ผู้เขียน หัวข้อ: ESR  (อ่าน 3192 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
ESR
« เมื่อ: เมษายน 19, 2013, 11:45:34 am »
เป็นการตรวจเลือดที่ปฏิบัติกันมากว่า 50 ปี   ESR เป็นตัวย่อของ Erythrocyte Sedimentation
Rate หรือการวัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงแยกออกจากน้ำเหลืองซึ่งปกติมักจะทำการตรวจโดย
วิธีเวสเตอร์เกรน (Westergren)  ESR เป็นดัชนีที่บอกถึงความผิดปกติจากการอักเสบในร่างกาย  ปกติจาก
การอ่านค่าตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงที่ 1 ชั่วโมง โดยค่าปกติจะอยู่ประมาณ 20 มิลลิเมตร  การที่เม็ดเลือดแดง
ตกตะกอนเร็วกว่าปกติเป็นเพราะน้ำเหลืองในเลือดผู้ป่วยมีโปรตีนประเภทโกลบุลิน (globulin) และ
ไฟบริโนเจน (fibrinogen) มีมากกว่าปกติ

ผู้เขียนจะให้ความสำคัญผลการตรวจ ESR ผิดปกติโดยจำแนกเป็นมาก หรือปานกลาง หรือเล็กน้อย
โดยยึดถือค่าที่ผิดปกติเกิน 90 หรือ 100 ขึ้นไปเป็นมากซึ่งพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิต้านทานตนเองชนิดต่างๆ
(autoimmune diseases)  ในโรคโกลบุลินในเลือดผิดปกติจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคลิมโฟมา (lymphoma) โรคติดเชื้อเฉียบพลัน และโรค amyloidosis   ส่วนผู้ป่วยที่มีระดับ ESR สูงปานกลางที่อยู่ระหว่าง 40-80 มิลลิเมตร/ชั่วโมง  พบได้ในโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อที่ไม่เฉียบพลัน เช่น วัณโรค  ส่วนในพวกที่มี ESR สูงกว่าค่าปกติไม่มากนักจะต้องใช้การตรวจอย่างอื่นที่อาจจะให้คำตอบได้เป็นตัวสำคัญและเป็นผู้ป่วยที่อย่างน้อยต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด

สำหรับโรคทางระบบประสาทการตรวจ ESR มีประโยชน์มากในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยตัวซึ่งถ้าหากมี ESR สูงก็ให้นึกถึงโรคหลอดเลือดแดงที่บริเวณศีรษะอักเสบ (cranial หรือ giant cell arteritis) ซึ่งแม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีการตรวจพิเศษ ซึ่งในโรคนี้ก็ไม่มีการตรวจอะไรที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วและราคาถูกที่ได้ประโยชน์เหมือนการตรวจ ESR  ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะจากโรคนี้มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ผลการตรวจ ESR อาจจะมีค่าปกติ

ปัจจุบันมีผู้ใช้การตรวจ C-Reactive Protein (CRP) ซึ่งสิ้นเปลืองกว่าโดยเฉพาะถ้าใช้การตรวจเลือดหาค่าการอักเสบเพื่อติดตามผลการรักษาเช่นในโรคที่ผู้เชี่ยวชาญทางโรคข้ออักเสบก็นิยมใช้ ESR เพราะสิ้นเปลืองน้อยกว่า

ผู้เขียนเคยพบผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลินอายุ 24 ปี เกิดมีอัมพาตแขนขาอย่างเฉียบพลันจาก
โรค Acute Inflammatory Demyelinating Polyneuropathy (AIDP) ซึ่งก็ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากการใช้ IVIG  บังเอิญแพทย์ผู้รักษาพบผู้ป่วยมี ESR มีค่าสูงถึง 80 มิลลิเมตร/ชั่วโมง  จึงสงสัยว่าผู้ป่วยอาจจะเป็นโรคแพ้ภูมิต้านทานตัวเองจึงปรึกษามาซึ่งก็ได้รับการสันนิษฐานบอกว่าค่า ESR สูงจากการได้รับ IVIG  ได้ติดตามดูผู้ป่วยอยู่ 3 เดือน ESR ก็ค่อยๆ ลดลงจนปกติ ปัจจุบันผู้ป่วยหายดีแต่ยังคงได้รับอินซูลินฉีดทุกวัน  เคยมีรายงานการใช้ IVIG รักษาโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease)
และพบว่าดัชนีการอักเสบต่างๆ ในเลือดผู้ป่วยลดลงพร้อมกับอาการผู้ป่วยดีขึ้น ยกเว้น ESR ที่ยังคงอยู่นานกว่าจะเป็นปกติ (Lee K-Y, et al.   J Trop Pediatr  2005; 51: 98-101)

ผู้เขียนคิดว่านักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านให้ความสำคัญต่อการตรวจ ESR น้อยไป  รู้สึกดีใจที่อ่านรายงานผู้ป่วยในวารสาร Lancet เมื่อเร็วๆ นี้พบคุณค่าของ ESR ในการวินิจฉัยผู้ป่วยด้วยต่อมไร้ท่อหลายต่อมผิดปกติรวมทั้งต่อมปิตุอิตารีอักเสบ (hypophysitis) จากโรค Wegener’s granulomatosis (Lancet  2011; 378: 540)