ผู้เขียน หัวข้อ: สช.ประกาศใช้ “สิทธิการตาย” ย้ำเป็นแนวทางไม่ใช่ “ข้อบังคับ”  (อ่าน 1804 ครั้ง)

ออฟไลน์ vt

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 530
    • อีเมล์



 สช.ประกาศใช้แล้วกฎกระทรวงสิทธิการตายของผู้ป่วย  มีผลประกาศใช้ พ.ค.นี้  ชี้ชัดเป็นแค่แนวทางไม่ใช่ข้อบังคับ    ย้ำเป็นสิทธิของผู้ป่วยทำได้หรือไม่  แล้วแต่สมัครใจ
       
       
       
              ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต  โดยการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  ซึ่งเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข (สธ.) ได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ทำหน้าที่ในการประสานกับหน่วยงานสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการยกร่างกฎกระทรวงในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตาม หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2551 ที่ผ่านมา
       
       นพ.อำพล  จินดาวัฒนะ   เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  เรื่อง  การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 โดยประกาศดังกล่าวเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติมจากมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ  ซึ่งเป็นสิทธิความเป็นมนุษย์ในการปฏิเสธการรักษาที่ทุกคนสามารถร้องขอได้ เพียงแต่ไม่ได้เป็นการบังคับ  โดยประกาศดังกล่าว เป็นเพียงแนวทาง หรือวิธีการในการขอใช้สิทธิที่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม  หลังจากผ่านความเห็นชอบจาก คสช.   ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
       
                       นพ.อำพล กล่าวต่อว่า  สิทธิ การปฏิเสธการรักษาพยาบาลมีอยู่แล้วในทุกคนตั้งแต่เกิด เพียงแต่แนวทางวิธีการยังไม่เคยมีการออกประกาศบังคับใช้ชัดเจน มีเพียง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่เปิดช่องไว้ แต่ก็ไม่มีแนวทางการปฏิบัติ  ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้บังคับ  แต่เป็นไปตามเจตนาของผู้ป่วยเอง  ที่เป็นบุคคลทั่วไปอายุ 18  ปีบริบูรณ์ โดยสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.
       
       ด้านน.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ  รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ควรมี “วิธีการ” ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในกลุ่มนี้   แต่สิ่งที่กังวลคือ"แนวทางปฏิบัติ  ที่จะต้องมาดูว่าจะปฏิบัติอย่างไร ให้ สอดคล้องกับความเป็นจริง และป้องกันช่องว่างที่จะทำให้เกิดปัญหากับผู้ปฏิบัติ หรือ นำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งในครอบครัวผู้ป่วย หรือ แพทย์กับผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วงแรก เชื่อว่าคงมีปัญหา และ กรณีศึกษามากพอสมควร อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน   อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ในทางปฏิบัติต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างเหมาะสมด้วย
       
       
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข  มี 2 แบบ แต่ละแบบจะมีข้อความสำคัญ อาทิ  แบบที่ 1 เป็นข้อความอย่างเป็นทางการ  เช่น ในกรณีที่ข้าพเจ้าตกอยู่ในสภาวะใดสภาวะหนึ่ง เช่น ไม่รู้สึกตัวอย่างถาวร ข้าพเจ้าไม่ต้องการตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น โปรดให้การรักษาข้าพเจ้าตามความประสงค์ ดังต่อไปนี้ เช่น การฟื้นฟูการเต้นของหัวใจและการหายใจ ให้กลับเต้นขึ้นใหม่     โดยมีช่องให้ระบุว่า จะยอมรับหรือไม่ยอมรับการรักษาเหล่านี้ หากไม่ยอมรับก็หมายความว่า ปล่อยให้สิ้นลมไปโดยสงบ   และแบบที่ 2 เป็นข้อความระบุความต้องการที่ชัดเจน เช่น ไม่ต้องการให้เจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ หรือไม่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ  รวมทั้งการให้สารอาหารและน้ำทางสายยาง การรักษาในห้องไอซียู การฟื้นชีพเมื่อหัวใจหยุด เป็นต้น  ทั้งนี้ ในวันที่ 25 พ.ค.ตั้งแต่เวลา 11.00 น.มีการเสวนา สช.เจาะประเด็นสิทธิการปฏิเสธการรักษา ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข