ผู้เขียน หัวข้อ: หัวใจขาดเลือดส่งผลต่อสมองได้  (อ่าน 595 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
หัวใจขาดเลือดส่งผลต่อสมองได้
« เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2017, 10:20:05 am »


สกว.ชี้ภัยเงียบจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย เสี่ยงเกิดภาวะเซลล์สมองตาย สมองเสื่อม และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นโรคอัลไซเมอร์ ย้ำผู้ป่วยโรคหัวใจควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและสมอง
          ศ.ดร.สิริพร ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากหน่วยสรีรวิทยาระบบประสาท ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงภัยเงียบต่อสมองในโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่คนทั่วโลกเป็นกันมากขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก ในประเทศไทยโรคดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดใกล้เคียงกับการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง
          โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน หรือบางรายอาจเกิดจากการอุดตันเฉียบพลัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ อาการของผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายจะเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง และอาจเจ็บร้าวไปที่คอหรือขากรรไกรหรือไหล่ซ้ายได้
          "บางคนอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ และอาจมีอาการคลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น หอบเหนื่อยร่วมด้วย โดยมีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของการเกิดโรค เช่น โรคความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วัยหลังหมดประจำเดือน และผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเราต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้"
          เมธีวิจัยอาวุโส สกว.ระบุเพิ่มเติมว่าการมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนั้น นอกจากจะเป็นภาวะที่มีความอันตรายถึงชีวิตแล้ว อาจจะไม่มีใครคาดถึงว่ามีภัยร้ายที่แอบแฝงอยู่ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นั่นคือ มีผลกระทบต่อสมองด้วย จากการศึกษาของคณะผู้วิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่าหลังจากมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแล้วเกิดมีเลือดกลับมาเลี้ยงใหม่นั้น จะทำให้เกิดมีภาวะเครียดออกซิเดชัน หรือมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นในสมองเพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์สมองตาย รวมกับมีการสะสมของเบต้าอะไมลอยด์ (beta-amyloid, Aβ) เพิ่มขึ้นในสมอง ซึ่งเป็นพยาธิสภาพที่มีลักษณะคล้ายโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นในสมอง
          “จะเห็นได้ว่าการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียเฉพาะแต่ที่หัวใจเท่านั้น แต่ยังมีภัยร้ายที่ซ่อนอยู่กับสมองอีกด้วย เพราะจะทำให้เกิดภาวะเซลล์สมองตาย สมองเสื่อมได้เช่นกัน ดังนั้นการดูแลสุขภาพตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ถ้าเป็นโรคหัวใจแล้วก็ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทั้งหัวใจและสมอง” ศ.ดร.สิริพรกล่าวสรุป

ที่มาhttp://www.thaihealth.or.th