ผู้เขียน หัวข้อ: เด็ก"ก็เป็นเบาหวานได้ ตั้งแต่วัยอนุบาล..  (อ่าน 1173 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับโรคเบาหวานในเด็ก จนอาจสงสัยว่าเด็กเป็นเบาหวานได้ด้วยหรือ แท้จริงแล้ว "เด็ก" ก็สามารถเป็นเบาหวานได้เหมือนกัน...
คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับโรคเบาหวานในเด็ก จนอาจสงสัยว่าเด็กเป็นเบาหวานได้ด้วยหรือ เบาหวานในเด็ก ส่วนมากแล้วเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งสามารถพบได้ในเด็กทุกอายุตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงวัยรุ่น

เบาหวานชนิดที่ 1
เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของตนเอง ทำให้สร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่ได้ เมื่อขาดอินซูลิน ระดับ นํ้าตาลก็จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด ทำให้ตรวจพบนํ้าตาลในเลือดสูง สาเหตุแน่นอนยังไม่มีใครทราบ แต่ว่ามี ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่อาจเกี่ยวข้อง ได้แก่ พันธุกรรม หรือเชื้อชาติ แต่จากการสำรวจในปัจจุบัน มีข้อมูลพบว่าอุบัติการณ์ของเบาหวานชนิดที่หนึ่งพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปี ซึ่งอาจมีผลจากปัจจัยบางอย่างจากสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้อง คือ การเปลี่ยนแปลงสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้เกิดการกระตุ้น ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติขึ้น ในทางการวิจัยก็พบว่าการติดเชื้อไวรัสบางชนิด อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันผิดปกติขึ้น อย่างไรก็ตามสาเหตุเหล่านี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ 100% ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงหรือไม่ สำหรับ อาการของโรคเบาหวานได้แก่ มีปัสสาวะบ่อยและเยอะ มีอาการกระหายนํ้าบ่อยผิดปกติ

และเนื่องจากร่างกายนำนํ้าตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงมีอาการอ่อนเพลีย กินจุ หิวบ่อย นํ้าหนักลด ในเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่หนึ่งมักมีอาการเหล่านี้มาไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจมีเลือดเป็นกรดและคีโตนคั่ง เราเรียกภาวะนี้ว่า “ดีเคเอ” (DKA; Diabetic ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ ฉุกเฉิน บางคนอาจอาเจียน ปวดท้อง หายใจหอบหรืออาจหมดสติ บางรายที่เป็นมากถึงกับเสียชีวิตก็ได้
ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเบาหวานชนิดที่ 1
 
“เด็กเป็นเบาหวานจากการทานนํ้าตาลหรือของหวานมากเกินไป” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด บ่อยครั้งพ่อแม่มักรู้สึกผิดที่ลูกเป็นเบาหวาน บางคนโทษพันธุกรรมไม่ดี เลี้ยงลูกหรือดูแลลูกไม่ดีหรือเปล่าจึงทำให้ลูกเป็นเบาหวาน หมอต้องให้ความมั่นใจว่าไม่ใช่ พันธุกรรมเองก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าจะเป็นเบาหวานทั้งหมด อาจมาจากหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้ตับอ่อนถูกทำลาย โดยอาจหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
        
“รอรักษาเบาหวานให้หายก่อนค่อยมาโรงเรียน” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การรักษาเด็กกลุ่มนี้คือต้องได้รับอินซูลินทดแทน ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับอินซูลินโดยรูปแบบฉีดเท่านั้น มีความพยายามผลิตอินซูลินในรูปแบบอื่น ๆ เช่นรับประทาน หรือแบบพ่นทางปาก แต่พบว่าได้ผลไม่ดีเนื่องจากอินซูลินถูกทำลายได้ง่ายในกระเพาะอาหาร หรือมีผลข้างเคียงอื่น ๆ การรักษาในระยะยาว ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องฉีดอินซูลินวันละอย่างน้อย 2-4 ครั้ง ทุก ๆ วันไปตลอดชีวิต เนื่องจากตับอ่อนเสียหายอย่างถาวร
        
