ผู้เขียน หัวข้อ: มะเร็ง-โรคร้ายที่ควรระวัง เมื่อย่างเข้าสู่วัย 40  (อ่าน 1970 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์



เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายจะเริ่มเสื่อมสภาพ ผนวกกับอาหารการกินในปัจจุบันก็เสี่ยงให้เกิดโรค เนื่องจากสารอาหารไม่ครบถ้วนหรือปะปนไปด้วยสารพิษ รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากพฤติกรรมและพันธุกรรมสาเหตุเหล่านี้ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ได้เร็วขึ้นกว่าในอดีตมาก
ความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ นั้นแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็มีความเสี่ยงของโรคต่างๆ มากขึ้น การหมั่นดูแลใส่ใจร่างกายของตัวเอง พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี รวมถึงตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมในแต่ละช่วงอายุ จะช่วยป้องกันโรคได้
การตรวจยีนมะเร็ง ในกรณีมีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง เป็นการตรวจที่จะช่วยป้องกันมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้วิธีหนึ่ง
เมื่อก้าวเข้าสู่ปีใหม่ สิ่งที่คนให้ความสำคัญนอกเหนือจากการไปวัดทำบุญ เฉลิมฉลอง บริจาคเลือด หรือบริจาคสิ่งของผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อเป็นการทำความดีรับปีใหม่ให้เกิดความสุขไร้ความทุกข์ไปตลอดปี ก็เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของ “ปีชง” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเชื่อเรื่องปีชงนั้นเป็นความเชื่อคู่คนไทยและคนไทยเชื้อสายจีนมาอย่างยาวนาน

แก้ชงง่ายๆ ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
แล้วถ้าปีนี้เป็นปีชง เราจะได้รับผลกระทบอะไร สุขภาพเราจะเป็นอย่างไร หรือจะแก้ชงโดยวิธีใดได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การแก้ชงโดยทั่วไปคือการเดินทางไปไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยะเพื่อฝากดวงกับท่าน แต่จริงๆ แล้วเราสามารถแก้ชงง่ายๆ ด้วยการตรวจสุขภาพ ตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อดูว่ามีโรคหรือความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่ หากไม่มีความผิดปกติจะได้เบาใจ หรือหากมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นจะได้วางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที

นพ.ธเนศ สินส่งสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า อาการผิดปกติหรือโรคที่มักเกิดเมื่ออายุเข้าเลข 40 มีดังนี้

ความเสี่ยงโรคมะเร็ง ของคนวัย 40 ปีขึ้นไป
มะเร็งต่อมลูกหมาก
การเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการเริ่มต้น ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจเลือดหาค่าบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำดูลักษณะต่อมลูกหมาก การทำอัลตราซาวด์เพื่อหาความผิดปกติในต่อมลูกหมาก และการตรวจยีนมะเร็งเพิ่มเติมในกรณีมีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง เพื่อป้องกันมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยป้องกันและรู้เท่าทันโรคอย่างดีที่สุด

มะเร็งลำไส้ (สำหรับผู้ที่อายุไม่เกิน 45 ปี)
การรู้ทันป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยการตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณเซลล์มะเร็งลำไส้ที่หลุดออกมาในเลือด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติครอบครัวโดยมีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็ควรการตรวจยีนมะเร็งเพิ่มเติม หากต้องการความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อป้องกันมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

มะเร็งท่อน้ำดี
เป็นก้อนเนื้อร้ายที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังท่อทางน้ำดีทั้งภายในและภายนอกตับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุการเกิดโรคนั้นยังไม่แน่ชัด รวมถึงอาการก็จะมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ จึงใช้เวลาในการวินิจฉัยและตรวจซ้ำหลายขั้นตอน ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทันและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีจึงควรใส่ใจดูแลตัวเองด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำโดยการตรวจเลือดเพื่อหาค่าบ่งชี้มะเร็งท่อน้ำดี การทำอัลตราซาวด์ และการตรวจยีนมะเร็งเพิ่มเติมในกรณีมีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง เพื่อป้องกันมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

