ผู้เขียน หัวข้อ: กระดูกตะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน  (อ่าน 677 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์
กระดูกตะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน
« เมื่อ: เมษายน 19, 2015, 08:23:49 am »


กระดูกตะโพกหักเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่ตามมาหลังจากการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดกระดูกหักคือการหกล้ม พบอุบัติการณ์นี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย วัตถุประสงค์ที่สำคัญในการป้องกันการเกิดกระดูกหักคือ การระวังไม่ให้เกิดการหกล้ม การเกิดกระดูกที่หักง่ายเหล่านี้มีผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาเป็นอย่างมาก นับว่าเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง

อัตราการเสียชีวิตของโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่มักสัมพันธ์กับเรื่องของกระดูกหักที่บริเวณตะโพก ซึ่งอุบัติการณ์การเสียชีวิตจะสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากเกิดกระดูกหัก

อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรในกลุ่มอายุเท่ากัน เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ที่ตามมาหลังจากการเกิดกระดูกตะโพกหัก เช่น โรคปอดบวม โรคแผลกดทับ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งเกิดเนื่องจากการที่ผู้ป่วยต้องนอนนาน และไม่สามารถขยับร่างกายได้เนื่องจากความเจ็บปวด

แนวทางการรักษากระดูกตะโพกหักในปัจจุบันที่ดีและเหมาะสมที่สุดคือการรักษาด้วยการผ่าตัด จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาพบว่า การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด นอนดึงให้กระดูกติด จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่รักษาด้วยการผ่าตัดมากถึง 2–3 เท่า

การรักษาด้วยการผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลุกเดิน เคลื่อนไหวได้ไวขึ้น มีการเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ การผ่าตัดส่วนใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งการหักของกระดูกตะโพกบางครั้งก็ใช้วิธีการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยแผ่นเหล็ก บางครั้งก็ผ่าตัดเปลี่ยนข้อตะโพกเทียม

หลังจากที่รักษากระดูกตะโพกหักแล้วยังมีความจำเป็นต้องรับการรักษาเรื่องกระดูกพรุนต่อเพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหักเพิ่ม เช่น การหักของกระดูกตะโพกหักอีกข้างหนึ่ง การเกิดกระดูกสันหลังหักยุบ และการหักของกระดูกในตำแหน่งอื่น ๆ ผู้ป่วยเหล่านี้มีความจำเป็นต้องรับการรักษาโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นอีก เช่น ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน พบว่าถ้าไม่ได้ให้การรักษาที่เหมาะสมจะพบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 20 การรักษาโรคกระดูกพรุนประกอบด้วย

การปรับปรุงการใช้ชีวิตประจำวัน (lifestyle modifications) ผู้ป่วยทุกคนควรออกกำลังกายที่ให้ร่างกายมีการรับน้ำหนักต่อกระดูก เช่น การเดิน การวิ่ง ร่วมกับการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, ในรายที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวควรส่งต่อให้นักกายภาพบำบัดเพื่อทำการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย, ผู้ป่วยทุกคนควรได้รับคำแนะนำในการป้องกันการหกล้ม ซึ่งได้แก่ การปรับแสงไฟฟ้าให้สว่างเพียงพอภายในที่พักอาศัย จัดวางสิ่งของภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การใช้เครื่องพยุงช่วยเดิน หลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นผิวไม่เรียบ ถ้ามีปัญหาทางสายตาควรได้รับการแก้ไข เช่น โรคต้อกระจก ต้อหิน

สารอาหารสำหรับกระดูก ผู้ป่วยควรได้รับแคลเซียมและวิตามินที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนควรได้รับปริมาณของแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม ทางอาหารและแคลเซียมเสริมชนิดเม็ด ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายต้องการวันละ 800 IU

การใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน ปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนมี 2 กลุ่ม คือ 1.ยาที่กระตุ้นการสร้างมวลกระดูกขึ้นมาใหม่ซึ่งใช้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุกวันวันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกันนาน 2 ปี เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนชนิดรุนแรงร่วมกับการเกิดกระดูกหักหลายตำแหน่ง 2. ยายับยั้งการทำลายกระดูกซึ่งมี 2 รูปแบบ ทั้งชนิดรับประทาน และชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด หรือฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง

ความสำเร็จของการรักษาโรคกระดูกพรุนขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร แคลเซียม วิตามินดี และการใช้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมทั้งป้องกันไม่ให้หกล้ม หรือในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนไม่ควรก้มเก็บของเพราะจะเพิ่มโอกาสการยุบตัวของกระดูกสันหลังด้วย.

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

tleerapun@gmail.com, www.taninnit.com,

Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง, line ID search : keng3407











ที่มา http://dailynews.co.th/Content/Article/315230/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%99