ผู้เขียน หัวข้อ: นโยบาย สธ.ช่วยชาวสวนยางจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มียางพาราเป็นวัตถุดิบสำคัญมากขึน  (อ่าน 411 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
นโยบาย สธ.ช่วยชาวสวนยาง จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มียางพาราเป็นวัตถุดิบสำคัญมากขึ้น


              สธ.ขานรับนโยบายรัฐบาลช่วยชาวสวนยาง วาง 3 แนวทางช่วยเหลือ ให้หน่วยงานในสังกัดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบ เช่น ถุงมือผ่าตัด ถุงมือตรวจโรค สายสวนปัสสาวะ ถุงยางอนามัย ที่นอนผู้ป่วย รองเท้าเพื่อสุขภาพ รองเท้าทางการแพทย์ ปี 59 มีวงเงินจัดซื้อ 1,000 ล้านบาท อย.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบการผลิตเพิ่มมากขึ้น

              นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการกระตุ้นให้มีการนำยางพารามาเป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องมือแพทย์ว่า สืบเนื่องจากปัญหาราคายางพาราในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขร่วมกันอย่างบูรณาการ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้หน่วยงานในสังกัดรวบรวมข้อมูล เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางตามนโยบายรัฐบาล เบื้องต้นได้วางแผนดำเนินการ  3 ส่วนดังนี้

1.เร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัด สำรวจและดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต โดยในปี 2557 และ 2558 กระทรวงสาธารณสุขใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ได้แก่ ถุงมือผ่าตัด ประมาณ 52 ล้านคู่ต่อปี ถุงมือตรวจโรค 88 ล้านคู่ต่อปี สายสวนปัสสาวะ 2 ล้านกว่าเส้นต่อปี และยังมีถุงยางอนามัย รวมมูลค่าปีละ 937 ล้านกว่าบาท ส่วนปี 2559 วงเงินการจัดซื้อ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะได้จัดซื้อเพิ่มเติมในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบอาทิที่นอนผู้ป่วย รองเท้าเพื่อสุขภาพ รองเท้าทางการแพทย์ เป็นต้น 

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ดูแลด้านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย สายสวนปัสสาวะ สายให้อาหาร สายน้ำเกลือ ถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์ ใช้น้ำยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตให้มากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ปรับลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้เร็วขึ้น เน้นแนวทางการควบคุมเป็นไปตามหลักสากลสอดคล้องกับอาเซียน ที่มีการควบคุมเฉพาะคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ดำเนินการผลิตเพื่อการส่งออกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

3.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ถุงมือทางการแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน คลินิก เลือกซื้อและใช้ถุงมือทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางให้มากขึ้น เช่น ใช้ถุงมือยางที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ ในผู้ประกอบการด้านอาหาร เพื่อลดการสัมผัสอาหารด้วยมือเปล่า เพิ่มความปลอดภัยจากโรคระบบทางเดินอาหาร

             ทั้งนี้ จะเสนอรัฐบาลสนับสนุนด้านการลงทุน หรือมาตรการทางด้านภาษีให้แก่ผู้ประกอบการผลิตถุงมือทางการแพทย์ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีเงินทุนน้อย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทยมีผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์  22 ราย ในปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกของถุงมือยางสำหรับสำหรับตรวจโรค ถุงมือยางสำหรับอุตสาหกรรม ถุงมือยางใช้ในครัวเรือน จำนวน 28,217.50 ล้านบาท ส่วนถุงมือยางสำหรับศัลยกรรมมูลค่าการส่งออก 7,795.86 ล้านบาท สำหรับถุงยางอนามัยมีผู้ผลิต 9 ราย มูลค่าการส่งออก ปี 2557 จำนวน 4,622.38 ล้านบาท





************************************
ที่มา : http://www.hfocus.org/news