ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม ครอบคลุมทุกมิติ  (อ่าน 458 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์




เปิดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม รัฐบาล ย้ำ! ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการครองชีพพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร และเครื่องมือทำมาหากิน ยืนยัน ไม่ทอดทิ้งประชาชน

วันที่ 18 ก.ย.62 เฟซบุ๊กแฟนเพจไทยคู่ฟ้าของรัฐบาล ได้เผยแพร่ข้อมูล ระบุถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม โดยระบุว่า จากอิทธิพลของพายุโพดุลและคาจิที่ส่งผลให้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.62 ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 32 จังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนักที่สุดคือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งรัฐบาลสั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบเฉพาะหน้าอย่างทั่วถึง และพยายามระบายน้ำออกจากพื้นที่วิกฤตให้ได้มากที่สุด

มีการระดมเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร จิตอาสา บูรณาการอพยพผู้ประสบภัย ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดส่งอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ระดมเครื่องมืออุปกรณ์ เรือ เข้าช่วยเหลือประชาชนและขนย้ายทรัพย์สิน พร้อมทั้งผลักดันน้ำที่ท่วมขังในทุกรูปแบบ โดยมีอาสาสมัครกู้ภัยเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ จ.พิษณุโลก สุโขทัย ยโสธร อุบลราชธานี และตรวจความพร้อมการบริหารจัดการน้ำภาคใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช สั่งการให้เร่งสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด และฟื้นฟูให้กลับสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งจ่ายเงินชดเชยเยียวยากรณีเสียชีวิต บ้านพักอาศัยเสียหาย พื้นที่เกษตรและเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย ฯลฯ อย่างเต็มที่

รัฐบาลดำเนินการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามแผนการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ที่ยึดหลักความถูกต้องชัดเจน โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ สำรวจและให้ความช่วยเหลือในทุกมิติ เช่น การครองชีพพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร เครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ ซึ่งจะทำทันทีเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ส่วนพื้นที่ที่น้ำยังท่วมอยู่จะเน้นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีความปลอดภัยและดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 กำหนดให้ส่วนราชการมีวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 50 ล้านบาท สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แห่งละ 20 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เกษตร มหาดไทย หน่วยงานละ 50 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และสาธารณสุข หน่วยงานละ 10 ล้านบาท เป็นต้น

โดยการเบิกจ่ายต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ และใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน ไม่สูญเปล่า ยกตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่

ค่าจัดหาสิ่งของในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยเสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท /ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำหลังละไม่เกิน 33,000 บาท /ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าว โรงเรือนเก็บพืชผลและคอกสัตว์ที่เสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 5,000 บาท /ค่าเช่าบ้านกรณีบ้านเช่าเสียหายจนอยู่ไม่ได้ ครอบครัวละไม่เกิน 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน

ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเงินทุนเลี้ยงครอบครัว ครอบครัวละไม่เกิน 11,000 บาท /ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นผู้บาดเจ็บสาหัสและต้องรักษาในสถานพยาบาล 3 วันขึ้นไป 3,000 บาท /ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นผู้บาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ 10,000 บาท /ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัว ให้เพิ่มอีกได้ไม่เกิน 25,000 บาท

เงินช่วยเหลือกรณีพื้นที่เพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายสิ้นเชิง ไม่เกินรายละ 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ ไร่ละ 1,690 บาท /ค่าจ้างขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน หรือซากที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตร ไม่เกิน 5 ไร่ ไร่ละไม่เกิน 7,000 บาท

เงินช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หอยทะเล ไม่เกินรายละ 5 ไร่ ไร่ละ 10,920 บาท /ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน ไม่เกินรายละ 5 ไร่ ไร่ละ 4,225 บาท /สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ ไม่เกินรายละ 80 ตร.ม.ๆ ละ 315 บาท

เงินช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย เช่น โค ไม่เกินรายละ 2 ตัว ตัวละไม่เกิน 6,000 - 20,000 บาท /สุกร ไม่เกินรายละ 10 ตัว ตัวละไม่เกิน 1,300 - 3,000 บาท /แพะ ไม่เกินรายละ 10 ตัว ตัวละไม่เกิน 1,000 - 2,000 บาท /ไก่ไข่ ไม่เกินรายตัว 1,000 ตัว ตัวละไม่เกิน 20 - 80 บาท /ไก่เนื้อ ไม่เกินรายตัว 1,000 ตัว ตัวละไม่เกิน 20 - 50 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมี เงินช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542 เพิ่มเติมอีก เช่น

ค่าจัดการศพ กรณีเสียชีวิต รายละ 50,000 บาท
ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลัง รายละไม่เกิน 230,000 บาท
ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน รายละไม่เกิน 15,000 – 70,000 บาท
ขณะที่ สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธอส. ธ.ออมสิน ธ.กรุงไทย ธนาคาร SME สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ยังได้ออกมาตรการให้สินเชื่ออัตราพิเศษ ขยายเวลาชำระหนี้ พักชำระหนี้ ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยอีกด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันดูแลประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยไม่ทอดทิ้งใคร ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่า แม้บางคนจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จะต้องดูด้วย รวมทั้งขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ตามกำลังของตนเอง เพื่อให้ก้าวพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน



ที่มา....https://www.sanook.com/news/7899822/