ผู้เขียน หัวข้อ: ‘หมอมงคล’ ค้านโยก 7 หมื่นล้านให้บริษัทประกันดูค่ารักษา ขรก. ลิดรอนสิทธิ-กระทบ รพ  (อ่าน 1500 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์
“หมอมงคล” ซัด กรมบัญชีกลางบริหารผิดพลาด-ไร้การตรวจสอบ ต้นเหตุงบค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพุ่งสูง ค้านโยก 7 หมื่นล้านให้บริษัทประกันภัยเอกชนดูแล ชี้ไม่แก้ปัญหา ลิดรอนสิทธิข้าราชการ แนวโน้มเบิกจ่ายยาก กระทบ รพ.รัฐ เสนอ สปสช.บริหารคล้ายคลึงกองทุน อปท.

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวคิดที่จะให้บริษัทประกันเอกชนบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการจำนวน 7 หมื่นล้านบาทว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางบริหารงานผิดพลาดจึงทำให้งบค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการสูงขึ้น โดยชัดเจนว่ากรมบัญชีกลางไม่มีการตรวจสอบเรื่องการใช้บริการ อาทิ การเวียนใช้บริการ การรับยาซ้ำไปซ้ำมาแล้วนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้อาจเป็นความบกพร่องของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางไม่เคยมีการประเมินความคุ้มค่าในรายการหรือสิทธิประโยชน์ที่ให้เบิกจ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจวินิจฉัย ยา หรือวัสดุเครื่องมือทางการแพทย์ โดยชัดเจนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเมื่อบริษัทเอกชนใดเสนอรายการเข้ามา กรมบัญชีกลางไม่เคยมีการตรวจสอบความคุ้มค่าใดๆ

นพ.มงคล กล่าวว่า การบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการควบคุมงบประมาณด้วยการให้เบิกจ่ายตามงบประมาณรายหัว แต่ในกรณีการเบิกจ่ายรายหัวนั้นจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกองทุนสวัสดิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ให้ สปสช.บริหารจัดการนั้น ก็ไม่ได้ให้เบิกตามรายหัว แต่ให้เบิกตามที่จ่ายจริงซึ่งคล้ายคลึงกับสวัสดิการข้าราชการ

อย่างไรก็ตาม กองทุน อปท.นั้น มีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ซึ่งแม้ว่าจะมีการเปิดให้เบิกค่ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่แล้ว ก็พบว่าใช้งบประมาณเพียงหัวละ 6,000 บาทเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าเท่าตัวของสวัสดิการข้าราชการที่ปัจจุบันอยู่ที่หัวละ 1.2-1.3 หมื่นบาท

“สปสช.บริหาร อปท.โดยไม่ต้องมีค่าหัว คือให้รักษาและเบิกจ่ายอย่างเต็มที่ แต่มีค่าหัวอยู่ที่ 6,000 บาทเท่านั้น ตรงนี้ชัดเจนว่าเป็นความบกพร่องของกรมบัญชีกลางที่ไม่ได้ควบคุมเรื่องนี้ ฉะนั้นข้อเสนอหนึ่งคือการให้โอนย้ายมาให้ สปสช.ดูแล แต่ไม่ใช่ให้โอนมาดูแลด้วยระบบรายหัว แต่ให้โอนมาโดยให้สิทธิประโยชน์เดิมของข้าราชการและครอบครัว เพียงแต่ สปสช.ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และสามารถต่อรองเรื่องการรักษาพยาบาล การซื้อยาและวัสดุในราคาถูกได้ เพราะเป็นการจัดซื้อรวมจำนวนมาก” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคนไทยมีความเจ็บปวดกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 ที่กำหนดเงื่อนไขไว้มาก ซึ่งกว่าที่โรงพยาบาลจะเบิกได้ต้องมีใบแจ้งความ ต้องมีการดำเนินคดีทางตำรวจ ฯลฯ ฉะนั้นหากนำเงิน 6.7 หมื่นล้านบาทที่กรมบัญชีกลางใช้กับสวัสดิการรักษาข้าราชการตอนนี้ และ รมว.คลังระบุว่าจะไม่ให้เกิน 7 หมื่นล้านบาทไปให้บริษัทประกันภัย ก็จะเข้าข่ายคล้ายคลึงกัน คืออาจมีความพยายามเบี่ยงเบนให้มาเบิกที่อื่นแทน เบิกจากบริษัทประกันภัย

“มันจะเหมือนกับที่โรงพยาบาลไม่สามารถเบิกเงินจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยฯ ได้ในปัจจุบันนี้ เชื่อว่าหากให้บริษัทประกันภัยเอกชนดำเนินการ โรงพยาบาลจะเจ๊งภายใน 2 ปี และจะเจ๊งทั้งระบบสมใจรัฐบาลที่อยากให้เจ๊ง ส่วนตัวสงสัยว่าคนที่จะไปตกลงให้เอกชนมาดำเนินการกับเงิน 7 หมื่นล้านบาทนั้น สุจริตใจจริงหรือไม่ เพราะแค่ 1% ก็เป็นเงินเท่าใดแล้ว แล้วในข้อเท็จจริงถามว่ามีหรือแค่ 1 %” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวว่า ไม่ต้องพยากรณ์ก็รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตัวอย่างจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยฯ คือเสือกินเปล่าทุกปี เพราะโรงพยาบาลก็ไปเบิกจากกองทุน 30 บาท หรือจากส่วนอื่นๆ ฉะนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยฯ มีไว้ให้เสือนอนกินกับกลุ่มผลประโยชน์เท่านั้น เพราะเป็นค่าบริหารจัดการถึง 50% ของงบประมาณ

“ฉะนั้นรัฐบาลเองควรกลับมาทบทวนใหม่ ข้าราชการและครอบครัวโดยเฉพาะสมาคมข้าราชการพลเรือนต้องออกมาปกป้องสิทธิที่จะเสียไป โรงพยาบาลรัฐทุกระดับจะคอยให้ล้มละลายก่อนแล้วค่อยออกมาโวยคงไม่มีประโยชน์ต่อผู้รับบริการทั่วไปรวมทั้งประชาชนผู้ใช้บัตรทอง” นพ.มงคล กล่าว














ที่มาhttps://www.hfocus.org/content/2016/11/13068