’เบาหวานเป็นโรคติดต่อ” เบาหวานไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะติดเบาหวานจากเพื่อน
        
“เป็นเบาหวานไม่ควรออกกำลังกายหรือเล่นพละ” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ ช่วยให้ระดับนํ้าตาลควบคุมได้ดี เด็กทุกคนไม่ว่าเป็นหรือไม่เป็นเบาหวานควรจะมีการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามวัย
        
“เป็นเบาหวาน ห้ามกินขนมหรือของหวาน” เด็กที่เป็นเบาหวานสามารถทานขนมและของหวานได้ตามโอกาสพิเศษเป็นครั้งคราว เช่นเดียวกับเด็กปกติ แต่ต้องเรียนรู้การฉีดอินซูลินให้เหมาะสม และไม่บริโภคนํ้าตาลเกินกำหนด (ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน) เช่นเดียวกับที่แนะนำเด็กปกติทั่วไป
        
สิ่งที่สำคัญคือ เบาหวานชนิดที่หนึ่งนี้ เด็กดูแลตัวเองคนเดียวไม่ได้ พ่อแม่ เพื่อน คุณครู ต่างมีส่วนสำคัญมากในการให้กำลังใจ ดูแลการใช้ชีวิต การฉีดยา และการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รวมถึงต้องพยายามให้เด็ก ๆ มีการพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่ดี เหมาะสมตามวัย ใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กปกติทั่ว ๆ ไป เมื่อแรกวินิจฉัย ทีมแพทย์พยาบาลจะช่วยสอนเรื่องอาหาร การดูแลตนเอง การเจาะเลือด ฉีดยา การจัดการภาวะนํ้าตาลสูง (ไฮเปอร์ = hyperglycemia) การแก้ไขภาวะนํ้าตาลตํ่า (ไฮโป = hypoglycemia) ครอบครัวจะได้รับการสอนให้มีความมั่นใจในการดูแลน้อง ๆ ที่เป็นเบาหวานได้เองที่บ้าน และที่สำคัญเมื่อเข้าโรงเรียน คุณครูมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเหลือเรื่องการดูแลเบาหวาน โดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็กเมื่อมีภาวะนํ้าตาลสูงหรือตํ่าผิดปกติ

สิ่งที่คุณครูควรทราบ

การวัดระดับนํ้าตาลในเลือด
โดยทั่วไปเด็กที่เป็นเบาหวานควรเจาะดู     ระดับนํ้าตาลก่อนอาหารทุกมื้อ คุณครูควรมีส่วนช่วยเหลือโดยเฉพาะในเด็กเล็ก และควรอนุญาตให้เด็กซึ่งเป็นเบาหวานตรวจระดับนํ้าตาลได้ทุกเวลาที่สงสัยภาวะนํ้าตาลตํ่าหรือสูงผิดปกติ อาการของนํ้าตาลในเลือดตํ่า ได้แก่ เหงื่อออก ตัวสั่น ใจสั่น กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย หิวอาหาร ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตามัว พูดลำบาก คิดช้า ซึม สับสน ชักเกร็งและหมดสติได้ เด็กแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันไป หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบตรวจระดับนํ้าตาลในเลือด หากพบภาวะนํ้าตาลตํ่า (< 70 มก./ดล.) ควรให้การดูแลแก้ไขภาวะนํ้าตาลตํ่า ให้รับประทานนํ้าหวานเข้มข้นหรือนํ้าผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ ลูกอม 3-4 เม็ด หรือ นํ้าผลไม้ 120-180 ซีซี และตรวจนํ้าตาลซํ้า 10-15 นาทีถัดไป
อินซูลิน  

เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีการฉีดอินซูลินที่โรงเรียนในมื้อกลางวัน เด็กโตและวัยรุ่นมักสามารถฉีดยาเองได้ สำหรับเด็กเล็กอาจต้องการความช่วยเหลือ ภายใต้การดูแลของผู้ปกครองหรือคุณครู  แพทย์จะเป็นผู้ให้รายละเอียดปริมาณยาและวิธีการให้อินซูลินของเด็กแต่ละคน คุณครูมีส่วนช่วยในการจัดหาสถานที่ในการเก็บยาและฉีดยาได้อย่างปลอดภัยและถูกสุขอนามัย



