ผู้เขียน หัวข้อ: ‘รพ.เวียงป่าเป้า’ ใช้แอปทำงานกับ อสม. ตอบโจทย์ระบบปิด รักษาความลับผู้ป่วย  (อ่าน 5028 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
รพ.เวียงป่าเป้า ใช้แอป อสม.ออนไลน์ ทำงานร่วมกับ อสม.ในพื้นที่ ตอบโจทย์สะดวก รวดเร็ว ข้อมูลถูกต้อง เชื่อถือได้ ทั้งมีความปลอดภัย โดยเฉพาะข้อมูลผู้ป่วย เหตุเป็นระบบปิดจำกัดกลุ่ม อสม.เท่านั้น ช่วยรักษาความลับผู้ป่วย ขณะเดียวกันข้อมูลไม่สูญหาย ดึงย้อนหลังได้ เผยเริ่มต้น อสม.ใช้แอปนี้งานกันเองก่อน ทำให้หมอ-เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ และใช้แอปนี้ทำงานร่วมกัน






นายชาญชัย ผิวสอาด





นายชาญชัย ผิวสอาด นักวิชาการสาธารณสุข กลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ในการทำงานกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ได้ใช้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ (App อสม.ออนไลน์) เป็นช่องทางในการสื่อสาร ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจาก อสม.ในพื้นที่ได้มีการนำแอปนี้มาใช้งานกันเองก่อน ทำให้หมอและเจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ และมีการใช้แอปพลิเคชันนี้ในการทำงานร่วมกัน ภายหลังจากที่ได้ใช้งานมากว่า 1 ปี ต้องบอกว่า App อสม. ออนไลน์ เป็นแอปที่ตอบโจทย์การทำงานได้ดี เพราะได้มีการออกแบบเมนูต่างๆ ที่เข้าใจง่าย รวมถึงการทำงานของแอปที่มีความเหมาะสม เพื่อรองรับงานของ อสมโดยเฉพาะ ซึ่งยอมรับว่าทางบริษัท เอไอเอส ได้มีการศึกษา อสม.มาดี ในการทำระบบที่ครอบคลุมการใช้งาน ช่วยเพิ่มความสะดวกการประสานงานและการทำงาน ทั้งกับ อสม.และเจ้าหน้าที่เอง

ทั้งนี้การทำงานของแอปจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนของหน้าจอทั่วไป โดยจะมีในส่วนของการรับแจ้งข่าว ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ อสม.คือการแจ้งข่าวร้าย กระจายข่ายดี การส่งข้อมูลต่างๆ ในการทำงาน และในส่วนของแอดมินที่จะทำหน้าที่ในการแจ้งข่าว การรับรายงานต่างๆ ทั้งยังมีช่องทางพูดคุยที่คล้ายกับแอปพลิเคชัน Line โดยข้อมูลที่แจ้งและส่งในแอป อสม.ออนไลน์จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะเป็นข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองก่อน แล้วจึงแจ้งให้ อสม.รับทราบ เพื่อนำไปกระจายต่อไป

“แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เป็นแอประบบปิด จำกัดการใช้งานเฉพาะกลุ่มเท่านั้น นอกจากข้อมูลที่มีความถูกต้องแล้ว ที่สำคัญมากที่สุดการการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะกับข้อมูลผู้ป่วยที่ อสม.ได้ติดตามและรายงานกลับมาที่ถือเป็นความลับผู้ป่วย โดย อสม.ที่จะใช้งานแอปนี้ได้ต้องผ่านการลงทะเบียนก่อน ซึ่งต้องได้รับการยืนยันว่าเป็น อสม. ต่างจากแอปพลิเคชัน Line ที่เป็นระบบเปิดสาธารณะและมีการแชร์ข้อมูลกันถูกต้องบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง”

