ผู้เขียน หัวข้อ: รักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือทารก  (อ่าน 1518 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


 ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดในสายสะดือทารกมีอยู่มากมาย จนอาจทำให้คู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตรเกิดความสับสนถึงประโยชน์และข้อจำกัดของเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อให้เกิดความกระจ่าง วันนี้เรามีความรู้มาฝากครับ


การเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดให้งอกเป็นอวัยวะต่างๆ เช่นกระจกตา

       เซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) เป็นเซลล์ตัวอ่อนที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง (นำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย) เซลล์เม็ดเลือดขาว (ต่อสู้กับเชื้อโรค) และเซลล์เกร็ดเลือด (เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว) ซึ่งสามารถนำไปใช้ปลูกถ่ายรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น ปลูกถ่ายแทนไขกระดูกในบางโรค อย่างผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด หลังจากรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพื่อทำลายไขกระดูกที่เป็นแหล่งกำเนิดของเซลล์มะเร็งแล้ว จำเป็นต้องหาไขกระดูกใหม่จากผู้บริจาคมาทดแทน ซึ่งโอกาสที่ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านนั้นมีสูง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงชีวิต
       
       ดังนั้นแพทย์จึงใช้การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกระหว่างเครือญาติแทน แม้โอกาสเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อไขกระดูกจะมีประมาณร้อยละ 25 แต่ก็ยังถือว่าน้อยอยู่ เหตุนี้วงการแพทย์จึงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อทดแทนการใช้ไขกระดูกซึ่งอุดมด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเช่นกัน โดยเก็บจาก “สายสะดือทารกเมื่อแรกคลอด” แล้วไว้ที่ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดสาธารณะหรือธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเอกชน ซึ่งทุกขั้นตอนจะกระทำโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น


การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือเมื่อแรกคลอด

       สำหรับกระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดนั้น จะทำทันทีหลังจากทารกคลอด โดยแพทย์หรือพยาบาลจะเจาะเก็บเลือดจากสายสะดือด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ จากนั้นนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกเซลล์ต้นกำเนิด ขั้นตอนการเก็บเลือดนี้ไม่ควรเกิน 10 นาที และไม่เสี่ยงหรือก่อความเจ็บปวดต่อมารดาและทารก เซลล์ต้นกำเนิดที่คัดแยกได้จะถูกแช่แข็งในถังไนโตรเจนเหลว -196 องศาเซลเซียส และนำมาตรวจสอบเป็นระยะ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเซลล์ดังกล่าวยังมีชีวิตและสามารถแบ่งตัวใช้สำหรับการปลูกถ่ายได้


พัฒนาการของเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด

       การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดดีอย่างไร
       
       คำตอบคือ หาได้ง่าย ลดการปนเปื้อน มีการต่อต้านน้อยกว่าการปลูกถ่ายด้วยไขกระดูก ทำให้โอกาสเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อมีสูงกว่าผู้บริจาคทั่วไป โดยเฉพาะการปลูกถ่ายให้ญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต รวมทั้งยังสามารถกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บรักษามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จนนำไปใช้ปลูกถ่ายแทนไขกระดูกเพื่อการรักษาโรคทางโลหิตวิทยา เช่น โรคธาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม เป็นต้น ประโยชน์นี้จะเด่นชัดขึ้นเมื่อสมาชิกในครอบครัวที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือผู้อพยพเกิดล้มป่วยด้วยโรคที่ต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก การหาไขกระดูกที่มีลักษณะเนื้อเยื่อเข้ากันได้จากผู้บริจาคในประเทศอาจเป็นไปได้ยากลำบาก ฉะนั้นหากมีเซลล์ต้นกำเนิดของคนในครอบครัวเก็บรักษาไว้ ย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสสำเร็จของการปลูกถ่ายไขกระดูกส่วนการประยุกต์ใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคสมองพิการ เบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยครับ
       ----------------------------------------
       
       กิจกรรมดีๆ จากศิริราช
       
       ***คนรักสุขภาพไม่ควรพลาด 5 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป โรงพยาบาลศิริราช เปิดให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีทุกวันอาทิตย์แก่ประชาชนทั่วไป เวลา 07.00 - 15.00 น. ณ ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 4 ห้อง 400 สอบถามและนัดหมาย โทร. 0 2419 7390, 0 2419 8340 ในวันเวลาราชการ และ 0 2419 7380 -1 เฉพาะวันอาทิตย์ (ข้าราชการเบิกได้ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง)
       
       *** คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ - รามาฯ - ศิริราช จัดประชุมวิชาการร่วมเฉลิมพระเกียรติ “ 84 พรรษา องค์ราชัน สามสถาบันเทิดไท้ วิชาการแพทย์ก้าวไกล สุขภาพประชาไทยยั่งยืน” ? ภาควิชาการ วันที่ 15 - 18 มิ.ย. 2554 สมัครผ่าน www.jcms2011.com ? ภาคประชาชน วันที่ 18 มิ.ย. บริการตรวจสุขภาพ ฟรี ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 7680 - 1, 0 2419 4757