มะเร็งตับ
กว่า 75% ของมะเร็งตับในคนไทยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง และหากมีภาวะตับแข็งร่วมด้วยก็จะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากโรคมะเร็งตับมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงและมีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว การตรวจร่างกายเป็นประจำโดยการตรวจเลือดเพื่อหาค่าบ่งชี้มะเร็งตับ การทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูก้อนในตับ การตรวจยีนมะเร็ง ในกรณีมีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง เพื่อป้องกันมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกันโรคอย่างดีที่สุด

มะเร็งเต้านม
เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนควบคุมการแบ่งเซลล์เยื่อบุท่อน้ำนมทำให้ไม่สามารถควบคุมการสร้างเซลล์ให้อยู่ในระดับสมดุลได้ จะสามารถคลำพบก้อนและมีอาการเจ็บเต้านม หรือมีสิ่งผิดปกติบริเวณหัวนม ดังนั้น การตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมให้พบตั้งแต่ระยะต้นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดให้เรารู้เท่าทันและป้องกันโรคมะเร็งเต้านมอันเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านม รวมถึงการตรวจยีนมะเร็ง ในกรณีมีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง เพื่อป้องกันมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

มะเร็งรังไข่
เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดหน่วงท้องน้อย ท้องอืดแน่นท้อง ปัสสาวะบ่อย ประจำเดือนมาผิดปกติ สามารถป้องกันได้โดยการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็ง (tumor marker) ที่สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ การตรวจภายใน และการอัลตราซาวด์ช่องท้อง รวมถึงการตรวจยีนมะเร็ง ในกรณีมีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง เพื่อป้องกันมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรใส่ใจตรวจสุขภาพเป็นประจำเพราะหากเจอก้อนรังไข่โตแต่แรกๆ แค่ระยะต้นของโรค การรักษาจะง่ายกว่าและมีโอกาสหายขาดสูงกว่า

มะเร็งปากมดลูก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus) ชนิด 16 และ 18 โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เนื้อเยื่อหรือเซลล์ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงจนอักเสบเรื้อรังและกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่สามารถป้องกันได้  ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนจึงควรใส่ใจดูแลตัวเอง ด้วยการตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำโดยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือการตรวจหาเชื้อ HPV (HPV DNA) ซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรงของโรค รวมถึงการตรวจยีนมะเร็งเพื่อป้องกันมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พร้อมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ปัจจุบันก็มีให้เลือกหลากหลายแบบด้วยเช่นกัน

มะเร็งลำไส้
เป็นโรคที่เป็นภัยเงียบ ในระยะเริ่มแรกแทบไม่มีอาการใดๆ แต่หากมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย คลื่นไส้ อ่อนเพลีย อุจจาระเป็นเส้นเล็กลงหรือมีเลือดปน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้ การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยการตรวจเลือดเพื่อหาเซลล์มะเร็งที่หลุดออกมาอยู่ในเลือด หรือโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ซึ่งถือเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด ในอดีตนั้นมักเริ่มตรวจโดยการส่องกล้องในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่เนื่องจากปัจจุบันพบคนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีเป็นโรคนี้มากขึ้น สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ปี 2018 จึงแนะนำให้เริ่มทำในวัย 45 ปีขึ้นไป และสำหรับผู้มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรได้รับการตรวจยีนมะเร็งเพิ่มเติม และเข้ารับการตรวจคัดกรองเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน

มะเร็งปอด
เป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือน ไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น แต่จะมีอาการก็ต่อเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายเป็นอันดับต้นๆ ทั่วโลก การตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่งรวมถึงการเอกซเรย์ปอด เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันโรคมะเร็งปอดที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสูบบุหรี่เป็นประจำ

