ผู้เขียน หัวข้อ: เสนอยกระดับ ‘รพ.สต.’ ตรวจเลือด-จ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ลดแออัด รพ.ใหญ่  (อ่าน 470 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
เสนอยกระดับ ‘รพ.สต.’ ตรวจเลือด-จ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ลดแออัด รพ.ใหญ่


             เครือข่ายเอดส์ฯ เสนอทางเลือกผู้ติดเชื้อฯ รับยาต้านไวรัสเอชไอวี ยกระดับ รพ.สต.แบบเบ็ดเสร็จ ตรวจเลือด ฟังผล รับยาได้เลย เพื่อลดเวลา ลดปัญหาการแออัดใน รพ.ใหญ่ พร้อมพัฒนาร้านขายยาจ่ายยาให้ติดเชื้อเอชไอวี อำนวยความสะดวกใกล้บ้าน

             นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์จะต้องรับยาต้านไวรัสฯ ในสถานพยาบาลที่มีสิทธิการรักษาอยู่ทุกๆ 3-4 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ คือ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ทุก 4 เดือนอาจต้องไปเจาะเลือดหรือไปพบแพทย์ซ้ำ บางรายไม่ค่อยสะดวกในการไปพบแพทย์ เนี่องจากต้องเดินทางจากบ้านไปโรงพยาบาลใหญ่ค่อนข้างไกล จึงเป็นภาระแก่ผู้ป่วย แม้ที่ผ่านมาจะมี รพ.สต.หลายแห่งสามารถจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่ผู้ป่วยได้ แต่จะดีกว่าหรือไม่หากการพบแพทย์ หรือการส่งตรวจเลือดจะทำได้ที่ รพ.สต.แบบเบ็ดเสร็จ

             “กระทรวงสาธารณสุขน่าจะยกระดับโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ โดยเฉพาะ รพ.สต.ให้มีศักยภาพแบบเบ็ดเสร็จ นอกจากที่ผู้ป่วยจะเดินทางมารับยาต้านไวรัสฯ ที่ รพ.สต.แล้ว ก็น่าจะสามารถตรวจเลือดและฟังผลได้ที่ รพ.สต.เลย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รับยาเป็นประจำ จะมีอาการคงที่ สามารถควบคุมอาการได้ในระดับดี ดังนั้น หากลดเวลา ลดปัญหาการแออัดใน รพ.ใหญ่ๆ แนวทางนี้ก็น่าจะดีกว่า” นายอภิวัฒน์ กล่าว

              ส่วนกรณีที่เคยมีข้อเสนอว่าควรรับยาต้านไวรัสฯ ในร้านขายยาด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยนั้น นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว การทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการและรักษา ถือเป็นเรื่องดี แต่กรณีการไปรับยาในร้านขายยา ต้องพิจารณาดีๆ เพราะต้องเป็นร้านยาคุณภาพ มีเภสัชกรประจำ และต้องมีการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยอย่างครบถ้วน ไม่ผิดพลาด ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่าต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างละเอียดด้วย

             รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (ร้านยา) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานสาขาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาในขอนแก่นมีร้านยาคุณภาพ และร้านยาที่มีเภสัชกรประจำตลอดเวลาอยู่ 20 แห่ง ซึ่งได้เข้าโครงการและร่วมกับ รพ.ในพื้นที่ให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3 กลุ่ม คือ เบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหืดในเด็ก มารับยาที่ร้านขายยาดังกล่าวได้เป็นประจำทุกๆ 1 เดือน ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเจาะเลือดก็ยังต้องไปเจาะเลือดพบแพทย์ที่ รพ. ดังนั้นจากประสบการณ์ดังกล่าว หากจะให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน เพราะทำหน้าที่จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์





************************************
ที่มา : http://www.hfocus.org/headline