ผู้เขียน หัวข้อ: ออกซ์ฟอร์ดระงับทดลอง วัคซีนโควิด-19 ชั่วคราว หลังอาสาสมัครป่วยไม่ทราบสาเหตุ  (อ่าน 245 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์



การทดลองทางคลินิกขั้นสุดท้ายทั่วโลกสำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาที่พัฒนาโดยบริษัทยายักษ์ใหญ่ "แอสตราเซเนกา" (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ถูกระงับชั่วคราวหลังอาสาสมัครคนหนึ่งในสหราชอาณาจักรมีอาการป่วยไม่ทราบสาเหตุ

แถลงการณ์ของบริษัทแอสตราเซเนการะบุว่า การระงับการทดลองวัคซีนเพื่อตรวจสอบข้อมูลความปลอดภัยในลักษณะนี้เป็นการดำเนินการปกติ เมื่อใดก็ตามที่มีการเจ็บป่วยที่อาจไม่สามารถอธิบายได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งในการทดลอง ขณะที่การตรวจสอบทำให้แน่ใจได้ว่าผู้พัฒนารักษาความสมบูรณ์ของการทดลอง โดยในการทดลองใหญ่ๆ การเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ แต่ก็ต้องมีการทบทวนอย่างอิสระเพื่อตรวจสอบอย่างระมัดระวัง

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ต้องระงับการทดลองวัคซีนออกซ์ฟอร์ด โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นปกติในการทดลองขนาดใหญ่ เมื่อเกิดเหตุที่อาสาสมัครต้องเข้าโรงพยาบาลโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของความเจ็บป่วยได้ ต้องระงับการทดลองทันที โดยคาดว่าการทดลองวัคซีนน่าจะกลับมาเริ่มได้อีกครั้งในเร็วๆ นี้

วัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาของแอสตราเซเนกาถูกเรียกว่า "วัคซีนออกซ์ฟอร์ด" เนื่องจากเป็นการพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร และถูกจับตาถึงผลการทดลองอย่างใกล้ชิดจากทั่วโลกว่านี่อาจเป็นหนึ่งในวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวแรกที่เข้าสู่ตลาดหลังประสบความสำเร็จในการทดลองเฟส 1 และ 2 และเข้าสู่การทดลองเฟส 3 เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วม 30,000 คน ในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกาใต้ ซึ่งรายงานระบุว่าการทดลองวัคซีนเฟส 3 มักจะมีผู้เข้าร่วมหลายพันคนและอาจใช้เวลาหลายปี

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า ต้องการให้มีวัคซีนพร้อมใช้งานในสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. 2563 แต่ความเห็นของทรัมป์ก็สร้างความกังวลว่าอาจมีการเร่งรับรองวัคซีนโดยให้ความสำคัญกับการเมืองมากกว่าความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 จำนวน 9 ราย ที่รวมถึงแอสตราเซเนกา ได้ลงนามสัญญาเพื่อให้สาธารณชนมั่นใจว่าจะยึดตามมาตรฐานด้านวิทยาศาสตร์และจริยธรรมในการทดลองวัคซีน โดยจะยื่นขอการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลหลังวัคซีนผ่านการทดลองทางคลินิก 3 เฟสแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเผยว่ามีวัคซีนเกือบ 180 ตัว ที่กำลังทดลองอยู่ทั่วโลก แต่ยังไม่มีตัวไหนที่ทดลองทางคลินิกเสร็จสมบูรณ์ โดยองค์การอนามัยโลกไม่คาดหวังว่าจะมีวัคซีนตัวใดเป็นไปตามแนวทางด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพื่อได้รับการรับรองในปีนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการทดสอบวัคซีนอย่างปลอดภัย


ที่มา...https://www.sanook.com/news/8249082/