โรคประจำตัว ที่คนวัย 40 ขึ้นไปควรระวัง
โรคไต
เป็นภัยเงียบรูปแบบหนึ่ง มีอาการเบื้องต้น คือ ตัวบวม ขาบวม ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะเป็นฟองมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ ซีดเหลือง ทั้งนี้ โรคไตมักแสดงอาการเมื่อไตสูญเสียการทำงานไปแล้วกว่า 70% ดังนั้น หากได้รับการตรวจตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ไม่มีอาการ ย่อมดีกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสี่ยงเป็นโรคไต ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเอง และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี การตรวจเลือดเพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของไต ตรวจร่างกายโดยแพทย์ ตรวจปัสสาวะ และตรวจอัลตราซาวด์เพิ่มเติมว่ามีสิ่งผิดปกติในไตหรือไม่

โรคหัวใจ
โรคหัวใจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากอายุที่มากขึ้น เพศ กรรมพันธุ์ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือมีภาวะอ้วน ทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย ขาบวม ทั้งนี้ เนื่องจากโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั้งเพศชายและเพศหญิง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะวิ่งสายพาน หรือการทำอัลตราซาวด์หัวใจพร้อมวิ่งสายพาน หรือการตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ช่วยให้ทำนายความเสี่ยงของโอกาสเกิดโรคหัวใจ เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันโรคหัวใจได้ตั้งแต่เริ่มต้น

โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานมักเป็นภัยเงียบ หากไม่ได้ตรวจสุขภาพจะไม่มีทางรู้เลยว่ากำลังเป็นโรคอยู่ แต่หากมีสัญญาณเตือนเบื้องต้น เช่น ปัสสาวะมากและบ่อยครั้งโดยเฉพาะตอนกลางคืน หรือชาปลายมือปลายเท้า ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากอยากทราบอย่างแน่ชัดจำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อหาค่าน้ำตาลในเลือดโดยการตรวจเลือด ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานมีหลากหลายวิธี เช่น การวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากเป็นเบาหวานระดับน้ำตาลในเลือดจะมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อย่างน้อย 2 ครั้ง เป็นต้น

โรคไขมันในเลือดสูง
โรคไขมันในเลือดสูงคือโรคที่ร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลหรือระดับไตรกลีเซอร์ไรด์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างสูงผิดปกติ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม โรคบางชนิด หรือพฤติกรรมส่วนบุคคล ซึ่งการแก้ชงง่ายๆ นั้นสามารถทำได้โดยการตรวจเลือดหาค่าระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งระดับคอเลสเตอรอลปกติคือไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนระดับไตรกลีเซอไรด์ปกติไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากมีความเสี่ยงในครอบครัว รับประทานยาลดไขมันแล้วไม่ดีขึ้น ประกอบกับมีระดับคอเลสเตอรอสในเลือดสูงผิดปกติ (หากเป็นโรคไขมันในเลือดสูงจากกรรมพันธุ์ จะพบได้ตั้งแต่ 350-1,000 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ก็สามารถทำการตรวจยีนเพื่อหาความเสี่ยงได้ว่ามีการถ่ายทอดพันธุกรรมมาจากครอบครัวหรือไม่

โรคความดันโลหิตสูง
เป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรงอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าความดันโลหิตที่เป็นตัวแปรวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงค่าใหม่ คือ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ดังนั้น การใส่ใจดูแลตัวเองด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และวัดค่าความดันโลหิตอยู่เสมอ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรค อีกทั้งลดโอกาสการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจที่จะตามมาได้

โรคตับแข็ง
โรคตับแข็ง คือ ภาวะที่ตับมีรอยแผลเป็นหรือพังผืดเกิดขึ้นจนทำให้ตับเกิดความเสียหายและทำงานได้น้อยลง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลือง ทั้งนี้ เนื่องจากตัวโรคตับแข็งสามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับได้ จึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยสามารถตรวจเลือดเพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของตับผ่านค่าเอ็นไซม์ตับ (AST, ALT) การทำอัลตราซาวด์ และการตรวจติดตามสุขภาพของตับด้วยเครื่อง Fibroscan ที่สามารถวินิจฉัยภาวะพังผืดในตับและตับแข็งในระยะเริ่มต้นได้โดยไม่ต้องเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันโรคตับแข็ง รวมไปถึงโรคไขมันพอกตับด้วยเช่นกัน

