู้จักผ่อนคลายเครียด พักผ่อนให้พอเพียง ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ควบคุมไขมัน น้ำตาลไม่ให้สูง

ขอให้จำไว้เสมออย่าให้ภาวะความดันโลหิตสูงหรือน้ำตาลในเลือดสูงเป็น "สีแดง" เป็นเด็ดขาดควบคุมลงมาให้อยู่ในสีเหลือง เขียวเข้มให้ได้ และจำไว้ว่า (เขียวเข้ม) แม้ความดันโลหิต ควบคุมลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ น้อยกว่า 140/110 มิลลิเมตรปรอท แล้วยังต้องกินยาสม่ำเสมอหากแพทย์ผู้รักษาไม่ได้สั่งให้งดเด็ดขาด และต้องไม่ลืมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ "3 อ." และ "3 ลด" ให้ได้อย่างต่อเนื่อง แล้วท่านจะมีอายุยืนไม่เป็น "Stroke" ไงเล่าครับ
 




**************************************
ที่มา : http://www.matichon.co.th/