ผู้เขียน หัวข้อ: “ยาสเตียรอยด์” เสี่ยงอันตราย หากเลือกใช้ไม่ถูกกับโรค  (อ่าน 1299 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์



"สเตียรอยด์" เป็นสารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย หากใช้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพของร่างกาย แต่หากใช้ผิดก็มีโทษมหันต์ อาจเกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะโรคทางผิวหนัง หากทายาเป็นเวลานาน
สเตียรอยด์ คืออะไร?
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โดยปกติร่างกายมีการสร้างสารสเตียรอยด์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยสารสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นตามธรรมชาตินี้ มีหน้าที่ปรับสมดุลในร่างกายให้สามารถดำรงอยู่เมื่อมีโรคเกิดขึ้น ร่างกายจะผลิตสารสเตียรอยด์เพิ่มขึ้นเพื่อจัดการ ทำให้สมดุลในร่างกายกลับมาปกติ ดังนั้นจึงมีการผลิตยาสังเคราะห์ที่มีคุณลักษณะเหมือนสเตียรอยด์ขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรค ทั้งนี้รูปแบบของยามีทั้งแบบรับประทาน ยาฉีดและยาทาที่ใช้กับผิวหนังและเยื่อบุร่างกาย

ยาสเตียรอยด์ รักษาอะไรบ้าง?

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยาสเตียรอยด์ที่ใช้กับผิวหนังและเยื่อบุ มีทั้งที่เป็นของเหลว (Lotion), ครีม (Cream) และขี้ผึ้ง (Ointment) โดยการเลือกใช้ยาพิจารณาจากขนาดและความหนาของรอยโรค ตำแหน่งที่ทาและการเข้าถึงรอยโรคของยา ฯลฯ นอกจากนี้ยาทาสเตียรอยด์ยังมีหลายสูตรทางเคมี ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติ และความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญในการเลือกใช้ยา ให้ถูกกับรอยโรค


อันตรายจากการใช้ยาสเตียรอยด์ไม่ถูกวิธี

การใช้ยาทาสเตียรอยด์เพื่อลด การอักเสบของผิวหนัง มักใช้กับการอักเสบทั่วไป แต่ไม่ได้ใช้เพื่อลดอาการอักเสบจากการติดเชื้อ เนื่องจากยาสเตียรอยด์อาจทำให้การติดเชื้อ แย่ลงและลุกลามมากยิ่งขึ้น

การทายาสเตียรอยด์ในบริเวณกว้างอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยามาก และทำให้มีผลต่อระบบในร่างกาย เช่น ตัวบวม ระบบสเตียรอยด์ในร่างกายผิดปกติ ทำให้ภูมิต้านทานตามธรรมชาติลดลง

หากใช้เป็นเวลานานจะเกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ผิวเปราะบางฝ่อ ผิวขาวซีด มีการขยายตัวของเส้นเลือดในชั้นผิวหนังแท้ด้านบน ซึ่งทำให้มีโอกาสระคายเคืองได้ และติดเชื้อง่ายขึ้น อีกทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง บริเวณที่ทายาเป็นเวลานาน
ดังนั้นต้องเลือกใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ให้ถูกรอยโรค และเหมาะสมกับตำแหน่งที่ทา รวมถึงปริมาณและความเข้มข้นที่ควรใช้กับโรคนั้นๆ ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เพื่อความปลอดภัย และประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย


ที่มา...https://www.sanook.com/health/26007/