ผู้เขียน หัวข้อ: การตรวจเอชไอวีในประเทศไทย โดย ทนพ.สมบูรณ์ หนูไข่  (อ่าน 3173 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
การตรวจเอชไอวีในประเทศไทย โดย ทนพ.สมบูรณ์ หนูไข่ ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข



การตรวจเอชไอวีในประเทศไทย

โดย ทนพ.สมบูรณ์ หนูไข่
ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข

ช่วงนี้มีประเด็นเรื่องการวินิจฉัยผิดพลาดทางการแพทย์ ประเด็นหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีผลกระทบด้านจิตใจค่อนข้างสูงคือในกรณีวินิจฉัย ผิดพลาดเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี จริง ๆ แล้วไม่ใช่ประเด็นที่ไม่เคยเกิดขึ้น เคยมีเหตุการณ์การวิฉัยผิดพลาดมาในอดีต และทางผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้วางมาตรการต่าง ๆ ในการที่จะป้องกันการผิดพลาดนี้มาโดยตลอด แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอันหนึ่งที่ว่า ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้ ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นโดยมนุษย์ทำ (Human Error) หรือด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี่ทางด้านการตรวจ ในบทความนี้จะเล่าในฟังเรื่องนโยบายและมาตรฐานการตรวจเอชไอวีในประเทศว่ามี อะไรบ้างเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ

1. ตรวจฟรี ปีละ ๒ ครั้ง หลาย ๆ ท่านอาจไม่รู้ว่า ทุกท่านที่มีเลขบัตรประจำตัว ๑๓ หลักสามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรี ตามสถานพยาบาลของรัฐ หากท่านมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี การที่นโยบายให้ตรวจฟรีนี้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจและการรับรู้สถานะการติดเชื้อ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลรักษา

2. การให้การปรึกษาก่อนและหลังการตรวจ อันนี้เป็นหลักการสากล ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยที่หากสถานบริการทางการแพทย์จะให้บริการตรวจเอชไอวีจะ ต้องมีบริการให้การปรึกษาก่อนและหลังการตรวจเสมอ เพราะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเอชไอวีกับผู้มารับบริการ การปฏิบัติตนหลังจากทราบผลไม่ว่าจะเป็นผลบวก หรือ ผลลบ การส่งต่อทางการแพทย์ตามความจำเป็น ดังนั้นหากเข้าไปตรวจเอชไอวีแล้วไม่มีผู้ให้คำปรึกษามาคุยกับเราก่อนและหลัง การตรวจอันนี้ถือว่ายังไม่ได้มาตรฐาน

3. ชุดตรวจต้องผ่าน อย. ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีที่จะวางตลาดในประเทศไทยนั้นต้องปฏิบัติตามกฎ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๑๗๙ ง วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒) โดยที่ชุดตรวจนั้น ๆ ต้องผ่านเกณฑ์คุณภาพที่ทางองค์การอาหารและยา (อย.) กำหนด ดังนั้นสถานบริการทางการแพทย์ในประเทศที่ให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ต้องใช้ชุดตรวจที่ผ่านการประเมินจาก อย. ทุกชุดตรวจที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีรายบุคคล

4. การเลือกชุดตรวจต้องทำตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค ในคู่มือแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย ปี ๒๕๕๗ (http://www.thaiaidssociety.org/index.php…) มีหลักเกณฑ์ในการเลือกชุดตรวจที่จะใช้ในแต่ละหน่วยงานซึ่งเกณฑ์การเลือกชุด ตรวจนั้นมีเช่น ชุดตรวจต้องผ่าน อย ชุดตรวจที่เลือกใช้ต้องมีความแตกต่างของแอนติเจน (โปรตีนของตัวเชื้อ) ที่แตกต่างกัน ชุดตรวจที่ใช้เป็นชุดตรวจที่ ๑ ควรมีความไว สูงสุด เป็นต้น ดังนั้นทุกสถานบริการทางการแพทย์ควรตรวจสอบแล้วว่าชุดตรวจที่ท่านใช้ทั้งสาม ชุดตรวจเข้าเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่

5. ตรวจสอบระบบการตรวจเอชไอวีให้มีคุณภาพ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ให้บริการตรวจเอชไอวี ต้องมีการควบคุมคุณภาพภายนอก เพื่อเป็นการตรวจสอบระบบการทำงานของห้องปฏิบัติการ โดยต้องเข้าร่วมการประเมินคุณภาพภายนอกห้องปฏิบัติการการตรวจเอชไอวีที่ ดำเนินงานโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่น ๆ อย่างน้อยปีละ ๓ ครั้ง ซึ่งการเข้าร่วมนี้เป็นการทดสอบความสามารถในการตรวจโดยจะส่งตัวอย่างที่ไม่ ทราบผลการตรวจ ให้กับห้องปฏิบัตการและห้องปฏิบัติการต้องทำตัวอย่างนั้นเหมือนกับทำกับ ตัวอย่างผู้มารับบริการ และส่งผลกลับไปยังหน่วยงาน ทางหน่วยงานก็จะส่งผลการประเมินกลับมาเพื่อดูว่าทางห้องปฏิบัติการนั้น ๆ มีความสามารถในการตรวจเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับห้องปฏิบัติการอื่น ๆ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ต้องหาวิธีการแก้ไข และป้องกัน

