ผู้เขียน หัวข้อ: หอสังเกตพระอาทิตย์ 3,000 ปี เผยกำเนิดอารยธรรม "มายา"  (อ่าน 1970 ครั้ง)

ออฟไลน์ vt

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 530
    • อีเมล์

ทีมนักโบราณคดีขณะทำการสำรวจซากเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของชาวมายาที่พบในตอนกลางของประเทศกัวเตมาลา เชื่อว่าเป็นสถานที่สังเกตการณ์พระอาทิตย์ และเป็นต้นแบบของหอสังเกตพระอาทิตย์ที่แพร่หลายในชนเผ่ามายาในเวลาต่อมา ( Takeshi Inomata)

    นักโบราณคดีเผยผลการสำรวจหอสังเกตการณ์พระอาทิตย์และร่องรอยอารยธรรมโบราณในอเมริกากลางอายุ 3,000 ปี หลักฐานชี้เป็นสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ที่สุดของชนเผ่ามายาเท่าที่เคยสำรวจพบ เผยอายุมากกว่าแหล่งอารยธรรมมายาแห่งอื่นๆที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันกว่า 200 ปี นำทางนักสำรวจเข้าใกล้ต้นกำเนิดอารยธรรมมายาเข้าไปทุกที
   
   การค้นพบแหล่งโบราณคดีไซบอล (Ceibal) บริเวณที่ราบลุ่มต่ำ ใจกลางประเทศกัวเตมาลาในอเมริกาใต้ ยิ่งเผยให้นักโบราณคดีเห็นถึงกำเนิดอารยธรรมของชาวมายาว่ามีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าความเชื่อของนักวิชาการในตอนแรก ซึ่งนักมานุษยวิทยาได้มีการถกเถียงถึงเรื่องนี้กันอย่างดุเดือดว่า ชาวมายาก่อร่างสร้างอารยธรรมขึ้นมาด้วยตัวเอง หรือว่าได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมที่เก่าแก่กว่าของชาวโอลเมค (Olmec) ในเม็กซิโกปัจจุบันกันแน่ แต่ผลวิจัยล่าสุดบอกว่าไม่ใช่ทั้งสองประเด็น
   
   "การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวมายาในอดีตกาลเกิดขึ้นโดยผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณที่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน" คำอธิบายของ ทาเคชิ อิโนะมาตะ (Takeshi Inomata) นักมานุษยวิทยาชาวญี่ปุ่นที่สังกัดอยู่มหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) ในสหรัฐฯ เขายังบอกอีกว่า มันดูไม่เหมือนว่าโอลเมคนั้นเป็นผู้จุดประกายให้ชาวมายา ถ้าจะพูดให้ถูกคือ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันของชุมชนโบราณในแถบนี้เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช ทั้งรูปแบบของสถาปัตยกรรมและพิธีกรรมที่มีความคล้ายคลึงกันมาก
   
   ทั้งนี้ ไซบอล คือแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่มีการสำรวจกันมานานกว่า 7 ปีแล้ว โดยบริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 2,000 ปี ในขณะที่ซากอารยธรรมโบราณนี้ถูกพบฝังอยู่ลึกลงไป 7-18 เมตร ใต้พื้นดินและสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นในยุคหลังจากนั้น
   
   ข้อมูลที่เผยแพร่ในไลฟ์ไซน์ระบุว่า ร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่ของชนเผ่ามายาในบริเวณดังกล่าวว่า ประกอบไปด้วยลานกล้าง หรือ พลาซ่า (plaza) ที่มีอาคารอยู่ด้านทิศตะวันตก และมีแท่นยกพื้นลักษณะคล้ายเวทีอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับสิ่งปลูกสร้างของชาวมายาในบริเวณอื่นๆที่สำรวจพบและถูกสร้างขึ้นมาทีหลัง รวมถึงคล้ายคลึงกับอารยธรรมของชาวโอลเมค (Olmec) ที่เคยค้นพบใน ลา เวนตา (La Venta) ประเทศเม็กซิโกด้วยเช่นกัน
   
   นักโบราณคดีคำนวณอายุของสิ่งปลูกสร้างในแหล่งขุดค้นเคบอล และประมาณได้ว่าชาวมายาสร้างเอาไว้เมื่อตั้งแต่ 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช หรือประมาณ 3,000 ปีล่วงมาแล้ว นับว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างของชาวมายาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยสำรวจพบ ซึ่งลบล้างความเชื่อเดิมที่ว่าเผ่ามายารุ่งเรืองเมื่อช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล
   
   นั่นยังหมายถึงว่าซากอารยธรรมในบริเวณดังกล่าวมีอายุเก่าแก่กว่าร่องรอยอารยธรรมของชาวโอลเมคในลา เวนตา และสิ่งปลูกสร้างของชาวมายาก็อาจไม่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวโอลเมคด้วยเช่นกัน แต่อาจเป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายต่างรับเอาสถาปัตยกรรมและพิธีกรรมของแต่ละฝ่ายไปปรับปรุง ดัดแปลง และสร้างสรรค์รูปแบบขึ้นมาใหม่ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารไซน์ (Science)
   
