ผู้เขียน หัวข้อ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ  (อ่าน 2406 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด การควบคุมตัวยา และสารเคมี โดยทำการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในปัสสาวะและวัตถุต้องสงสัย สามารถนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในการดำเนินคดีและในการบำบัดรักษา รวมถึงสนับสนุนชุดทดสอบสารเสพติดในปัสสาวะเบื้องต้นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ที่ต้องการดำรงความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถเอาชนะยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านวัตถุเสพติดของประเทศ ได้ให้การสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน กรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานเอกชนทั่วประเทศ โดยการตรวจยาเสพติดในตัวอย่างของกลาง และสารเสพติดในปัสสาวะ รวมไปถึงการสนับสนุนชุดทดสอบหาสารเสพติดในปัสสาวะที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีประสิทธิภาพ  สำหรับตรวจคัดกรองผู้เสพสารเสพติด และดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสารเสพติดชนิดใหม่ หรือสารทดแทน หรือจากการนำยาที่ใช้ในทางการแพทย์ไปใช้ในทางที่ผิด

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด การควบคุมตัวยา และสารเคมีอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2562 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจตัวอย่างของกลางจำนวน 24,305 ตัวอย่าง ตรวจตัวอย่างปัสสาวะ จำนวน 104,098 ตัวอย่าง จัดซื้อและประเมินคุณภาพชุดทดสอบ และให้การสนับสนุนชุดทดสอบสารเสพติดในปัสสาวะเบื้องต้น จำนวน 395,130 การทดสอบ ผลิตสารควบคุมคุณภาพชุดทดสอบหาสารเสพติดในปัสสาวะ จำนวน 4,648 ขวด นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบไดคลาซีแพม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ไม่เคยพบว่ามีการใช้ในประเทศไทยมาก่อน ทำให้ต้องมีการประกาศควบคุมให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

สำหรับในปีงบประมาณ 2563 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563 ได้ตรวจตัวอย่างของกลางจำนวน 9,428 ตัวอย่าง ตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในปัสสาวะ จำนวน 4,047 ตัวอย่าง เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในการดำเนินคดีและการบำบัดรักษา รวมทั้งสนับสนุนชุดตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ จำนวน 444,470 การทดสอบ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดยาเสพติดต่อไป


ที่มา...https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/144562/