ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดปูมประวัติ “ชมรมเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ”  (อ่าน 5141 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
เปิดปูมประวัติ “ชมรมเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ”


เดิมประเทศไทยมีคณะเทคนิคการแพทย์เป็นแห่งแรก ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๐๐ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) โดยจัดตั้งคณะขึ้นในสองโรงพยาบาลใหญ่ คือในร.พ.ศิริราช และร.พ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย นอกจากการสอนหลักสูตรเทคนิคการแพทย์แล้วยังเป็นห้องปฏิบัติการกลางของทั้งสองโรงพยาบาลทำหน้าที่ให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่ผู้ป่วยควบคู่กับการเรียนการสอน โดยคณะเทคนิคการแพทย์ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ เปิดสอน ปี ๓ ในหลักสูตร อนุปริญญาเทคนิคการแพทย์ ในพ.ศ. ๒๕๐๒ และเปิดสอนปี ๓ และ๔ ในหลักสูตร วทบ.(เทคนิคการแพทย์) ในพ.ศ. ๒๕๑๔
ต่อมามีการโอนคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๑๐) และคณะเภสัชศาสตร์ เป็นต้น จึงมีความพยายามโอนคณะเทคนิคการแพทย์ ที่อยู่ในร.พ.จุฬาลงกรณ์ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย แต่สำหรับคณะเทคนิคการแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กลับมีการต่อรองให้โอนไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์โดยที่มหาวิทยาลัยมหิดลยังโต้แย้ง
ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติ จึงมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้โอนอาคาร ทรัพยสินและบุคลากรส่วนที่เป็นคณะเทคนิคการแพทย์ร.พ.จุฬาลงกรณ์ (ที่นิยมเรียกกันว่าตึก ๑๔) ไปเป็นภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร ในคณะแพทยศาสตร์มีข้อตกลงกันระหว่างสองมหาวิทยาลัยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะรับโอนนักศึกษา คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 2 จำนวน 30 คนที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2512 และประสงค์จะขึ้นสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้าศึกษาต่อในหลัก สูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.) สาขาเทคนิคการแพทย์ ชั้นปีที่ 3 ในภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะจบการศึกษาเป็นบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นแรกในพ.ศ. ๒๕๑๕
ภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร เป็นภาควิชาใหม่ที่จัดตั้งขึ้นจากจากการโอนคณะเทคนิคการแพทย์ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ทั้ง ชื่อนี้เป็นชื่อใหม่ไม่มีใครรู้จัก ไม่เป็นที่ทราบกันว่าคือเทคนิคการแพทย์ที่สืบทอดกันมา ณ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๐๒ จึงเป็นความกังวลของ อาจารย์ และศิษย์เก่าว่าชื่อเทคนิคการแพทย์ จุฬา จะหายไป จนเข้าใจว่ามีการยุบเลิกไปแล้ว จึงรวมตัวกันตั้งชมรมเทคนิคการแพทย์ จุฬา ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยมีประธานชมรมเทคนิคการแพทย์จุฬา สืบเนื่องต่อกันมาดังนี้
ทนพ.นที ธีรโรจนพงษ์ (๒๕๒๖-๒๕๒๗)
ทนพญ.นนทิยา เกียรติภักดีกุล (๒๕๒๗-๒๕๒๘)
ทนพ.สุวรรณ พงษ์สังข์ (๒๕๒๘-๒๕๓๑)
ทนพ.สมชัย จินตนไชยวัฒน์ (๒๕๓๑-๒๕๓๕)
ทนพญ.ดร.ภาวพันธ์ ภัทรโกศล (๒๕๓๕-๒๕๔๑)
ทนพ.เชษฐา มนตรีวิบูลย์ชัย (๒๕๔๑-๒๕๔๓)
กิจกรรมที่ชมรมฯ ดำเนินการ ได้แก่
๑.การจัดทำหนังสือทำเนียบรุ่น (Brochure) ๕ เล่ม
๒. การจัดงานคืนสู่เหย้า รวม ๗ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑ งาน”คืนสู่เหย้าเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ” ที่ โรงแรม Royal Orchid วันที่ ๒๙ ก.ค. ๒๕๒๖
ครั้งที่ ๒ งาน “คืนสู่เหย้าเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ” ที่ ห้องมงกุฎเกล้า ร.พ.พระมงกุฎเกล้า วันที่ ๓๐ พ.ย.๒๕๒๘
ครั้งที่ ๓ งาน “เยือนเหย้า ๓๑” ที่ห้องมรกต โรงแรมอินทรา วันที่ ๒๓ เม.ย.๒๕๓๑
ครั้งที่ ๔ งาน “Med-Tech Gala Night” ที่โรงแรมเอเชีย วันที่ ๒๕ ม.ค.๒๕๓๕
ครั้งที่ ๕ งาน “ราตรีนี้...เทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ” ที่คอนเวนชั่นฮอลล์เอ บี โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท วันที่ ๑๕ ต.ค.๒๕๓๗
ครั้งที่ ๖ งาน “ ๓๐ ยังแจ๋ว MT-CU” ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๐ ต.ค. ๒๕๔๑
ครั้งที่ ๗ งาน” Millennium night T-CU” ที่โรงแรม Royal River เชิงสะพานกรุงธน วันที่ ๒๙ ต.ค.๒๕๔๓
๓. จัดทำหนังสือ สารเทคนิคการแพทย์ จุฬา ISSN 0857-4987 ระหว่างพ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๔๒โดยมี ผศ.ทนพ.สุพล พลธีระ เป็นบรรณาธิการ
๔. จัดตั้ง ทุนชมรมเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ โดยเริ่มมีผู้บริจาค ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๑ และจัดตั้งเป็นกองทุนชมรมเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ โดยมีระเบียบรองรับเมื่อ ๑๖ ธ.ค.๒๕๓๕
การยุติชมรม เนื่องจากอาจารย์ และศิษย์เก่าของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่า คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น ในพ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีการยุติการดำเนินการชมรมเทคนิคการแพทย์ จุฬา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา
จนกระทั่งศิษย์เก่าทุกรุ่นเห็นพ้องต้องกัน ให้มีการรื้อฟื้น “ชมรมเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ที่ผ่านมา





****************************************
ที่มา : https://www.facebook.com/Medtechtoday/posts/657951671006932:0