ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จัก "โบท็อกซ์" และ "ฟิลเลอร์" ก่อนจะไปฉีด  (อ่าน 535 ครั้ง)

ออฟไลน์ beebee

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 1550
    • อีเมล์
รู้จัก "โบท็อกซ์" และ "ฟิลเลอร์" ก่อนจะไปฉีด
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 14, 2013, 12:56:24 pm »

   คนดู 84 ครั้ง

รู้จัก "โบท็อกซ์" และ "ฟิลเลอร์" ก่อนจะไปฉีด
 




หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องรอยย่นที่กวนใจ เช่น รอยย่นที่หน้าผาก หางตา รอยขมวดคิ้ว ร่องแก้ม ร่องใต้ตา จนทำให้ใบหน้าดูแก่กว่าวัย อย่าเพิ่งเครียดหรือหมดกำลังใจไปซะก่อน ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน รอยดังกล่าวสามารถแก้ไขได้โดยไม่ยากเย็น
   
เทคโนโลยีดังกล่าวที่ว่าคือ การใช้สารคลายกล้ามเนื้อหรือที่เรียกว่าโบท็อกซ์ และสารเติมเต็มที่เรียกว่า ฟิลเลอร์ หลายท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์กับการรักษาด้วยโบท็อกซ์และสารฟิลเลอร์มาแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่เคย และลังเลว่าควรหรือไม่ควร ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสารโบท็อกซ์และฟิลเลอร์กัน
   
สารโบท็อกซ์ หรือชื่อเต็มทางการแพทย์คือ สารโบทูลินั่ม ท็อกซิน จัดเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว โดยกลไกการทำงานของสารนี้จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับยาขยับน้อยลงและคลายตัวออก ดังนั้น รอยย่นที่เกิดจากการขยับกล้ามเนื้อ เช่น รอยย่นหน้าที่ผาก รอยขมวดคิ้ว รอยที่หางตาจะค่อย ๆ หายไป สารตัวนี้ออกฤทธิ์โดยตรงที่กล้ามเนื้อ ส่วนวิธีการที่จะได้รับยาคือการฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ หากใช้วิธีการทายาจะทำให้สารไม่สามารถซึมลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อได้
   
บางคนอาจกังวลว่า จะทำให้เกิดก้อนสะสมขึ้นได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดเนื่องจากยาตัวนี้จะซึมเข้าไปในกล้ามเนื้อและออกฤทธิ์ ดังนั้นยาจะไม่ไปทำให้เกิดก้อนใต้ผิวแต่อย่างใด ตัวยาจะค่อย ๆ สลายไปเองใน 4 เดือน และเพื่อให้ได้ผลต่อเนื่อง จึงควรฉีดทุก 4 เดือน นอกจากการใช้โบท็อกซ์เพื่อลดริ้วรอยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังสามารถใช้ลดขนาดกล้ามเนื้อบริเวณกรามทำให้ใบหน้าเรียวขึ้นได้อีกด้วย

สำหรับฟิลเลอร์ หรือที่เรียกว่าสารเติมเต็ม มีข้อบ่งชี้คือใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพื่อเติมหรือเสริมส่วนที่บกพร่อง จริง ๆ แล้วฟิลเลอร์มีมานานหลายสิบปี โดยเริ่มมีวิวัฒนาการมาจากการใช้สารกลุ่มฟาราฟิน ซิลิโคน คอลลาเจน แต่พบว่ามีปัญหาเรื่องการเกิดปฏิกิริยาหลังฉีด เกิดก้อนภายหลัง ซึ่งมักจะเกิดหลังจากฉีดเป็นเดือนหรือเป็นปี จึงได้มีการพัฒนามาเป็นสารที่มีปฏิกิริยาน้อย
   