โรคสโตรก
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นภาวะวิกฤติที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง มีลิ่มเลือดในหลอดเลือด หรือภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดตีบ แตก หรืออุดตัน ส่งผลให้เนื้อสมองบริเวณนั้นขาดเลือดและเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง พูดไม่ชัด ปวดศีรษะ หรือเดินเซได้ ทั้งนี้ สามารถตรวจวินิจฉัยและหาความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ก่อนเกิดอาการ โดยการตรวจหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasound) เพื่อรู้ทันและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่นำไปสู่การเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์)
เป็นความผิดปกติของสมอง ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ มีอาการสำคัญ คือ ความจำเสื่อม ซึ่งแตกต่างจากอาการขี้ลืมปกติ ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรเก็บ ความสามารถในการตัดสินใจลดลง หรือบุคลิกภาพมีความเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันคนมีอายุยืนมากขึ้น ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) มากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราสามารถแก้ชงด้วยวิธีง่ายๆ โดยการสแกนสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (MRI Brain) และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Brain)

โรคจอประสาทตาเสื่อม
จัดเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นเฉพาะภาพตรงกลางภาพ มีอาการที่สังเกตได้ในเบื้องต้น เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเห็นจุดดำบริเวณศูนย์กลางของภาพ ทั้งนี้ สามารถป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้โดยการตรวจสุขภาพตา โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยการถ่ายภาพจอประสาทตาแบบดิจิตอลด้วยกล้องฟันดัส (Fundus) หรือการเอกซเรย์ตรวจเส้นเลือด (Fluorescein Angiography) ที่ตา

โรคกระดูกพรุน
เกิดจากความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงร่วมกับการเกิดความเสื่อมของโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรงลดลง เปราะ หักง่าย มักเกิดในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน สามารถป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้โดยการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกในจุดที่มีโอกาสหักได้ง่าย 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Spine) กระดูกข้อสะโพก (Hip) และกระดูกปลายแขน หรือข้อมือ (Wrist) ซึ่งถ้าได้ค่าน้อยกว่า -2.5 แปลว่ามีภาวะกระดูกพรุนเกิดขึ้นแล้ว

โรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
โรคงูสวัด
เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Varicella Zoster Virus ทำให้เกิดอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ร่วมกับการเกิดผื่นแดงตามแนวเส้นประสาทคล้ายงูรัด แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส ซึ่งจะค่อยๆ แห้ง ตกสะเก็ด และค่อยๆหลุดไปพร้อมอาการปวดที่จะทุเลาลง กรณีเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่าบุคคลทั่วไป สิ่งที่น่ากังวลของโรคนี้ คือ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจเกิดตามมาหลังจากเกิดโรคงูสวัด เช่น ถ้างูสวัดเกิดที่ลูกตาอาจทำให้สายตาพิการ ถ้างูสวัดเกิดขึ้นด้านหน้าใบหูอาจทำให้เกิดอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีกได้ จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อป้องกันการเกิดโรคงูสวัดและหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ในภายหลัง

โรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
หรือโรคนิวโมเนีย (Pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อของหลอดลมฝอยลุกลามไปถึงถุงลมปอด ทำให้เกิดอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อยตามมา อาการความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามระดับภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วย ชนิดของเชื้อก่อโรค และอายุ ดังนั้น การป้องกันเบื้องต้นโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียจึงมีความสำคัญและไม่ควรละเลย เนื่องจากโรคปอดอักเสบติดเชื้อเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ในกลุ่มโรคติดเชื้อ

จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ นั้นแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็เป็นเรื่องปกติที่ความเสี่ยงของโรคต่างๆ ก็ยิ่งมีมากขึ้น การหมั่นดูแลใส่ใจร่างกายของตัวเอง และพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี รวมถึงตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมในแต่ละช่วงอายุ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ข้างต้น และหากตรวจพบสิ่งผิดปกติใดๆ ก็สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที เพราะความเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถป้องกันหรือบรรเทาให้ส่งผลลบกับชีวิตเราน้อยที่สุดได้