6. ตรวจสอบคุณภาพชุดตรวจเป็นประจำ ในทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จะมีขบวนการที่เราเรียกว่าการควบคุมคุณภาพ ภายใน (Internal Quality Control, IQC) คือการตรวจสอบคุณภาพของชุดตรวจว่ายังมีคุณภาพดีไหม ก่อนที่จะนำไปใช้ในการตรวจกับตัวอย่างจริงของผู้มารับบริการ ซึ่งจะทำโดยใช้ตัวอย่างที่เรารู้แล้วว่าเป็นบวก หรือเป็นลบ มาทดสอบ ผลการทดสอบต้องตรงกับค่าของตัวอย่าง หากไม่ตรงกันต้องหาว่าเกิดจากสาเหตุใด และทำการแก้ไข จึงจะสามารถนำตัวอย่างจริงมาทดสอบได้

7. กลวิธีการตรวจและการแปลผลที่เป็นมาตรฐาน กลวิธีในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีคือขั้นตอนการใช้ชุดตรวจหลาย ๆ ชุดเพื่อเป็นข้อมูลการแปลผลการตรวจหาการติดเชื้อ สำหรับประเทศไทยที่มีค่าความชุกของการติดเชื้อต่ำ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และองค์การอนามัยโลก (WHO) และกรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแนะนำการตรวจในประเทศไทยให้ใช้ชุดตรวจกรอง ๓ ชุดตรวจในการยืนยันผลกรณีที่รายงานผลเป็นบวก และใช้ผลการตรวจเพียง ๑ ชุดตรวจสำหรับกรณีที่รายงานผลเป็นลบ ทั้งนี้เพื่อให้ค่าทำนายความถูกต้องของผลการตรวจ (Predictive value) ทั้งผลเป็นบวก (Positive predictive value: PPV) และ ผลเป็นลบ (Negative predictive value: NPV) มีความถูกต้องมากที่สุด โดยเมื่อเราซึ่งเมื่อเราใช้สามชุดตรวจแล้วกับความชุกของบ้านเราที่ ร้อยละ๑.๔ จะได้ค่า PPV อยู่ที่ร้อยละ ๙๙.๙๙๓ หมายความว่า เราสามารถเชื่อมั่นได้ว่า ในหนึ่งแสนคนที่รายงานผลเป็นบวก มีความถูกต้อง ๙๙,๙๙๓ คนและอาจมีการรายงานผลเป็นผลบวกปลอมได้ ๗ คน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยี่ในปัจจุบัน

8. ตรวจตัวอย่างที่ ๒ ป้องกันการสลับคนสลับผล หลังจากการตรวจเอชไอวีแล้วให้ผลเป็นบวกและผู้รับบริการเพิ่งเคยได้ตรวจได้ผล บวกใหม่ เพื่อความมั่นใจว่าการเจาะเลือดและการตรวจเลือดไม่สลับกันโดยไม่ตั้งใจ ทางห้องปฏิบัติการจะขอให้เจาะตัวอย่างที่ ๒ เพื่อยืนยันตัวบุคคล (ไม่ใช่การยืนยันผลการตรวจ) โดยตัวอย่างที่สองนี้จะตรวจโดยใช้ชุดตรวจแค่ ๑ ชุดตรวจก็พอ ซึ่งผลต้องออกมาเป็นบวก

9. หากผลเป็น “สรุปไม่ได้” ต้องนัดตรวจใหม่ ในบางกรณีผลการตรวจอาจไม่สามารถสรุปได้ว่าผลเป็นลบหรือเป็นเป็นบวกอันเนื่อง จากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า ผู้มารับบริการอาจเพิ่งสัมผัสเชื้อมา และร่างกายยังสร้างแอนติบอดี้ (โปรตีนที่สร้างขึ้นเมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าร่างกาย) ไม่ถึงระดับที่ชุดตรวจจะตรวจได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า “Window period” ซึ่งส่งผลให้ชุดตรวจบางชุดตรวจให้ผลบวก บางชุดตรวจให้ผลลบ หรืออาจเกิดจากร่างกายของผู้รับบริการสร้างสารที่ทำปฏิกิริยากับชุดตรวจบาง ชุดตรวจ ทำให้ไม่สามารถแปลผลการตรวจได้ ต้องทำการนัดผู้รับบริการนั้น ๆ มาตรวจซ้ำ แล้วจึงจะแปลผลการตรวจได้

10. แม้ผลเป็นลบ แต่มีประวัติเสี่ยงก็ตรวจซ้ำ ในกรณีผู้รับบริการตรวจแล้วผลเป็นลบ แต่ผู้ให้คำปรึกษาซักถามแล้วผมว่ามีประวัติเสี่ยงมายังไม่เกิน ๑ เดือน ผู้ให้คำปรึกษาจะนัดผู้รับบริการนั้น ๆ มาตรวจซ้ำอีกเมื่อครบ ๑ เดือน

จากที่เล่ามานี้จะเห็นว่าประเทศไทยมีกระบวนการในการควบคุมคุณภาพการตรวจเอ ชไอวี ตั้งแต่การควบคุมการนำเข้า การผลิต และการจำหน่ายชุดตรวจ มีคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขในด้านการตรวจและการแปลผล การติดตาม การรักษาและการป้องกัน และยังมีการควบคุมคุณภาพทั้งภายในและภายนอกห้องปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะให้ผลการตรวจมีคุณภาพ ถูกต้อง เพื่อการดูแลประชาชนในประเทศ





*******************************************
ที่มา : http://amtt.org/