สารฟิลเลอร์ตัวล่าสุดที่นิยมใช้กันคือ สารกลุ่มไฮยารูโลนิก แอซิด หรือบางคนเรียกสั้น ๆ ว่า เอชเอ ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในผิวมนุษย์ สารตัวนี้ได้นำมาใช้ได้ประมาณ 10 ปีแล้ว โดยพบว่าไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาหรือก้อนในภายหลัง สำหรับบริเวณที่นิยมใช้สารฟิลเลอร์ได้แก่ ร่องแก้ม ร่องบริเวณมุมปาก ริมฝีปาก ข้อดีของฟิลเลอร์ชนิดไฮยาลูโรนิก แอซิด คือไม่เกิดก้อน และโอกาสเกิดการแพ้น้อยมาก แต่ข้อเสียคือต้องฉีดซ้ำเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากตัวสารจะค่อย ๆ สลายไปเองในช่วงเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วแต่ชนิดของไฮยาลูโรนิก แอซิด
   
ส่วนสารฟิลเลอร์ชนิดอื่นที่มีใช้ในต่างประเทศ เช่น แคลเซียมไฮดรอกซีอะพาไทท์ และโพลีแอลแลคติก แอซิด เป็นสารที่อยู่ในผิวหนังได้นานเป็นปีและจะค่อย ๆ สลายไป สารเหล่านี้ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาในสหรัฐอเมริกาให้ใช้เพื่อการเติมเต็มแล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย
   
การฉีดสารโบท็อกซ์ และการฉีดฟิลเลอร์ ไม่ต้องมีการเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ การรักษาส่วนมากจะใช้เวลา 5-20 นาที ในรายที่กลัวความเจ็บ แพทย์อาจใช้ยาชาชนิดทา ทาก่อนเริ่มทำการรักษาประมาณครึ่งชั่วโมง ผู้ป่วยส่วนมากจะกลับไปทำงานต่อได้ทันที สิ่งสำคัญที่สุดก่อนที่จะทำการรักษาคือต้องคุยกับแพทย์ถึงความต้องการและให้แพทย์ประเมินความเป็นไปได้ถึงผลที่จะได้รับ สำหรับผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือ การมีจ้ำเลือดบริเวณที่ฉีด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะดีขึ้น จึงมีข้อแนะนำว่า ควรหยุดยาที่อาจทำให้เลือดออกง่ายก่อนจะฉีด เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด ยาละลายลิ่มเลือด วิตามินอี น้ำมันปลา ใบแปะก๊วย รวมทั้งไม่ควรฉีดหากจะมีงานสำคัญในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
   
นอกจากนี้การฉีดโบท็อกซ์อาจเกิดผลข้างเคียงได้ หากยากระจายไปยังกล้ามเนื้อมัดที่ไม่ต้องการ จึงควรงดนวดหน้าภายหลังการฉีดและควรหลีกเลี่ยงการนอนราบภายหลังฉีด 4 ชั่วโมง ข้อสำคัญคือ ควรเลือกสถานที่ฉีดที่ไว้ใจได้ เพื่อป้องกันโบท็อกซ์และฟิลเลอร์ปลอม หรือจำพวกที่ไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา นอกจากนี้ควรมีการเตรียมพร้อมเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง แต่อย่าพิจารณาเรื่องปัจจัยด้านราคาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสารโบท็อกซ์และฟิลเลอร์ในปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ เหมือนรถตามท้องตลาดที่มีราคาหลากหลาย ฉะนั้นควรเลือกชนิดที่เหมาะสมกับงบประมาณโดยที่ยังได้ทั้งคุณภาพและไม่เกิดผลเสียในระยะยาวด้วย
   
สารโบท็อกซ์และฟิลเลอร์ชนิดไฮยารูโลนิก แอซิด ได้ถูกนำมาใช้ในทางผิวหนังไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว และเป็นสารที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา จึงมั่นใจได้ในประสิทธิภาพและความปลอดภัยหากใช้ตามข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม ข้อมูลจากแผนกผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า จำนวนผู้ที่เข้ามารับบริการการรักษาดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย สิ่งที่สำคัญคือผู้ที่รับการฉีดควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทำการรักษา ควรรับทราบผลการรักษาและผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย เพื่อที่จะได้มีข้อปฏิบัติตัวที่ดีทั้งก่อนและหลังทำการรักษา.

นายแพทย์วาสนา วชิรมน
อาจารย์แพทย์ประจำแผนกผิวหนังและเลเซอร์ หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 ก.พ 2556