นายชาญชัย กล่าวว่า ในการส่งรายงานการทำงานของ อสม.นั้น จากแอปพลิเคชันนี้ทำให้ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของ อสม.ได้ จากเดิมที่ อสม.ต้องขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งรายงานเพียงแผ่นเดียว บางครั้งไม่ว่าง ทำให้ส่งรายงานล่าช้า แต่จากระบบส่งรายงานผ่านแอป ทำให้ อสม.ไม่ต้องเดินทางมาส่งรายงานเองที่โรงพยาบาล ซึ่งบางคนก็อยู่ค่อนข้างไกล บนเขา การเดินทางยาก ขณะเดียวกันยังสามารถติดตามการทำงานของ อสม.ได้ดีขึ้น ซึ่ง อสม.ที่ลงพื้นที่ดูผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยโรคระบาด ผู้ป่วยและผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง จะมีการส่งรูปมาให้ดู ทำให้เรามีข้อมูลผู้ป่วยและสาธารณสุขในพื้นที่ที่มีความชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆ ที่ส่งกันผ่านแอป อสม.ออนไลน์ ยังสามารถเรียกดูย้อนหลังได้ ไม่หายไป เนื่องจากมีพื้นที่เก็บข้อมูลค่อนข้างมาก ต่างจากแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่เมื่อใช้งานไปสักพักข้อมูลที่ส่งกันเหล่านี้ก็จะหายไป ไม่สามารถเรียกดูได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการทำงาน

ทั้งนี้ปัจจุบันเรามีเครือข่าย อสม.ประมาณ 200 คนกระจายทำงานในพื้นที่ ซึ่งยังมี อสม.บางส่วนที่ยังไม่ได้ใช้งานแอป อสม.ออนไลน์ ในการประสานการทำงาน เนื่องจากศักยภาพของ อสม.แต่ละคนไม่เท่ากัน ทั้งบางคนยังติดขัดในเรื่องสมาร์ทโฟน ยังคงใช้งานมือถือรุ่นเก่า ขณะเดียวกันในบางพื้นที่ก็ยังมีปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ยังเป็นอุปสรรค แต่ในอนาคตเชื่อว่าจำนวน อสม.ที่ใช้แอปจะเพิ่มมากขึ้นจนครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการส่งเสริมให้ อสม.ใช้งานแอปนี้เพิ่มขึ้น โดยมีการจัดอบรม เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทางเดียวกัน

“ขณะนี้การทำงานกับ อสม.เราใช้เพียงแอป อสม.ออนไลน์ เป็นช่องทางหลักในการทำงานหลักกับ อสม. เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่เริ่มใช้โดยในกลุ่ม อสม.ด้วยกันเอง และส่วนใหญ่ต่างมีความคุ้นชินกับแอปนี้แล้ว ขณะเดียวกันทางเอไอเอสได้มีการพัฒนาแอปนี้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ใช้ได้เพียงแค่ระบบแอนดรอยด์ ต่อมาได้เพิ่มให้ใช้งานในระบบไอโอเอสได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นไปได้อยากให้เพิ่มระบบการคีย์รายงานในแอปนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการส่งรายงานให้กับ อสม.มากขึ้น” นักวิชาการสาธารณสุข รพ.เวียงป่าเป้า กล่าว

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมกระบวนการทำงาน การเรียนรู้และสุขภาพ ประจำปี 2017 (WSIS 2017 Prizes Winner) สำหรับรางวัลนี้ เป็นโครงการที่สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (International Telecommunication Union : ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคมโลก สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยมีพิธีมอบรางวัล ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผลงานที่ทำให้เอไอเอสได้รางวัล WSIS 2017 Prizes Winner ในปี 2560 คือการพัฒนาแอปพลิเคชัน "อสม.ออนไลน์" มาช่วยส่งเสริมการทำงานด้านสาธารณสุขของ อสม. ภายใต้แนวคิด Digital For Thais ที่มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น








https://www.hfocus.org/sites/default/files/u11/sm.thaayphaaphaakaarphuupwy_aelakaarlngphuuenthiiaihecchaahnaathiirph.aelasm.khnuuenaidrabthraab.jpg



อสม.ถ่ายภาพอาการผู้ป่วย และการลงพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่รพ.และอสม.คนอื่นได้รับทราบ







อสม.อ่านข้อมูลด้านสุขภาพจากรพ.ให้ญาติผู้ป่วยได้รับทราบ







ที่มา...https://www.hfocus.org/content/2018/04/15655