   "เรากำลังบอกว่ามีการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในอดีต ไม่น่าจะเป็นการมีอิทธิพลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงทิศทางเดียว" คำอธิบายของอิโนะมาตะ
   
   ทั้งนี้ เคยมีการสำรวจพบศูนย์กลางของอารยธรรมโอลเมคที่ย้อนอายุไปได้ถึง 1,150 ปีก่อนคริสตกาล ในซานลอเลนโซ (San Lorenzo) ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าอารยธรรมของชาวมายาในไซบอล แต่ไม่ได้มีโครงสร้างเป็นสถานประกอบพิธีกรรมที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เหมือนอย่างของชาวมายา และสันนิษฐานว่าในช่วงระหว่าง 850-800 ปีก่อนคริสตกาล ชาวมายาได้ทำการบูรณะซ่อมแซมส่วนที่มีลักษณะคล้ายเวทีให้เป็นพีระมิด โดยปรับโฉมเรื่อยมาจนมียอดพีระมิดสูง 6-8 เมตร ในช่วง 700 ปีก่อนคริสตศักราช
   
   อิโนะมาตะยังบอกอีกว่า วัฒนธรรมยุคเริ่มต้นของชาวมายาเกิดขึ้นก่อนกลุ่มผู้ที่พัฒนาภาษาเขียนและก่อนบันทึกใดๆเกี่ยวกับระบบปฏิทินอันซับซ้อนของมายา จึงมีผู้รู้เกี่ยวกับความเชื่อของชาวมายาน้อยมาก แต่บริเวณลานกว้างและพีระมิดนี้ค่อนข้างแน่ใจได้เลยว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่พบในบริเวณพลาซ่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นขวานหิน ซึ่งดูเหมือนว่าถูกวางไว้ที่นั่นเพื่อเป็นของเซ่นไหว้บูชา
   
   วอลเตอร์ วิทส์ชีย์ (Walter Witschey) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยลองวูด (Longwood University) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมต่อการศึกษานี้ ได้วิเคราะห์และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แผนผังของสิ่งปลูกสร้างของชาวมายาในไซบอลนี้ยังมีลักษณะผสมผสานแบบกลุ่ม อี (group-E assemblage) ซึ่งปรากฏให้เห็นทั่วไปในอารยธรรมของมายา และทำหน้าที่เป็นหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์
   
   หากมองจากตัวอาคารที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก จะมองเห็นเวทีหรือพีระมิดที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ในวันที่กลางวันยาวนานที่สุด (summer solstice) พระอาทิตย์จะเหนือจุดที่อยู่ไกลที่สุดทางทิศเหนือ ในวันวิษุวัต (equinoxes) ของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นวันที่กลางวันเท่ากับกลางคืน พระอาทิตย์จะขึ้นตรงกึ่งกลางพอดี และวันที่กลางวันสั้นที่สุด หรือ เหมายัน (winter solstice) พระอาทิตย์จะขึ้นเหนือจุดที่ไกลที่สุดด้านทิศใต้
   
   อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชาวมายาในพื้นที่ลุ่มต่ำละทิ้งชุมชนแห่งนี้ไปเป็นเวลาถึงครึ่งชีวิต ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้คือการผลิตข้าวโพดซึ่งเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช ที่น่าจะเป็นเหตุปัจจัยให้ชาวมายาละทิ้งหมู่บ้านหรือเมืองในไซบอลไป เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มต่ำ ขาดความอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกไม่ค่อยได้ผล ในขณะที่ชาวโอลเมคซึ่งมีรกรากอยู่ที่ราบชายฝั่งสามารถปลูกข้าวโพดได้ผลดีเพราะมีน้ำและดินที่อุดมสมบูรณ์
   
   ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลาที่ชาวมายาตั้งรกรากอยู่ด้วย แต่สิ่งที่นักวิชาการค่อนข้างแน่ใจแล้วคือ อารยธรรมของชาวมายาไม่ได้เกิดขึ้นจากอารยธรรมที่มีอยู่ก่อนและล่มสลายไปแล้วแน่นอน
   
   "การศึกษาเรื่องนี้ไม่ได้เน้นศึกษาอารยธรรมของชาวมายาโดยเฉพาะเท่านั้น พวกเราต้องการพิจารณาไปถึงว่า สังคมมนุษย์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และพัฒนาไปอย่างไรบ้าง" อิโนะมาตะกล่าว และทิ้งท้ายว่า อารยธรรมใหม่ไม่จำเป็นว่าจะต้องก่อเกิดขึ้นจากเศษฝุ่นของอารยธรรมรุ่นก่อนเสมอไป แต่สามารถเกิดขึ้นได้โดยผ่านการปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของชนเผ่าต่างๆ



นักโบราณคดีทำการสำรวจร่องรอยอารยธรรมของชาวมายาที่พบในกัวเตมาลา หลังถูกฝังอยู่ใต้ดินมานานหลายพันปี (Takeshi Inomata)



แหล่งขุดค้นทางโบราณดี Ceibal ในกัวเตมาลาบอกว่าอารยธรรมของชาวมายานั้นมีมานานกว่า 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช (Takeshi Inomata)





-----------------------------------
ที่มา : นสพ.ผู้จัดการ