ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประดิษฐ เพิ่มคำจำกัดความนโยบาย บูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพฯ  (อ่าน 1780 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


หมอประดิษฐ เพิ่มคำจำกัดความนโยบาย บูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ครอบคลุมถึงอาการเจ็บป่วยเร่งด่วน

                กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มคำจำกัดความใหม่นโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ครอบคลุมถึงอาการเจ็บป่วยเร่งด่วน ที่จะเป็นอันตรายสืบต่อไปด้วย   พร้อมกำหนด 3 มาตรการ ลดข้อกังวลให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ที่รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นทุกคน ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย คือ มาตรการคำขออนุมัติล่วงหน้า มาตรการสำรองเตียงรับส่งต่อ และมาตรการรับประกันเวลาส่งต่อ

                บ่ายวันนี้ (28 พฤษภาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมแก้ไขผลกระทบจากการดำเนินงานตามนโยบายบูรณาการ 3 กองทุน เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา  โดยมี ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ สำนักงานประกันสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สมาคมโรงพยาบาลเอกชนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เหล่าทัพ ราชวิทยาลัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมการแพทย์และกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม

                นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการในเรื่องนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพรัฐ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” เพื่อลดความเลื่อมล้ำด้านระบบประกันสุขภาพของคนไทย ที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาที่มีคุณภาพ โดยดำเนินงานได้ครบ 1 ปี เมื่อ 1 เมษายน 2556  ให้บริการผู้ป่วยทุกสิทธิ 22,836 ราย ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ 8,023 ราย มีผู้ป่วยไปใช้บริการโดยไม่ฉุกเฉินร้อยละ 15 และมีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาจากประชาชนร้อยละ 25  โดยสาเหตุมีหลายปัจจัย เช่น ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องคำจำกัดความของการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในนโยบายเร่งด่วนนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมองว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จ เพราะหากไม่เริ่มเดินหน้านโยบายนี้ จะทำให้คน 8,000 กว่าคนเสียชีวิต ส่วนปัญหาที่ประชาชนถูกเรียกเก็บเงินนั้นจะพยายามหาแนวทางแก้ไขให้ลดลง 

                นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนเรื่องที่ยังเป็นประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติ  4 เรื่อง ได้แก่ คำจำกัดความของ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” มาตรการทางกฎหมายและแนวทางการกำกับการดำเนินงาน  การส่งต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ระบบประสานหาเตียงเคลื่อนย้ายเมื่อพ้นภาวะวิกฤต และการปรับอัตราการเรียกเก็บที่เหมาะสมของโรงพยาบาลเอกชน

 ในเรื่องคำจำกัดความของ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต” ที่ประชาชนและโรงพยาบาลเข้าใจไม่ตรงกัน   โดยผู้ที่ให้คำจำกัดความเป็นแพทย์ ให้คำจำกัดความในมุมมองของแพทย์ ที่ประชุมจึงได้ให้แก้ไขว่าน่าจะกำหนดออกมาเป็นกลุ่มอาการมากกว่า เพื่อให้ประชาชนเข้าใจชัดเจนขึ้น  โดยถ้ามีอาการต่อไปนี้เช่น หมดสติ คลำหัวใจไม่ได้  ซีดเขียว เป็นอาการที่เรียกว่าเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต และให้ยืดหยุ่นการใช้คำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต  ให้รวมถึงอาการเจ็บป่วยเร่งด่วน  ถ้าทิ้งไว้จะเสียชีวิตไว้ด้วย เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง แม้ไม่ถึงแก่ชีวิตขณะนั้น แต่ถ้าทิ้งไว้นาน จะเกิดอัมพาตตลอดไปได้  ที่ประชุมจึงให้ทำคำจำกัดความใหม่ในฉบับที่ 2 ว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต หรือเป็นอันตรายสืบต่อไป”  เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ส่วนในกลุ่มโรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ทุกโรงพยาบาลให้บริการเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนโดยไม่ต้องถามสิทธิ ไม่เก็บเงินมัดจำอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย  ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาข้อกังวลในการรับผู้ป่วย  ที่ประชุมได้เพิ่มมาตรการอีก 3 มาตรการ ดังนี้ 1.กรณีที่พบว่าไม่ใช่การเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ทาง สปสช.ได้มีขบวนการอนุมัติล่วงหน้า  โดยให้โรงพยาบาลทำตามหน้าที่แรกก่อนคือรักษาเบื้องต้น  ขณะเดียวกันให้โทรศัพท์แจ้ง สปสช.เพื่อขอคำอนุมัติล่วงหน้าก่อน เพื่อมั่นใจว่าเบิกจ่ายเงินได้แน่นอน

2.กรณีผู้ป่วยเมื่อพ้นภาวะวิกฤติแล้ว ต้องมีการส่งต่อ ที่ประชุมได้ตกลงให้กรมการแพทย์  เป็นแกนกลางในการประสานการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเมื่อพ้นภาวะวิกฤติในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยมีการสำรองเตียงไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาในเขตกทม.และปริมณฑลมีปัญหามากถึงร้อยละ 70  ส่วนโรงพยาบาลในต่างจังหวัดก็จะมีการสำรองเตียงไว้เช่นกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ประสานงานหลัก นอกจากนี้จะมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลของรัฐ  และ 3.มีมาตรการรับประกันเวลาในการส่งต่อผู้ป่วย เช่น ภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อสร้างความมั่นใจภาคเอกชนว่าจะไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น

ส่วนปัญหาเรื่องอัตราการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่ง สปสช. เป็นผู้กำหนด กำหนดค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น  10,500 บาท บวกค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะมีขึ้นอีก  ทีประชุมขอให้กำหนดอัตราที่เหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งภาคเอกชนยินดีเข้ามาช่วยเหลือโครงการนี้ เพราะเป็นการทำเพื่อสังคม                 สำหรับปัญหาในการเรียกเก็บเงินจากกรมบัญชีกลางและสำนักงานประกันสังคม ยืนยันว่าไม่มีปัญหาในการเบิก   โดยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน  ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ออกกฤษฎีกาเบิกเงินย้อนหลัง แต่ขอคำจำกัดความเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ชัดเจน ส่วนสำนักงานประกันสังคมอยู่ในการเร่งเบิกจ่าย









------------------------------------
http://www.moph.go.th/