การรับประทานอาหาร
เด็กที่เป็นเบาหวานควรได้รับสารอาหารที่เหมาะสมครบถ้วนตามวัย และจำเป็นต้องรับประทานอาหารตรงเวลา และบางคนจำเป็นต้องรับประทานอาหารว่างเพิ่มเติมตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากอาจมีภาวะนํ้าตาลตํ่า หากฉีดอินซูลินแล้วไม่ได้รับประทานอาหารอย่างเพียงพอเหมาะสม เด็กที่เป็นเบาหวานควรได้รับอนุญาตให้ดื่มนํ้าเปล่าได้เพียงพอตามความต้องการ  
การออกกำลังกายและกิจกรรมอื่น ๆ  

เด็กที่เป็นเบาหวานควรออกกำลังกายสมํ่าเสมอเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป ไม่ควรถูกจำกัดกิจกรรมใด ๆ การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อใช้พลังงาน มีประโยชน์มากในการควบคุมระดับนํ้าตาลและมีผลดีต่อสุขภาพด้วย แนะนำให้ออกกำลังกายหรือกิจกรรมออกแรงอย่างน้อยวันละ 20-30 นาทีทุกวัน โดย สอนให้ผู้ป่วยปรับลดขนาดอินซูลินหรือเพิ่มมื้ออาหารว่างขณะออกกำลังกาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานํ้าตาลตํ่า

เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถเล่นกีฬาได้ตามปกติ ดังที่ปรากฏว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นนักฟุตบอลทีมโรงเรียน หรือนักกีฬาบาสเกตบอล ขอเพียงแต่ผู้ป่วยรู้จักวิธีดูแลตนเอง รวมถึงกิจกรรมทัศนศึกษา เข้าค่าย ศึกษาดูงาน ฯลฯ ควรได้มีโอกาสเข้าร่วมเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป
กำลังใจ : สิ่งสำคัญในการรักษา

กำลังใจนับเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ทั้งจากครอบครัว เพื่อน และคุณครู ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตอย่างคนปรกติ กล้าเปิดเผยว่าตนเองเป็นเบาหวาน และตระหนักอยู่เสมอว่าเบาหวานไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ตนเองแตกแยกจากผู้คนทั่วไป มีผู้ป่วยเบาหวานตั้งแต่เด็กจำนวนมากที่สามารถใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จ เช่น เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร หรือศึกษาสำเร็จระดับปริญญาเอก การเป็นโรคเบาหวานยังทำให้เด็กมีระเบียบวินัยในการดูแลตนเอง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว

เบาหวานชนิดที่ 2
นอกจากเบาหวานชนิดที่หนึ่งแล้ว ปัจจุบันก็พบเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเริ่มเป็นกันมากขึ้น   เรื่อย ๆ ในเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วน ทั้งนี้เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกช่วงวัย รวมถึงเด็กและวัยรุ่นด้วย เบาหวานชนิดที่ 2 นี้ ตับอ่อนยังสร้างอินซูลินได้ แต่เซลล์อ้วนมาก เลยดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างในเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากความอ้วน คือพันธุกรรม เนื่องจากถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเบาหวานชนิดนี้ป้องกันได้ด้วยการลดนํ้าหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารให้ดี ซึ่งอาจช่วยให้สามารถควบคุมนํ้าตาลได้ โดยไม่ต้องใช้ยาฉีดหรือยารับประทาน

การเฝ้าติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก รีบวินิจฉัยและรักษาโรคอ้วนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน โดยคุณครู และกุมารแพทย์ จะมีบทบาทสำคัญในการติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก ให้ความรู้แก่ผู้ปกครองถึงผลเสียของโรคอ้วน รีบให้คำปรึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิดเมื่อพบว่าเด็กมีนํ้าหนักเกิน ควรสร้างแรงจูงใจให้เด็กและครอบครัวร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกาย เพื่อประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาในระยะยาว
        
ข้อมูลจาก รศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ....



ที่มา : https://www.dailynews.co.th/article/595773